นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. แถลงข่าวผลการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ในงาน "2 ทศวรรษ ป.ป.ช.ก้าวสู่องค์กรดิจิทัล" วาระครบรอบ 20 ปี จัดขึ้นที่สำนักงาน ป.ป.ช.สนามบินน้ำ ระบุว่า ป.ป.ช.เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ปี 2542 โดยสาเหตุสำคัญในการทุจริตของสังคมไทย คือ ระบอบอุปถัมภ์, ความเพิกเฉย เบื่อหน่ายและชาชินของประชาชนต่อการทุจริต, กระบวนการยุติธรรมไม่เข้มแข็ง บังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด ล่าช้าและเลือกปฏิบัติ รวมทั้ง การแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลและนักการเมือง
ยุคที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญปี 2550 มีการปรับปรุงการทำงานของ ป.ป.ช.ให้ตัดสินคดีทุจริตของผู้บริหารระดับสูง และให้นักการเมือง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ลักษณะการทุจริตช่วงนี้เป็นการทุจริตเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่ ป.ป.ช.ใช้ระบบไต่สวนโดยกรรมการทั้งคณะหรือตั้งอนุกรรมการ ซึ่งมีกรรมการ ป.ป.ช. หนึ่งคนไปทำหน้าที่ประธานอนุฯ สำหรับการดำเนินงานช่วงนี้มีคดีสำคัญที่สำเร็จ คือคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
ส่วนยุคที่ 3 รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ ป.ป.ช.มีมาตรการทำงานให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยอาจมอบหมายคดีที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงให้หน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องดำเนินการแทน และกำหนดระยะเวลาการทำงานให้ ป.ป.ช.ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ขยายระยะเวลาได้ 1 ปีรวมไม่เกิน 3 ปี ยกเว้นความผิดที่ต้องเดินทางไปไต่สวนหรือขอความร่วมมือในต่างประเทศ โดยมี พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.ปี 2561 บังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2561 และ ป.ป.ช.มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ สปท.ซึ่งมีกองทุนเพื่อสนับสนุนการทำงานด้วย สำหรับรูปแบบการทุจริตช่วงนี้ เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ ทั้งการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
โดยจากการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2562 พบเรื่องกล่าวหาคงค้าง 14,717 เรื่องสูงกว่าปีก่อนๆ แต่ที่ดำเนินการเสร็จสิ้น 4,762 เรื่อง สูงกว่าปี 2560-2561 ปีละกว่า 1,000 เรื่องงานช่วงนี้มีคดีสำคัญทั้ง คดีเงินทอนวัด, โครงการก่อสร้างโรงพักและสนามฟุตซอล, การจัดซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์, คดีบ้านเอื้ออาทร, การทุจริตเงินบริจาคผู้ปกครองโรงเรียนสามเสน
เลขาธิการ ป.ป.ช.ให้คำมั่นว่า ปี 2563 จะดำเนินการไต่สวนคดีต่างๆให้แล้วเสร็จที่สำคัญคือ คดีการทุจริตในการแก้ปัญหาอุทกภัยปี 2556, คดีการปราศรัยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติปี 2557, คดีการอนุญาตเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ หรือ คดีเหมืองทองอัครา ที่จังหวัดพิจิตร, คดีทุจริตการทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ล็อตที่ 2, คดีทุจริตเงินทอนวัด, คดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT 200 และอัลฟ่า 6, คดีทุจริตในโครงการจัดหาที่ดินเพื่อปลูกและผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซีย, คดีทุจริตซื้อขายเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing B777 ของการบินไทย หรือ "คดีสินบนโรลส์-รอยซ์" และคดีการออกโฉนดที่ดินป่าสงวนอีกหลายแห่ง
นายวรวิทย์ ระบุด้วยว่า งานสำคัญที่เป็นเรื่องท้าทายการทำงานของ ป.ป.ช.คือ เร่งรัดคดีค้างเก่าและใหม่ให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด, การพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพเป็นมืออาชีพ, การป้องกันการทุจริตเชิงรุกอย่างเป็นรูปธรรม, การเป็นศูนย์กลางข้อมูลงานปราบปรามการทุจริต, การผลักดันให้หน่วยงานของรัฐทั่วประเทศเป็นองค์กรที่มีคุณธรรมความโปร่งใสมากกว่าร้อยละ 80 ในปี 2565 ตามกรอบยุทธศาสตร์ และให้ ป.ป.ช.เป็นองค์กรดิจิทัลด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล จึงขอให้ประชาชนมั่นใจการทำงานว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายและจะดำเนินการอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ตามความมุ่งหวังของประชาชน
โดยนายวรวิทย์ ยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับคดีเหมืองทองอัครา เฉพาะในประเด็นเปลี่ยนแผนผังว่าคืบหน้ามากกว่า ร้อยละ 80 คาดว่าจะเสร็จเร็วๆ นี้ และคดีทุจริตอื่นๆ เกี่ยวกับเหมืองทองอัครา จะรวบรวมเป็นสำนวนเดียว มีความยากในการประสานเอกสารทางการจากต่างประเทศ คือประเทศออสเตรเลีย รวมถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงิน แต่เรื่องไหนที่ไต่สวนได้ความคืบหน้าก่อนก็จะทยอยสรุปเป็นประเด็นไป
ส่วน "คดีสินบนโรลส์-รอย" ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่รัฐ 10 ราย รอการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่าคดีนี้จะเสร็จสิ้นภายในปีนี้อย่างแน่นอน แต่ไม่มีนักการเมืองถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ด้วย เพราะพยานหลักฐานยังไปไม่ถึง และไม่สามารถบอกรายละเอียดเบื้องลึกได้ แต่ขณะนี้รอเอกสารทางการจากต่างประเทศเพิ่มเติมอยู่
ขณะที่คดี "ทุจริตปาล์มอินโดฯ" คืบหน้าร้อยละ 50 และยังรอเอกสารทางการจากประเทศอินโดนีเซียที่จะต้องนำมาเป็นหลักฐานสำคัญในการพิจารณาอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง