ไม่พบผลการค้นหา
ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2566 นี้ ‘วอยซ์’ ขอนำเสนอซีรีส์บทสัมภาษณ์ “ผู้สมัคร Young Blood” ชวนรู้จักผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่-เลือดใหม่ จากแต่ละพรรคการเมือง พวกเขาเป็นใครก่อนตัดสินใจเดินหน้าทำงานการเมือง ในฐานะคนรุ่นใหม่ คิดอ่านอย่างไรต่อการเมืองไทยในตอนนี้และในอนาคต รวมถึงเหตุผลในการเลือกพรรคการเมืองต้นสังกัดว่าทำไมพรรคนี้จึง ‘ใช่’ สำหรับพวกเขา

'วอยซ์' เดินทางสู่ศูนย์ประสานงานพรรคไทยสร้างไทย ซอยสาธุประดิษฐ์ 43 พูดคุยกับ นรุตม์ชัย บุนนาค หรือ ป๋อม วัย 32 ปี ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขต 3 พรรคไทยสร้างไทย ดีกรีปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และปริญญาโท นิติศาสตร์มหาบัณฑิต อีก 2 ใบ สาขากฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา 

เขาเล่าให้ฟังว่า หลังเรียนจบ เขากลับมาทำงานเป็นทนายความอยู่ราว 3 ปี ที่สำนักงานกฎหมายของครอบครัว หนึ่งในสำนักงานกฎหมายที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 70 ปี ก่อตั้งโดย มารุต บุนนาค อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร คุณปู่ผู้ล่วงลับของเขาเอง

การทำงานทำให้เขาเห็นว่า ตัวบทกฎหมายหลายฉบับมีความล้าหลังมาก บางเรื่องถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่ร้อยปีที่แล้ว ทุกวันนี้ยังถูกใช้อยู่ ทั้งที่โลกหมุนเปลี่ยนไปทุกวัน มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ขั้นตอนการแก้กฎหมายกว่าจะผ่านสภาฯ ได้ ก็เป็นเรื่องวุ่นวายมาก บางครั้งมันจึงเป็นที่มาของวลีที่ว่า 'เราทำเรื่องนี้อยู่แล้ว ถ้าอยากให้แก้อีก ก็เลือกเราต่อ' เป็นแบบนี้กันมาทุกยุค
นรุตม์ชัย กทม ทสท 3.jpg

เมื่อไม่มีทางออก เขาจึงอยากลงเล่นการเมือง เพราะมองว่า การเป็นทนายความอาจจะช่วยคนได้เพียงหยิบมือ แต่ถ้าอยากช่วยคนทีเดียวนับแสนนับล้าน ก็ต้องเข้าไปอยู่ในกระบวนการที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยการเป็น ส.ส. ซึ่งเขาเริ่มต้นจากการทำงานในเบื้องหลังกับพรรคประชาธิปัตย์ที่คุณปู่เคยสังกัด โดยยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์เป้าหมายที่ตั้งไว้เท่าที่ควร จึงตัดสินใจมาเปิดตัวทำงานกับพรรคไทยสร้างไทยช่วงปี 2564 ในที่สุด โดยมองว่า นโยบายที่ดูแลคนทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิดยันแก่ของพรรคไทยสร้างไทยถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เขาเลือกสังกัดพรรคนี้ ซึ่งเขารู้สึกเห็นด้วยกับนโยบายปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการทำมาหากินของประชาชน ว่าด้วยการพักใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตหลายพันฉบับ

จากการทำงานสายกฎหมาย การขอใบอนุญาตประกอบกิจการเป็นต้นเหตุของการทุจริตคอร์รัปชันมากมาย แต่ถ้าผู้ประกอบการสามารถจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อออก 'ตั๋วเร็ว' ก็จะย่นระยะเวลาในการขอใบอนุญาตได้จากหลักปีเหลือเพียงหลักเดือน
นรุตม์ชัย กทม ทสท 4.jpg

ทั้งนี้ หากได้รับโอกาสให้เข้าไปทำงานในสภาฯ เขาบอกว่า ในฐานะคนที่มีรอยสักทั่วร่างกาย และมีความหลงใหลในศิลปะการสักลายมาตั้งแต่อายุ 13-14 ปี ประเด็นปัญหาที่เขาอยากจะผลักดันเป็นพิเศษ คือ อุตสาหกรรมการสัก ซึ่งสามารถมองได้สองแง่มุม ในมุมมองของคนทั่วไป คนมีรอยสักมักถูกเลือกปฏิบัติ โดนดูถูก หรือปิดกั้นโอกาส ทำให้ไม่ได้รับความเท่าเทียม โดยเฉพาะในการทำงาน ซึ่งเขาได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัวช่วงหลังเรียนจบจากต่างประเทศมา และได้ไปสมัครงานที่สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งในไทย ระหว่างการสัมภาษณ์ เมื่อเขาถูกถามว่ามีรอยสักไหม และได้กล่าวยอมรับไป เขารู้สึกได้ทันทีว่าบรรยากาศการพูดคุยเริ่มยากขึ้น ผู้สัมภาษณ์มีท่าทีที่เปลี่ยนไป ทั้งที่เขาค่อนข้างมั่นใจว่าตัวเองจะได้งาน เมื่อถูกถามถึงประวัติการศึกษา ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย รวมถึงแนวคิดในการทำงานในตอนแรก

เขาคิดว่า สาเหตุที่บางคนยังมีทัศนคติเชิงลบต่อคนมีรอยสัก เพราะมองว่าอาจจะเป็นคนขบถ ไม่อยู่ในกรอบ ไม่ฟังใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนมีรอยสักอย่างเขาอาสาอยากจะมาเป็นผู้แทนให้กับประชาชน อาจจะยิ่งดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ แต่จากการลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนถึงวิสัยทัศน์ ความตั้งใจ และนโยบายของพรรคที่เขาพยายามนำเสนอ ประชาชนก็เปิดใจรับฟัง ถึงขั้นที่บางคนเกิดความรู้สึกชื่นชอบในตัวตนของเขา ดังนั้น เขาจึงอยากยืนยันว่า การมีรอยสักไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างมืออาชีพ 

นรุตม์ชัย กทม ทสท 6.jpgนรุตม์ชัย กทม ทสท 5.jpg

นอกจากนี้ เขาบอกด้วยว่า ในมุมมองของผู้ประกอบการร้านสัก ช่างสักที่มีความสามารถมากฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นการสักยันต์หรือสักสวยงาม หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังเหมือนกับศิลปินแขนงอื่น เปิดทางให้มีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความรัดกุมและชัดเจนยิ่งขึ้น เชื่อว่าจะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการสักกลายเป็นซอฟท์พาวเวอร์อีกรูปแบบหนึ่งของไทยได้ เราจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เดินทางเข้ามาสักในประเทศไทย ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ตัวเองเป็นผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่ เขาบอกด้วยว่า หลังการเลือกตั้งในปี 2562 เขาได้ติดตามการทำงานของคนรุ่นใหม่ในสภาฯ มาโดยตลอด และเห็นว่าคนกลุ่มนี้สามารถทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในแต่ละครั้งที่ ส.ส. รุ่นใหม่ๆ หลายคนลุกขึ้นมาเป็นปากเสียงให้กับประชาชนในเรื่องที่ตัวเองมีความถนัด ถือเป็นสัญญาณดีที่คนรุ่นใหม่มีความสนใจทำงานการเมืองกันอย่างเข้มข้น ไม่ใช่ว่าเข้าสภาฯ มาเป็น ส.ส. เพียงเพื่อให้มีตำแหน่งเป็นเครื่องประดับเท่านั้น และแม้ว่าผลการลงมติในหลายวาระอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง แต่อย่างน้อยเราก็เห็นว่าพวกเขาเหล่านี้ล้วนมีหมุดหมายและความตั้งใจจริง ซึ่งเขาเองก็อยากจะก้าวไปสู่จุดนั้นให้ได้เช่นกัน

นรุตม์ชัย กทม ทสท 1.jpg

ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล


ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog