ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์ดำรงธรรมเชียงรายนัดไกล่เกลี่ยกรณีชาวนาร้องถูกไร่เชิญตะวันเบี้ยวจ่ายค่าข้าวกว่า 3.7 ล้านบาท โดยได้ข้อสรุปว่าให้วิสาหกิจไร่เชิญตะวันจ่ายค่าข้าวโดยแบ่งเป็นงวด ด้านตัวแทนจากไร่เชิญตะวันบอกไม่เกี่ยว เพราะช่วยซื้อข้าวจากชาวนาเพียง 3 ปีแรกของการทำโครงการเท่านั้น

ที่ห้องเวียงกาหลง ศาลากลาง จ.เชียงราย นายลิขิต มีเสรี ผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดให้มีการประชุมไกล่เกลี่ยระหว่างกลุ่มชาวบ้านจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์บ้านป่าเปา หมู่ 4 ต.เจริญเมือง อ.พาน จ.เชียงราย นำโดยนายจันทร์ติ๊บ คำอ้าย ประธานกลุ่ม และ น.ส.เกษลักษณ์ หาราชัย ประธานวิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวัน โดยมีพระภิกษุและว่าที่ร้อยโททัศน์ไชย ไชยทน เลขาธิการมูลนิธิวิมุตตยาลัย ไปร่วมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชาวนา 

หลังจากก่อนหน้านี้ชาวนากลุ่มเดียวกันนี้เคยไปร้องเรียนต่อหลายหน่วยงานว่าได้รวมตัวจำนวน 69 ราย เข้ารับการส่งเสริมให้ปลูกข้าวอินทรีย์จากโรงเรียนชาวนาโดย น.ส.เกษลักษณ์ ให้การสนับสนุนและมีการรับซื้อข้าวจากชาวนาซึ่งปีที่ 1-3 ไม่มีปัญหาแต่งวดที่ 4 งวด วันที่ 21 ธ.ค. 2560 ชาวบ้านระบุว่าคงค้างยังไม่ได้จ่ายรวมกัน 3,728,555 บาท ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักติดต่อกันมาเกือบ 1 ปี

ล่าสุดยังไปร้องต่อการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.เชียงราย มาแล้วด้วย


การหารือครั้งนี้ ทางพระภิกษุจากไร่เชิญตะวัน และร้อยโททัศน์ไชย ได้ชี้แจงโดยมีเนื้อหาว่า วิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวันเคยไปช่วยซื้อข้าวจากชาวนาเพียง 3 ปี เท่านั้นแต่เมื่อพ้นจากนั้นถือว่าจบโครงการโดยไม่มีปัญหาใดๆ แต่ น.ส.เกษลักษณ์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ประสานโครงการได้ไปก่อตั้งบริษัทเองและอบรมชาวนาให้ทำข้าวอินทรีย์กันเอง

กระทั่งปี 2560 ได้ซื้อข้าวจากชาวนาโดยยังคงใช้ชื่อวิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวันอยู่ ดังนั้น ไร่เชิญตะวันจึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลยกระทั่งเรื่องบานปลาย เพราะไม่สื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจ 

ว่าที่ร้อยโททัศน์ไชย กล่าวว่าไร่เชิญตะวันโดยความเมตตาของพระอาจารย์วุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มและอบรมโรงเรียนชาวนา มีภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุน เมื่อดำเนินการในช่วง 3 ปีแรกจนประสบความสำเร็จจึงยุติโครงการเพราะต้องการให้ชาวบ้านออกไปจัดตั้งกลุ่มกันเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง โดยพระอาจารย์แนะนำให้ไปยกเลิกวิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวันเสียแต่ปรากฎว่าปีต่อมาไม่มีการยกเลิกแต่มีการปรับโครงสร้างกรรมการภายในเท่านั้น รวมทั้งเมื่อไปทำข้อตกลงกับชาวบ้านก็กลับยังใช้หัวหนังสือของวิสาหกิจชุมชนเดิมอยู่จนมาเกิดปัญหาในครั้งนี้

กระนั้นแม้ไม่เกี่ยวข้องพระอาจารย์ก็เมตตาช่วยเหลือและแนะนำมาโดยตลอดในฐานะครูอาจารย์กระทั่งเรื่องราวยืดเยื้อมาถึงศูนย์ดำรงค์ธรรมดังกล่าว สำหรับในครั้งนี้ก็ยังคงแจ้งให้ไปจดแจ้งชื่อวิสาหกิจชุมชนไร่เชิญตะวันเช่นเดิมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่าหลังการเจรจาไกล่เกลี่ยพักใหญ่ชาวนาก็ได้รับทราบจาก น.ส.เกษลักษณ์ ว่าสาเหตุที่ค้างชำระเพราะมีปัญหาทางการเงินและราคาข้าวในตลาดตกต่ำ ไม่ได้รับใบรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ

ทั้งนี้ น.ส.เกษลักษณ์ ยืนยันว่าตั้งใจจริงที่อยากให้เกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้นและต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแข็งขันมาโดยตลอดจนบางครั้งประสบภาวะขาดทุนไปกว่า 20 ล้านบาท เพราะมีการจ่ายค่าต้นทุนและซื้อข้าวราคาแพงกว่าตลาดถึงร้อยละ 50  


หลังการประชุมไกล่เกลี่ยนายจันทร์ติ๊บ กล่าวว่าหลังการเจรจาได้มีการทำข้อตกลงกันว่าในเวลา 13.15 น.วันเดียวกันนี้ จะมีการทำข้อตกลงเพื่อจ่ายเงินให้กับชาวนา งวดแรกวันที่ 1 ธ.ค. 2561 จำนวน 1 ล้านบาท, งวดที่ 2 วันที่ 1 ม.ค. 2562 จำนวน 1 ล้านบาท, งวดที่ 3 วันที่ 1 ก.พ.2562 จำนวน 1 ล้านบาท, และที่เหลืออีกประมาณ 200,000 บาทก็จะจ่ายเสร็จภายในเดือนสุดท้ายดังกล่าว (ก.พ. 2562) พร้อมดอกเบี้ยที่มีส่วนลดให้ด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ชาวนาก็ถือว่าพอใจเพราะรอมานานกว่า 1 ปีแล้ว และครั้งนี้หากว่าไม่เป็นไปตามที่ไกล่เกลี่ยกันไว้ก็ต้องมีการฟ้องร้องกันแต่ใจจริงแล้วชาวบ้านไม่อยากให้ถึงจุดนั้นอยากให้จบลงด้วยดี


ภาพจาก : เฟซบุ๊กชุมชนพุทธเกษตรป่าเปา