ไม่พบผลการค้นหา
'เจโทร' เผยจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปี 2562 เติบโตร้อยละ 21 ในกรุงเทพฯ มีมากเกือบ 2,000 ร้าน ต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 1,644 ร้าน เหตุมีร้านอาหารแบบเครือเปิดเพิ่มขึ้นขึ้น ตามห้างฯ เปิดใหม่ รวมถึงคนไทยรู้จักอาหารญี่ปุ่นมากขึ้นเนื่องจากมีประสบการณ์ท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

‘อัทสึชิ ทาเคทานิ’ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ เปิดเผยข้อมูลการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยปี 2562 ซึ่งทำการสำรวจในช่วง 1 มิ.ย.-20 ส.ค. ที่ผ่านมา และพบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 หลังจากเติบโตติดลบในช่วงปี 2560 และ 2561

โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าว แบ่งเป็นร้านอาหารในกรุงเทพที่เพิ่มจาก 1,718 ร้านในปี 2561 เป็น 1,993 ร้าน ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดที่เพิ่มจาก 1,286 ร้าน ในปี 2561 เป็น 1,644 ร้าน ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8

อัทสึชิ กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตดังกล่าว มาจากการขยายตัวของร้านอาหารญี่ปุ่นแบบเครือ (chain restaurant) อีกทั้ง ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีการเปิดตัวห้างสรรพสินค้าใหม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านอุปสงค์อาหารญี่ปุ่น อัทสึชิ บอกว่า มาจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นยกเว้นวีซ่าการเข้าประเทศระยะสั้นให้กับนักท่องเที่ยวไทยตั้งแต่ปี 2556 ทำให้คนไทยรู้จักอาหารญี่ปุ่นมากขึ้น

ในการสำรวจครั้งนี้พบว่า กรุงเทพฯ ยังคงเป็นแชมป์เก่าที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นมาตั้งมากที่สุดถึง 1,993 ร้าน ขณะที่ชลบุรีตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยจำนวน 241 ร้าน เนื่องจากมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยอยู่เยอะเป็นอันดับที่ 2 รองจากกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ จำนวนชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีราว 70,000 คน โดยมีเพียง 2 จังหวัดในประเทศไทยเท่านั้นที่ไม่มีร้านอาหารญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู และจังหวัดยโสธร

จากตัวเลขอาจจะดูเหมือนว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับประเทศจีนที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุดในโลกราว 40,000 ร้าน และสหรัฐฯ ที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นถึง 20,000 ร้าน ขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวันมีร้านอาหารญี่ปุ่นราว 10,000 ร้าน ประเทศไทยก็อาจจะไม่เรียกว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นมากนัก

จำนวนร้านอาหารเพิ่มเป็นบวก แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยติดลบ

แม้ตัวเลขร้านอาหารญี่ปุ่นจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่นกลับไม่ดี อัทสึชิ ชี้ว่า เมื่อดูจากดัชนีดีไอ หรือ Diffusion Index (ดัชนีการกระจาย ซึ่งวันแนวโน้มทิศทางธุรกิจ) ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นทำไว้เพื่อประเมินเศรษฐกิจของประเทศไทย พบว่าในช่วงครึ่งปีแรกมีตัวเลขติดลบ อันเป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้การส่งออกของไทยติดลบ และส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนมองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเห็นรัฐบาลออกหลายมาตรการมาแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยเช่นเดียวกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :