ไม่พบผลการค้นหา
ภายในปี 2593 ทั่วโลกจะใช้แอร์ถึง 14,000 ล้านเครื่อง ทำให้ต้องการพลังงานเพิ่ม 5 เท่า IEA แนะ รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศ ลดรายจ่าย ปชช.เพิ่มโอกาสแก้ปัญหาสภาพอากาศ

รายงานชิ้นล่าสุดจาก Climate Central องค์กรวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศที่รวบรวมข้อมูลจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) พบว่า ระดับอุณหภูมิของโลกตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา สูงถึง 1.36 องศาเซลเซียส จากระดับพื้นฐาน (base line) ระหว่างปี 2424-2453 นับเป็นตัวเลขสะท้อนความร้อนของโลกเป็นอันดับที่สองรองเพียงปี 2559 เท่านั้น

นอกจากนี้ นักวิจัยยังคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ถึงร้อยละ 90 ที่อุณหภูมิโลกทั้งปีนี้จะขึ้นไปติดสามอันดับปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์

https://ccimgs-2020.s3.amazonaws.com/2020GlobalTempCheckup/2020GlobalTempCheckup_HorseRace_en_title_lg.jpg

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ระดับอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น เพราะระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่แม้จะปรับลดลงไปบ้างในช่วงมาตรการล็อกดาวน์เพื่อต่อสู้กับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่ก็กลับมามีระดับสูงเป็นปกติอีกครั้งเมื่อรัฐบาลหลายประเทศเริ่มคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด


โลกร้อน เปิดแอร์ อากาศแย่กว่าเดิม
แอร์-เครื่องปรับอากาศ-unsplash

ในรายงานฉบับล่าสุดจากองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ภายใต้ชื่อ ‘Cooling Emissions and Policy Synthesis’ (ก๊าซที่ถูกปล่อยจากกระบวนการทำความเย็นและการสังเคราะห์นโยบาย) ชี้ว่า ภายในปี 2593 ตัวเลขการใช้งานเครื่องปรับอากาศจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 4 เท่า จาก 3,600 ล้านเครื่อง เป็น 14,000 ล้านเครื่อง ส่งผลให้ระดับการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นถึงอีก 5 เท่าจากปัจจุบัน 

ฟาทิห์ ไบโรล ผู้บริหารสูงสุดของ IEA ชี้ว่า หากรัฐบาลสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศให้ทำงานได้ดีกว่านี้ จะสามารถช่วยลดความต้องการใช้กระแสไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคต้องรับภาระ

การประเมินพบว่า หากเปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 460,000 ล้านเมตริกตัน หรือคิดเป็นตัวเลขการปล่อยก๊าซ GHG ถึง 8 ปี เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซในของปี 2561

นอกจากนี้การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศขึ้นสองเท่า จะช่วยประหยัดเงินได้สูงถึง 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 92 ล้านล้านบาท ภายในปี 2593 ซึ่งเมื่อคำนวณเม็ดเงินที่ประหยัดไปนั้น IEA ชี้ว่า การลงทุนราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 31 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลาสามปีข้างหน้า จะช่วยกระตุ้นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ได้สูงถึงร้อยละ 3.5 หรือคิดเป็นการจ้างงานหลายล้านตำแหน่ง 

ฟาทิห์ ชี้ว่า ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ รัฐบาลหลายประเทศล้วนออกมาตรการมูลค่ามหาศาลขึ้นมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นคืนจากกระชักงักตัวไปแต่ และนี่นับเป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลเหล่านั้นจะหันมาพัฒนาระบบทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนี้ แนวนโยบายดังกล่าวก็ยังเป็นการช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือผู้ที่มีตัวเลือกในการซื้อเครื่องปรับอากาศคุณภาพดีจำกัดจากประเด็นกำลังซื้อให้สามารถมีชีวิตอยู่ในสภาพอากาศที่ดีขึ้น

คำแนะนำจากรายงานชี้ว่า หนึ่งในแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซ GHG จากเครื่องปรับอากาศคือการลดการใช้สารทำความเย็นเป็นประเภท ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีอะตอมฟลูออรีนและไฮโดรเจนเป็นหลักที่ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงลง นอกจากนี้ก็ยังแนะนำให้มีการกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศ และการออกแนวทางสนับสนุนการสร้างเครื่องปรับอากาศที่พึ่งพิงสารทำความเย็นลง 

อ้างอิง; CNBC, BBC, LA Times, WP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;