ไม่พบผลการค้นหา
พรรคราซอมเบลอมอง นาเซียนนัล หรือ RN พรรคการเมืองหลักฝ่ายขวาของฝรั่งเศส ได้ตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่อย่าง จอร์แดน บาร์เดลลา วัย 27 ปี แทนที่ มารีน เลอ แปน อดีตหัวหน้าพรรค RN คนเดิมที่นโยบายขวาจัด และคว้าที่นั่งในรัฐสภาฝรั่งเศสจำนวนมาก

ทั้งนี้ เลอ แปน จะมุ่งความสนใจของตนไปที่การเป็นผู้นำกลุ่มของพรรคในรัฐสภาแทน หลังจากได้ที่นั่งในรัฐสภา 89 ที่นั่งเมื่อต้นปีนี้ อย่างไรก็ดี การตั้งบาร์เดลลาเป็นหัวหน้าพรรค RN นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 50 ปี ที่พรรคหลักฝ่ายขวาจัดไม่ได้นำโดยตระกูล เลอ แปง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแนวทางของพรรคแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เลอ แปน ยังคงเป็นขั้วอำนาจในพรรคที่แท้จริง และเธอยังคงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2570 โดย เลอ แปน ระบุกับสมาชิกพรรคเมื่อวันเสาร์ (5 พ.ย.) ว่า เธอจะไม่ได้หายตัวไปจากการเมืองฝรั่งเศสแต่อย่างใด “ดิฉันไม่ได้ออกจาก RN เพื่อไปเที่ยวพักผ่อน (แต่) ดิฉันจะไปในที่ที่ประเทศต้องการดิฉัน” เลอ แปน กล่าวในการประชุมของพรรค

ในการกล่าวปราศรัยของบาร์เดลลา เขากล่าวว่าตนพยายามที่จะผนึกรวมบรรดาผู้ที่ต้องการนำฝรั่งเศสกลับสู่เส้นทางที่ถูกต้อง “กับเรา ชาวฝรั่งเศสมักจะให้ความสำคัญเรื่องในบ้านเสมอ และเราไม่ได้ตั้งใจที่จะละทิ้งการบริการประชาชนของเราก่อน” บาร์เดลลากล่าว “ในที่สุด เราจะเป็นเพื่อนและเป็นหนทางสู่การฟื้นฟูที่ประเทศต้องการ เพื่อปัดเป่าตลอด 40 ปีของความผิดพลาด การปล่อยปละละเลย การยอมจำนน และความขี้ขลาด”

บาร์เดลลาเติบโตมาในครอบครัวเชื้อสายอิตาลีที่ยากจนในเขตชานเมืองกรุงปารีส เขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มขวาจัดเมื่อตอนเป็นวัยรุ่น และผลักตัวเองขึ้นอย่างรวดเร็วสู่จุดสูงสุดของพรรค บาร์เดลลากลายมาเป็นรักษาการประธานพรรคเมื่อปีที่แล้ว เขายังช่วยดำเนินการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งยุโรป จนนำมาสู่ความสำเร็จของพรรค RN ในปี 2562 นับตั้งแต่นั้นมา บาร์เดลลาสร้างความประทับใจ ไม่เว้นแม้แต่ศัตรูทางการเมืองของตน ด้วยความโดดเด่นของเขาบนเวทีการโต้วาที

บาร์เดลลาถูกมองว่าเขามีความภักดีต่อ เลอ แปน โดยเขาเคยระบุกับสำนักข่าว AFP เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เขาเป็น “ผู้สมัครที่มีความต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างมรดกอันน่าทึ่งที่มารีนกำลังมอบให้” การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำระดับสูงของพรรคของบาร์เดลลานี้ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของพรรค RN ในการทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคดูอ่อนโยนลง และช่วยดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นคนรุ่นใหม่ให้หันมาลงคะแนนเสียงให้ตน

เช่นเดียวกันกับ เลอ แปน บาร์เดลลาพยายามวาดภาพลักษณ์ตัวเองว่า ตนเป็นพวกชาตินิยมรูปแบบใหม่ ซึ่งแทบไม่มีความเหมือนกันกับกลุ่มเหยียดเชื้อชาติ และการต่อต้านชาวยิว อย่างพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) เดิม ก่อนการเกิดขึ้นของพรรค RN อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์กล่าวว่าความรู้สึกเหยียดเชื้อชาติเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในพรรค RN

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง หลังสมาชิกรัฐสภาจากพรรค RN ถูกสั่งพักงานไม่ให้เข้าการประชุมรัฐสภาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากเขาขึ้นอภิปรายเนื้อหาการเหยียดผิว ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาผิวดำกำลังพูดอยู่ โดยสมาชิกรัฐสภารายดังกล่าวตะโกนกลางรัฐสภาว่า “กลับประเทศตัวเองไปซะ”

เลอ แปน ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเมื่อปีที่แล้ว โดยเธอขึ้นหัวหน้าพรรคตั้งแต่เธอรับตำแหน่งต่อจากฌอง-มารี เลอ แปน ผู้เป็นพ่อของเธอในปี 2554 โดยการตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค RN ของเธอ เป็นไปเพื่อเพื่อมุ่งความสนใจไปที่การเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี อย่างไรก็ดี เลอ แปน แพ้การเลือกตั้งในเดือน เม.ย. ให้แก่ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน

แม้จะพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ เลอ แปน ยังคงเป็นผู้นำในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของพรรคใน 2 เดือนต่อมา ก่อนที่พรรค RN จะได้ที่นั่ง 89 ที่นั่งในรัฐสภา เป็นที่นั่งที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว นับเป็นคะแนนเสียงที่ดีที่สุดเท่าที่พรรคเคยทำได้ ความสำเร็จของฝ่ายขวาจัดและฝ่ายซ้ายในการเลือกตั้งครั้งนั้น ทำให้พรรคของประธานาธิบดีมาครงสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภาไปด้วย


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-63525377?fbclid=IwAR0pO6jP7gxdMQSgJjVOxrs4WJNuIf1Xlze0-9EC6mz3Dog6LzHxtkgX9mE