ไม่พบผลการค้นหา
‘หนี้’ มรดกความล้มเหลวในการบริหารประเทศที่ คสช. ทิ้งไว้ เป็นอีกโจทย์สำคัญของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียง และรัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

เปลี่ยนแปลงหน้าปฏิทินปีใหม่ กับการเลือกตั้งที่ใกล้เข้ามาทุกที พรรคการเมืองต่างเริ่มงัดนโยบายของตัวเองออกสู้กัน หวังดึงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์ ทั้งนโยบายการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ ไปจนถึงประกาศว่าจะล้มผลพ่วงจากสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้สร้างขึ้น สิ่งที่ขับเคี่ยวกันมากที่สุด คงเป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ดูจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนสุดที่ต้องแก้ไข เพราะสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทิ้งไว้ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่สร้างไว้รอให้รัฐบาลชุดต่อไปมารับช่วงแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องมองที่ข้ามไม่ได้คือเรื่องของ ‘หนี้’ ที่ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นตลอดการบริหารของรัฐชุดนี้

หนี้ที่ควรรู้จักมี 3 ประเภทหลักๆที่เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ คือ 1.หนี้สาธารณะ หรือ ‘หนี้รัฐบาล’ เป็นหนี้ที่เกิดจากรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐบาลที่กู้ยืมมาจากทั้งในและนอกประเทศ  ซึ่งการเกิดขึ้นของหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ของรัฐบาลทั่วโลกมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐแบบขาดดุล 2.หนี้สินครัวเรือน คือหนี้ที่เกิดจากการที่บุคคลธรรมดากู้ยืมกับสถาบันทางการเงิน ที่เป็นหนี้ที่เกิดในระดับล่างในระดับพื้นฐานที่สุดของระบบเศรษฐกิจ และ 3.หนี้ต่างประเทศภาคเอกชน คือหนี้ที่นิติบุคคลหรือเหล่าธุรกิจต่างๆ กู้ยืมจากสถาบันทางการเงินในต่างประเทศ ซึ่งหนี้ที่จะพูดถึงในรัฐบาลชุดหนี้คือ ‘หนี้สาธารณะ’ และ ‘หนี้สินครัวเรือน’

นับตั้งแต่การเข้ามาบริหารประเทศของ ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ หรือ คสช. ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะคงเหลือเพิ่มขึ้น จาก 5,687,007.62 ล้านล้านบาท ในเดือน มิ.ย. 2557 มาเป็น 6,762,750.43 ล้านล้านบาท เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา (ผู้เขียนเข้าถึงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 31 ธ.ค. 2561) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด ท่ามกลางกระแสวิจารณ์รัฐบาลที่ทำเงินคงคลังลดน้อยอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาท โดยมีการชี้แจงว่าได้นำเงินที่ใช้จากการกู้หนี้ยืมสินนั้นนำไปใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และยังอยู่ที่ 41.72% เมื่อนำมาเทียบกับจีดีพี

แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับกรอบที่วางไว้ที่ไม่ให้เกิน 60% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งกรอบหลักเกณฑ์นี้กำหนดขึ้นโดยคำนวณจากหลายปัจจัย เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ความสามารถด้านการส่งออก ความมั่นคงของค่าเงิน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ความมั่นคงและธรรมภิบาลของรัฐบาล ทำให้การไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายประเทศที่มีเศรษฐกิจที่มั่นคงจะมีหนี้สาธารณะที่สูงมากๆได้ เพราะมีศักยภาพในการจ่ายหนี้นั้นเอง อย่าเช่นญี่ปุ่นมี หนี้สาธารณะที่สูงมากกว่า 200% เมื่อเทียบกับจีดีพีเลยทีเดียว

แต่ในกรณีของไทยหลายคนยังมองว่าการเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็วของหนี้สาธารณะ ยังเป็นความเสี่ยงที่สูงสำหรับไทยอยู่ เพราะมองว่าศักยภาพจริงของไทยนั้นไม่ควรจะเกินร้อยละ 50% เมือเทียบกับจีดีพี และการเข้ามาบริหารงานเพียงชั่วคราวของ คสช. นั้นจะสร้างหนี้ไปยังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดต่อไป

ด้าน ‘หนี้สินครัวเรือน’ ตัวเลขนี้ที่อาจจะไม่เป็นที่สนใจของต่างประเทศ แต่เป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ หากหนี้สินครัวเรือนอยู่ในอัตราที่สูงจะส่งผลถึง การชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว ยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาปากท้องของคนในชาติ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงยอดหนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2561 ขยับขึ้นมาที่ 12.34 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 5.7% คาดว่าไตรมาสสุดท้ายของปีตัวเลขจะอยู่ที่ 77-78% ต่อจีดีพี  ซึ่งตรงกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจหนี้ครัวเรือนไทยปี 2561 พบหนี้เฉลี่ยสูงขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับปี 2560

ยังไม่นับรวม ‘หนี้นอกระบอบ’ ที่มีการกู้ยืมกันทั่วไปในระดับรากหญ้า เป็นปัญหามาของไทยมาอย่างยาวนาน ที่กลายเป็นวาระใหญ่ที่ คสช.ประกาศจะแก้ไขเป็นการเร่งด่วน โดยเสนอตัวเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ และเพิ่มเครื่องมือทางการเงินให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งที่สวนทางคือจำนวนหนี้นอกระบบที่กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าปีที่ผ่านมาหนี้นอกระบบของไทยสูงขึ้น มีการกู้นอกระบบเพิ่มขึ้น 18.7% สาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจระบบฐานล่างซบเซา แม้ว่าจะตัวเลขต่างๆ บอกว่าเศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ดูจากหนี้นอกระบบแล้วอาจจะเป็นตัวเพียงเศรษฐกิจระดับบนที่ดูดีขึ้น

เรื่องหนี้จึงการเป็นอีกโจทย์สำคัญของพรรคการเมืองที่กำลังหาเสียง และรัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ เพราะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลชุดนี้ได้ทิ้งไว้ให้

Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog