ไม่พบผลการค้นหา
ชวนทำความเข้าใจแนวนโยบาย ‘เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย’ หลังปฎิรูปกฎหมายยาเสพติด 64 เน้นแก้ไขมากกว่าลงทัณฑ์ สธ. มีอำนาจกำหนดปริมาณสารขีดเส้นแบ่งผู้เสพ-ผู้ค้า อาจช่วยรัฐลดค่าใช้จ่ายการในกระบวนการยุติธรรม ลดความอัดแอของนักโทษเรือนจำ

ให้หลังจากการให้สัมภาษณ์สื่อของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ได้ไม่นานเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ถั่งโถมมาอย่างคับคลั่ง เพราะการออกมาเปิดเผยว่า กำลังดำเนินการพิจารณา การออกกฎกระทรวงสาธารณะสุขกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ  โดยจะกำหนดให้ผู้ที่ถือครองยาบ้าต่ำกว่า 10 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ ไม่ใช่ผู้ค้า ไม่ต้องติดคุก ถูกมองว่า เปิดแผลของสังคมไทยที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากพิษภัยของยาเสพติดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน 

ทว่าเรื่องนี้ถือเป็น ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวพันกับทั้งเรื่อง การแก้ไขปัญหายาเสพติด และปัญหานักโทษล้นคุก ซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ถึงอย่างนั้นก็ตาม การถือครองจำนวนยังไม่ได้ผลสรุปที่ชัดเจน เวลานี้ยังมีความต่างกันอยู่ 2 ความเห็นใหญ่ 


จุดเริ่มต้นการกำหนดปริมาณสารฯ เส้นแบ่งผู้ค้า -  ผู้เสพ 

แต่ก่อนจะไปถือตรงนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า หลังจากมีการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 ซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้ มาตรา 22 ได้ให้อำนาจแก่กระทรวงสาธารณสุขไว้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือการกำหนดปริมาณการครอบครองว่าเท่าใดจึงเป็นผู้เสพ ซึ่งสามารถเลือกเข้าสู่กระบวนการบำบัดได้โดยสมัครใจ

ต่อมา ครม.ประยุทธ์ ได้อนุมัติหลักการ "ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. ..." เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2565 

เฉพาะในส่วนของ ‘ยาบ้า’ ได้กำหนดให้ ผู้ค้า จะต้องครอบครองยาบ้า จำนวน 15 เม็ด ขึ้นไป แม้จะมีการอนุมัติหลักการแล้ว แต่ในทางปฏิบัติพบว่ายังไม่มีการการออกกฎกระทรวงออกมาบังคับใช้ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อจิตใจคนไทย เมื่อวันที่ 6 ต.ค. คือ กรณีกราดยิงศูนย์เลี้ยงเด็กที่หนองบัวลำภู ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการใช้ยาเสพติด ให้หลังจากนั้นประมาณ 4 เดือน อนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ในเวลานั้น ได้เสนอความคิดในการแก้ไขหลักการดังกล่าว โดยเห็นว่า ควรกำหนดให้ผู้มียาบ้าเกิน 1 เม็ด ถือเป็นผู้ค้าทั้งหมด 

แนวคิดดังกล่าวของอนุทิน ได้รับการวิจารณ์อย่างหนักว่า จะเป็นการเพิ่มจำนวนนักโทษในเรือนจำ และเป็นการใช้ยาแรงที่ไม่เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ความคิดดังกล่าวก็ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศยุบสภาฯ และมีการเลือกตั้งใหม่ 

ทั้งนี้แต่เดิมการกำหนดโทษของยาบ้า มีเพียงการเสพ การครอบครองโดยผิดกฎหมาย และการผลิต นำเข้า และครอบครองเพื่อจำหน่าย (15 หน่วยการใช้ -เม็ด ขึ้นไป หรือมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่ 1.5  กรัมขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 2545) 

กรณีการครองครอบเพื่อเสพนั้นเป็นข้อหาซึ่งเกิดขึ้นมาใหม่ โดยตัวกฎหมายหลักมีผลบังคับใช้แล้ว แต่เกณฑ์ในสันนิฐานซึ่งต้องออกเป็นกฎกระทรวงยังอยู่ในสูญญากาศมาเป็นเวลากว่า 2 ปี


แพทย์-ตำรวจ ยังเห็นต่าง ครอบครองไม่เกิน 5 หรือ 10 ควรถือเป็นผู้เสพ 

แม้ตามกฎหมายจะกำหนดให้เป็นอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดปริมาณสาร แต่พร้อมกันนั้นก็กำกับไว้ด้วยว่า การออกข้อกำหนดนั้นจะต้องอยู่ในการให้คำแนะนำคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด โดยยังมีความเห็นต่างกันระหว่างแพทย์ และตำรวจ 

ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของ นพ.ชลน่าน ที่ถือเกณฑ์ 10 เม็ดนั้น เป็นไปตามหลักวิชาการทางการแพทย์ ที่ได้จากการพิจารณาทั้งเรื่องสารบริสุทธิ์ อ้างอิงงานวิจัย การสัมภาษณ์ผู้เสพ จนได้ผลออกมาว่า ในยาบ้า 1 เม็ดจะมีประมาณสารบริสุทธ์อยู่ประมาณ 10-20 มิลลิกรัม การเสพยาบ้า 1-3 เม็ดจะส่งผลให้ผู้เสพ รู้สึกมีความมั่นใจ มีแรงในการทำงานหนักได้ แต่ควบคุมตัวเองได้น้อยลง 5 เม็ด จะมีสารบริสุทธิ์ 50-100 มิลลิกรัม จะส่งผลให้มีรู้สึกกระสับกระส่าย อารมณ์เสีย หรือมีอาการหลอนยา แต่ถ้ามีการเสพในประมาณที่เกิน 120 มิลลิกรัม ต่อ 1 วัน จะส่งให้ผลให้ผู้เสพเสียชีวิตได้ 

ด้านความเห็นของตำรวจ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ได้เข้าให้ความเห็นกับ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ระบุว่า ควรกำหนดปริมาณการถือครองไว้เพียง 5 เม็ดเท่านั้น หาากเกินไปกว่านี้ต้องถือเป็นผู้ค้า ทั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามยาเสพติด และลดปัญหาการแพร่ระบาดในชุมนุม ตัดวงจรผู้ค้ารายย่อย 

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ให้เหตุผลว่า การกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 5 หน่วยการใช้ หรือ 5 เม็ด ผ่านการหารือ จากหน่วยที่เกี่ยวข้องในเวทีการประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.) แล้ว โดยขณะนั้นมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ อดีต ผบ.ตร.เป็นประธานในการหารือ ให้เหตุผลว่า เป็นปริมาณยาเสพติดที่ผู้ค้ารายย่อยไม่คุ้มค่าความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี หากกำหนดปริมาณยาเสพติดที่ 10 หน่วยการใช้ หรือ 10 เม็ด จะเป็นปริมาณที่ผู้ค้ารายย่อยนิยมจำหน่ายในชุมชน หากถูกจับกุมก็สามารถเลี่ยงการถูกดำเนินคดี โดยสมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ และจะทำให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชน และเกิดผู้ค้ารายย่อยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

เช่นเดียวกันกับ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ รักษาราชการแทน เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งเห็นว่า เกณฑ์การครอบครองควรจะอยู่ที่ 5 เม็ด ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานยึดหลักนี้มาตลอด เพราะมองว่าการครอบครองเกินกว่า 5 เม็ด ก็จะถูกลงโทษเป็นผู้ค้า ฉะนั้นผู้ค้ารายย่อยเองก็จะมองว่าไม่คุ้มกับการพกพา 5 เม็ดแล้วถูกจับโทษหนัก ที่ผ่านมาจากรายงานการจับกุมผู้ใช้สารเสพติด 100 คน จะแบ่งเป็นผู้ค้า 12.5 คน


เปลี่ยนผู้(ครอบครองเพื่อ)เสพ เป็นผู้ป่วย ทำไปเพื่ออะไร

แนวคิดว่าด้วยการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย เพื่อส่งตัวเข้ารับการบำบัดเลิกใช้ยาเสพติด ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2534 ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 2534 และต่อมามีการแก้ไข ปรับปรุงเป็น พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 2545

โดยระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาในประเทศไทย แบ่งเป็นระบบ 3 ระบบดังนี้

1.ระบบสมัครใจ (voluntary system) โดยผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดสามารถ ขอเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลๆ  ซึ่งดำเนินการรักษาทั้งระบบแพทย์แผนปัจจุบัน และแผนโบราณ แต่ต้องได้รับการรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยให้ถือว่า พ้นจากความผิด ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 

2.ระบบบังคับบำบัด (compulsory system) โดยผู้เสพ ผู้ติดยาเสพที่ถูกจับกุมตามฐานความผิด ที่กำหนด ต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ร่างกายและจิตใจ ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ ตามกฎหมาย ภายใต้หลักการผู้เสพผู้ติดเป็นผู้ป่วยไม่ใช่อาชญากร 

3.ระบบต้องโทษ(correction system) ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดที่ถูกคุมขัง ต้องได้รับการรักษา พยาบาลภายใต้ขอบเขตข้อบังคับของกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ

ทั้งนี้ตามกรอบของกฎหมายยาเสพติดฉบับเดิม หาผลว่าเป็นการเสพ และมีการถือครองร่วมอยู่ด้วย คดีความในเรื่องของการถือครองยาเสพติดโดยผิดกฎหมาย แต่ไม่ถึง 15 เม็ด ซึ่งจะถูกตีว่าเป็นการถือครองเพื่อเสพ คดีความก็จะยังคงอยู่ แต่หากผ่านการบำบัดจนเสร็จสิ้นกระบวนการแล้ว ก็อาจจะถูกใช้เป็นเหตุผลสำหรับศาลในการพิจารณาพิพากษาลงโทษสถานเบา หรือให้รอลงอาญา แต่สำหรับกฎหมายฉบับใหม่หากถือครองเพื่อเสพ แล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจะถูกส่งตัวไปบำบัด และเมื่อบำบัดเสร็จได้รับรองใบรับรอง ก็จะสามารถพ้นจากความผิดได้

จุดมุ่งหมายของการดำเนินนโยบายลักษณะนี้ เป็นไปเพื่อการฟื้นฟู และลดจำนวนผู้ติดยาเสพติดให้ลดลง และที่สำคัญคือการลดจำนวนนักโทษในเรือนจำ ซึ่งประสบปัญหานักโทษล้นเรื่อนจำมายาวนาน แม้จะมีการปลดล็อคพืชกระท่อม และกัญชา ประกอบการการดำเนินนโยบายปล่อยตัวผู้ต้องขังคดียาเสพติด(ตามเงื่อนไข) โดยให้ใส่กำไร EM แทน ในสมัยที่สมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งทำให้จำนวนผู้ต้องขังลดในเรือนจำลงลดไปกว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ แต่โดยสภาพแล้วก็ยังถือว่ามีจำนวนผู้ต้องในเรือนจำอยู่จำนวนมากอยู่ดี


เรือนจำแออัด 78 % เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด รัฐใช้งบหลักแสนเพิ่มนำผู้ต้องหา 1 คนเข้าเรือนจำ

จากสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ โดยกรมราชทัณฑ์ สำรวจเมื่อ 1 ม.ค 2566 พบว่ามีผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องขังทั้งหมด 262,319 คน แบ่งเป็นเพศชาย 231,813 คน เพศหญิง 30,506 คน มีผู้ต้องขังจากคดียาเสพติดจำนวน 206,361 คิดเป็นร้อยละ 78.67 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 

ทั้งนี้ในปี 2561 -2563 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีผู้ต้องขังในเรือนจำมากที่สุด โดยพบว่า ในปี 2561 มีผู้ต้องขังสูงถึง 364,872 ราย แต่สุดท้ายเมื่อมีการดำเนินการปลดล็อคพืชกระท่อม และกัญชา การอภัยโทษ และการใช้หลักการคุมประพฤติโดยการใส่กำไร EM แทนการจองจำในเรือนจำ ทำให้จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำลดลงได้กว่า 7 หมืนคน แต่ก็ยังถือว่าไม่มากพอที่จะทำให้เรือนจำในภาพรวมตัดขาดจากคำว่า ‘แออัด’

หากเทียบกับมาตรฐานที่คณะกรรการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) กำหนดมาตรฐานพื้นที่ในเรือนจำต่อผู้ต้องขัง 1 คน คือ 3.4 ตรม. ส่วนมาตรฐานขั้นต่ำของกรมราชทัณฑ์กำหนดไว้ที่ 1.2 ตรม. ต่อคน ทว่าในสภาพจริงของเรือนจำบางแห่ง ซึ่งมีความหนาแนนของผู้ต้องขังสูงพบว่า ภายในเรือนนอนขนาด 30 ตรม. ถูกจัดไว้เป็นสถานที่สำหรับผู้ต้องขังประมาณ 30-60 คน

ด้านมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้จัดทำข้อมูลเมื่อปี 2562 เสนอต่อ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ ระบุถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปี 2560 มีต้นทุนรวมเฉลี่ย 125,656 บาท ต่อผู้ถูกกล่าวหา 1 คน ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนกระทั่งถึงขั้นสุดท้าย

ขณะที่ข้อมูลจาก ป.ป.ส. พบว่าในปี 2564 มีคดียาเสพติดเกิดขึ้นทั้งหมด 136,016 คดี ในจำนวนนี้ เป็นคดียาบ้าเป็นส่วนใหญ่ มีจำนวน 99,489 คดี 

ในทางกลับกัน ในปีงบประมาณ 2565 กรมราชทัณฑ์ได้รับ งบประมาณ 13,528 ล้านบาท โดยในงบส่วนนี้ มีการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ต้องขังชาย 1,380 บาท ผู้ต้องหญิง 1,600 บาท ต่อคน ต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งของ จำเป็นขั้นพื้นฐานรวมทั้งเสื้อผ้า เครื่องนอน ผ้าอนามัย อุปกรณ์สำหรับกินอาหาร และบริการการแพทย์

หมายความว่า มีการจัดสรรงบเพียง 115 บาท ต่อเดือนสำหรับผู้ต้องขังชาย แต่ละคน และ 113 บาท ต่อเดือน สำหรับผู้ต้องขังหญิงแต่ละคน

ส่วนงบค่าอาหารในปี 2565 คิดเป็น 33% ของจำนวนงบประมาณที่กรมราชทัณฑ์ได้รับ ทว่าตัวเลขดังกล่าวเมื่อนำมาหารด้วยจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ พบว่า ใน 1 วัน มีการจัดสรรงบค่าอาหารให้ผู้ต้องขัง 1 คนเพียง 45 บาท คิดเป็นมื้อละ 15 บาทเท่านั้น

อ้างอิง 

รายงานสภาพปัญหาเรือนจำโดย ประจำปี 2565 โดย FIDH 

https://www.fidh.org/IMG/pdf/thailande791thaweb.pdf

สถิติผู้ต้องขังทั่วประเทศ โดยกรมราชทัณฑ์

http://www.correct.go.th/rt103pdf/report_result.php?date=2023-01-01&report=

สถิติคดียาเสพติด โดย ป.ป.ส.

https://ittdashboard.nso.go.th/preview.php?id_project=66

เจาะงบประมาณคุก : ส่องค่าใช้จ่ายคุมขัง ผู้ต้องโทษ 1 ราย รัฐต้องใช้เงินเท่าไหร่?

https://isranews.org/article/isranews-scoop/114919-isranews-299.html