ไม่พบผลการค้นหา
"หากคุณก้าวข้ามกำแพงสูง 1 นิ้วที่เรียกว่าซับไตเติ้ลไปได้ คุณจะได้รู้จักภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกมากมาย"

คำประกาศแสนปราดเปรื่องของ บองจุนโฮ ผู้กำกับเกาหลีใต้ ที่กล่าวในงานลูกโลกทองคำ เสมือนการท้าทายรสนิยมชาวอเมริกัน ที่มักปฎิเสธการดูหนังที่ตัวละครในเรื่องไม่พูดภาษาอังกฤษ เป็นเหตุให้หนังต่างประเทศแทบไม่เคยประสบความสำเร็จในสหรัฐ ไม่ว่าจะด้านรายได้ หรือการคว้ารางวัลอื่นใด เว้นแต่หมวดที่จัดไว้สำหรับหนังต่างด้าวโดยเฉพาะ

คำกล่าวอันแสนคมคายของผู้กำกับใหญ่วัย 50 ปี เหมือนจะกระทบใจคนวงการฮอลลีวูด นำไปสู่ปรากฏการณ์ "กะเทาะกำแพง 1 นิ้ว" อย่างไม่เคยมีมาก่อน เมื่อ Parasite ได้รับคะแนนโหวตอย่างล้นหลาม จนหนังตลกร้ายเสียดสีชนชั้นจากแดนโสม คว้ารางวัล Best Picture บนเวทีออสการ์ไปได้ในโค้งสุดท้าย นับเป็นครั้งแรกในรอบ 92 ปี ที่หนังภาษาต่างประเทศ แหวกม่านประเพณีคว้าเกียรติยศสูงสุดของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดได้สำเร็จ

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของ Parasite ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน เพราะเกือบศตวรรษที่ผ่านมา มีนักสร้างหนังจากทั่วโลก พยายามทลายกำแพงซับไตเติ้ลด้วยการสร้างภาพยนตร์ที่แสนทรงพลัง กระทั่งมีหนัง 5 เรื่องที่โดดเด่นเสียจนออสการ์อดไม่ได้ที่จะให้เข้าชิงรางวัลพร้อมกันทั้ง 2 สาขา คือ Best Picture และ Best International Feature Film (ชื่อเดิม Best Foreign Language Film)

แม้เส้นทางการคว้า Best Picture ของสุดยอดนักสร้างหนังเหล่านั้นจะจบลงด้วยความล้มเหลวทั้งหมด แต่การเสนอชื่อเข้าชิงแต่ละครั้งของพวกเขา คือการเพิ่มความหวังให้คนทำหนังทั่วโลกได้เชื่อมั่นว่า หากภาษาหนังของพวกเขามีความเข้มแข็งเพียงพอ การสื่อสารผ่านซับไตเติ้ล ก็ไม่มีทางลดทอนคุณค่าของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ไปได้



1. Z (1969)

ผู้กำกับ: Costa-Gavras (กรีซ-ฝรั่งเศส)

ประเทศ: อัลจีเรีย

ภาษา: ฝรั่งเศส

เกียรติยศก่อนสังเวียนออสการ์: Jury Prize - Cannes Film Festival

ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้การเสนอชื่อชิงรางวัล Best Picture และ Best Foreign Language Film พร้อมกัน เนื้อหาสะท้อนปัญหาสังคมที่มาจากการรัฐประหารและการลอบสังหารนักการเมืองขั้วตรงข้าม การที่หนังออกฉายในช่วงที่สังคมอเมริกันกำลังเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นและการเข้าสู่ภาวะสงคราม ทำให้ Z ได้รับการยกย่องในฐานะภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาสังคมอเมริกันในขณะนั้นได้อย่างดี

หนังที่ทำให้พลาด Best Picture: Midnight Cowboy

แม้ Z จะได้รับการยกย่องจาก โรเจอร์ อีเบิร์ต สุดยอดนักวิจารณ์ให้เป็นหนังที่ดีที่สุดของปี 1969 แต่หนังก็ไม่สามารถต้านทานความร้อนแรงของ Midnight Cowboy ผลงานเขย่าวงการของผู้กำกับ John Schlesinger ไปได้ นอกจากทีมเวิร์คที่ลงตัวระหว่าง 2 นักแสดงนำ ดัสติน ฮอปแมน และ จอน วอยต์ แล้ว Midnight Cowboy ยังได้รับการจารึกในฐานะหนังเรต X เรื่องเดียวในประวัติศาสตร์ ที่คว้ารางวัล Best Picture ไปครอง!



2. Life Is Beautiful (1997)

ผู้กำกับ: Roberto Benigni (อิตาลี)

ประเทศ: อิตาลี

ภาษา: อิตาลี

เกียรติยศก่อนสังเวียนออสการ์: Grand Prize - Cannes Film Festival

หลังสร้างประวัติศาสตร์พา Il Postino: The Postman เป็นหนังอิตาลีเรื่องแรกที่เข้าชิงออสการ์สาขา Best Picture สำเร็จในปี 1996 Vittorio Cecchi Gori แห่งตระกูล Cecchi Gori ผู้ผลิตภาพยนตร์แถวหน้าของอิตาลีและอดีตเจ้าของสโมสรฟุตบอล Fiorentina ก็ส่งหนังมาชิงชัยเวทีออสการ์อีกครั้งในปี 1999 กับ La vita è bella หรือ Life Is Beautiful ภาพยนตร์ Tragicomedy ถ่ายทอดชะตากรรมครอบครัวชาวยิวที่ถูกนาซีจับไปเป็นเชลยในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้เป็นพ่อพยายามสร้างกำลังให้แก่ลูกชาย ด้วยการสรรหาอุบายหลอกล่อลูกชายตัวน้อย ให้เขาเชื่อค่ายกักกันที่เขาถูกจองจำคือสวนสนุก หาใช่สถานที่สังเวยชีวิตชาวยิวนับล้านอย่างที่รับรู้กันในประวัติศาสตร์

03.jpg

ความสำเร็จของ Life Is Beautiful ทำให้ Roberto Benigni ผู้ทำหน้าที่กำกับ, ร่วมเขียนบท และแสดงนำในเรื่อง ได้รับการเชิดชูจากสื่ออิตาลีให้เป็นฮีโร่ของชาติ, สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น พอลที่ 2 ผู้เคยใช้ชีวิตวัยหนุ่มช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทรงเลือก Life Is Beautiful เป็น 1 ใน 5 หนังยอดเยี่ยมส่วนพระองค์ รวมถึงการคว้า 3 รางวัลออสการ์ ทั้งสาขา Best Actor, Best Original Dramatic Score และ Best Foreign Language Film

หนังที่ทำให้พลาด Best Picture: Shakespeare in Love

การชิงชัยรางวัล Best Picture ในงานออสการ์ยุค 90 เป็นการลุ้นที่แฟนหนังเดาทางไม่ยาก จนกระทั่งปี 1999 ที่การลุ้นกลับมาตื่นเต้นสู่สีอีกครั้ง จากการชิงชัยระหว่างภาพยนตร์ที่กลายเป็นหนังในดวงใจของผู้ชมทั่วโลกในเวลาต่อมา ทั้ง Life Is Beautiful, The Thin Red Line, Elizabeth และเต็งหนึ่งอย่าง Saving Private Ryan ที่นักวิจารณ์ยกย่องให้เป็นหนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลจนถึงวันนี้

แต่หนังที่คว้า Best Picture แบบช็อคโลกในเวลานั้นคือ Shakespeare in Love หนังพีเรียด แนวโรแมนติด คอมมาดี้ เล่าเรื่องราวชีวิตวัยหนุ่มของยอดกวี วิลเลียม เชคสเปียร์ส แม้หนังจะได้รับการยกย่องในวิธีการเล่าเรื่อง ที่นำชีวิตกวีหนุ่มและผลงานของเขามาถ่ายทอดร่วมกันอย่างมีสีสันและลงตัว แต่การแหวกด่านคว้ารางวัล Best Picture แบบค้านสายตาชาวโลกในยุคนั้น ทำให้หนังถูกนักวิจารณ์รุ่นหลังโจมตีว่า เป็นการ "ปล้น" ชัยชนะครั้งอื้อฉาวที่สุดบนเวทีออสการ์ หลายคนตั้งข้อสันนิฐานว่า เล่ห์เหลี่ยมการล็อบบี้ของ ฮาวีย์ ไวน์สตีน เจ้าของค่ายหนัง Miramax อาจเป็นปัจจัยที่ส่งให้ Shakespeare in Love กอบโกยคะแนนเสียงอย่างเป็นกอบเป็นกำในงานออสการ์ปีนั้นก็เป็นได้!



3. Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000)

ผู้กำกับ: Ang Lee (ไต้หวัน)

ประเทศ: ไต้หวัน

ภาษา: จีนกลาง

เกียรติยศก่อนสังเวียนออสการ์:

  • Best Feature Film - Golden Horse Awards
  • People's Choice Award - Toronto International Film Festival
  • Best Director - British Academy Film Awards

การรวมตัวของสุดยอดบุคลากรวงการหนังจีน ทั้งนำแสดงโดย Chow Yun-fat พระเอกผู้เป็นพี่ใหญ่แห่งวงการหนังฮ่องกง, กำกับการแสดงโดย Ang Lee ผู้กำกับไต้หวันผู้เคยส่งหนังชิงออสการ์ Best Picture เมื่อปี 1996, ถ่ายทำโดย Peter Pau ผู้กำกับภาพระดับกระบี่มือหนึ่งจากฮ่องกง, ดนตรีประกอบโดย Tan Dun สุดยอดคีตกวีร่วมสมัยจากจีนแผ่นดินใหญ่ และฝีมือการออกแบบคิวบู๊ของ Yuen Wo Ping นักออกแบบคิวบู๊ชั้นเซียน เมื่อร่วมกับการตัดต่อที่เร้าใจและการร่วมเขียนบทที่เอาใจแฟนหนังตะวันตกโดยทีมงานระดับฮอลลีวูด คือองค์ประกอบที่ส่งให้ Crouching Tiger, Hidden Dragon ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายกำลังภายในสุดคลาสสิก ได้เปิดโลกยุทธภพแก่สายตาแฟนหนังตะวันตกอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนหนังได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์มากถึง 10 สาขา รวมทั้ง Best Picture และ Best Foreign Language Film

04.jpg

แต่ความสำเร็จที่แท้จริงของ Crouching Tiger, Hidden Dragon คือการปลุกกระแส Wuxia Fever ในวงการหนังจีน เมื่อต่อมามีการผลิตหนังกำลังภายในฟอร์มใหญ่ออกมาอย่างแพร่หลาย ทั้ง Wuxia Trilogy ของ Zhang Yimou หนังฮอลลีวูดอย่าง The Forbidden Kingdom, และแอนิเมชั่นไตรภาค Kung Fu Panda จน Crouching Tiger, Hidden Dragon ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผลงานที่สร้างอิทธิพลมากที่สุดของวงการภาพยนตร์

หนังที่ทำให้พลาด Best Picture: Gladiator

การเสนอชื่อมากถึง 10 สาขา รวมถึงบรรยากาศความเป็นจีนที่ถูกนำมาสอดแทรกในงานออสการ์ปี 2001 น่าจะทำให้แฟนหนัง Crouching Tiger, Hidden Dragon อดคิดไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้น แต่สุดท้ายรางวัล Best Picture ก็ตกเป็นของ Gladiator ที่แซงหน้าตัวเต็งทั้งหนังของ Ang Lee และ Traffic ของ Steven Soderbergh ไปแบบมีเซอร์ไพรส์เล็กๆ ซึ่งการที่ Gladiator มีคะแนน Rotten Tomatoes เพียง 76% จึงทำให้หนังถูกจัดอยู่ในอันดับ 14 หนัง Best Picture ที่มีคะแนนวิจารณ์น้อยที่สุด!



4. Amour (2012)

ผู้กำกับ: Michael Haneke (ออสเตรีย)

ประเทศ: ออสเตรีย

ภาษา: ฝรั่งเศส

เกียรติยศก่อนสังเวียนออสการ์: Palme d'Or - Cannes Film Festival

การเพิ่มโควต้าหนังชิงรางวัล Best Picture ในงานปี 2010 นับเป็นการเพิ่มโอกาสชิงชัยออสการ์ของหนังภาษาต่างประเทศด้วยเช่นกัน โดยผู้ท้าชิงของงานปี 2013 ได้แก่ Amour หนังดราม่าสุดละเมียด ว่าด้วยการประคับประคองชีวิตของคู่รักวัยชรา ในช่วงที่วาระแห่งการจากลากำลังคืบคลานเข้ามา ผลงานของ Michael Haneke ผู้กำกับดีกรี 2 รางวัลปาล์มทองคำจากประเทศออสเตรีย ได้รับการเชิดชูจากนักวิจารณ์และสถาบันภาพยนตร์หลายสำนัก ในฐานะหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดของปี 2012

หนังที่ทำให้พลาด Best Picture: Argo

แม้ผลงานการกำกับและแสดงนำของ Ben Affleck ในเรื่อง Argo จะทำให้หนังที่ย้อนรอยปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันในอิหร่าน ได้รับการชื่นชมด้านพล็อตเรื่องและการนำเสนอที่ชวนลุ้นระทึก แต่ความสำเร็จของ Argo ก็ตามมาด้วยข้อครหา จากประเด็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ทั้งการทำให้เหตุการณ์เลวร้ายเกินจริงและการปรักปรำการทำงานของสถานทูตต่างชาติ โดยขณะนั้น Argo ยังเป็นหนังเรื่องแรกในรอบ 23 ปี ที่ได้รางวัล Best Picture โดยที่ผู้กำกับของเรื่อง ไม่มีชื่อแม้แต่เข้าชิงรางวัล Best Director ด้วยซ้ำ!



5. Roma (2018)

ผู้กำกับ: Alfonso Cuarón (เม็กซิโก)

ประเทศ: เม็กซิโก

ภาษา: สเปน

เกียรติยศก่อนสังเวียนออสการ์: Golden Lion - Venice Film Festival

หนังที่ได้ชื่อว่าเป็น "จดหมายรักถึงพี่เลี้ยงเด็กในวัยเยาว์" ของยอดผู้กำกับ Alfonso Cuarón เรื่องนี้ นับเป็นภาพยนตร์แห่งการสร้างสถิติอย่างแท้จริง จากการเป็นหนังเม็กซิโกเรื่องแรกที่คว้ารางวัล Best Foreign Language Film, เป็นผู้กำกับคนแรกที่ส่งหนังภาษาต่างประเทศคว้ารางวัล Best Director และยังเป็นผู้กำกับคนแรกที่คว้ารางวัล Best Cinematography ไปครองอีกด้วย

หนังที่ทำให้พลาด Best Picture: Green Book

อีกสถิติที่ได้รับการจับตาว่าจะเป็นการปฎิวัติครั้งสำคัญของวงการ คือการเป็นหนังที่ฉายทางบริการสตรีมมิ่งเรื่องแรก ที่จะคว้ารางวัล Best Picture บนเวทีออสการ์ได้สำเร็จ โดย Netflix เจ้าของหนังขาวดำเรื่องนี้ ได้ทุ่มงบประมาณ 25 ถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2 ถึง 3 เท่าของทุนสร้างหนัง มาใช้โปรโมทหนัง Roma เพื่อลุ้นโอกาสบนเวทีออสการ์ รวมไปถึงการส่งหนังสือของหนัง Roma หลายพันเล่มไปยังบ้านของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนออสการ์ ซึ่งประมาณกันว่า แค่ค่าขนส่งไปรษณีย์ยังมากกว่างบที่ใช้โฆษณาของหนังทั่วไปเสียอีก

06.jpg

แม้หนังจะเป็นที่รักของนักวิจารณ์ และเป็นตัวเต็งในสายตาของแฟนหนังทั่วโลก แต่สุดท้ายรางวัล Best Picture ในปีนั้นก็ตกเป็นของ Green Book หนัง Road Movie ที่เปิดมุมมองความขัดแย้งทางเชื้อชาติในสังคมอเมริกันยุค 60 แม้หนังจะคว้ารางวัลใหญ่จากหลายสถาบัน ทั้ง Toronto International Film Festival และ Producers Guild of America Awards แต่การคว้าชัยแบบค้านสายตาแฟนหนังส่วนใหญ่ ชัยชนะของ Green Book จึงตามมาด้วยคำครหาไม่ต่างจาก Argo ทั้งข้อหาการบิดเบือนประวัติศาสตร์ ทั้งมิตรภาพที่ไม่มีอยู่จริงของตัวละครหลักในเรื่อง และการตอกย้ำค่านิยม White Savior ในหนัง อีกประเด็นที่ Green Book มีเหมือนกับ Argo คือการเป็นหนังเรื่องที่ 5 ในประวัติศาสตร์ออสการ์ ที่ชนะรางวัล Best Picture โดยที่ผู้กำกับไม่มีชื่อเข้าชิงรางวัล Best Director เช่นกัน!


- ชนชั้นออสการ์ -

ชัยชนะของหนังสัญชาติเกาหลีบนเวทีออสการ์ ได้รับการจับตาว่าจะเป็นการเปิดมิติใหม่ของวงการภาพยนตร์ ว่าผู้ชมอเมริกันจะเปิดโอกาสให้หนังจากนานาประเทศมากขึ้น รวมไปถึงหนังอีกหลายๆ รูปแบบอาจจะมีโอกาสลุ้นรางวัล Best Picture เพิ่มขึ้น ทั้งหนังแอนิเมชั่น หรือหนังที่สร้างด้วยเทคนิก Motion Capture

อย่างไรก็ดี หากย้อนไปยังงานออสการ์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ครั้งที่ Kathryn Bigelow กลายเป็นผู้กำกับหญิงคนแรกที่คว้ารางวัล Best Director บนเวทีออสการ์ แต่ 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้กำกับหญิงอีกเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการเสนอชิงรางวัล Best Director (Greta Gerwig จาก Lady Bird)

เช่นเดียวกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่ออสการ์ก็โดนวิจารณ์เรื่อง Oscars So White แทนที่จะเป็นบทเรียน แต่ปีนี้ นักแสดงผิวสีจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอย่างค้านสายตา (Jennifer Lopez จาก Hustlers, Awkwafina จาก The Farewell)

เวลาคงเป็นเครื่องชี้ชัดว่า ชัยชนะของหนังต่างด้าวอย่าง Parasite จะเปิดมิติใหม่ด้านความหลากหลายบนเวทีออสการ์ หรือเป็นเพียงความตื่นตาตื่นใจชั่วข้ามคืน ที่ออสการ์หยิบมาใช้เป็นจุดขายให้กับงานแจกรางวัล อย่างที่แฟนหนังได้เห็นเป็นประจำทุกๆ ปี


Trivia Facts

  1. Parasite นับเป็นหนังที่ใช้ภาษาต่างประเทศเรื่องที่ 11 ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัล Best Picture ในตลอด 92 ปีที่ผ่านมา โดยมีค่าเฉลี่ยการเข้าชิงที่ 1 เรื่องต่อ 8 ปี
  2. หลังจากออสการ์เพิ่มโควต้าหนังชิงรางวัล Best Picture ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา มีหนังภาษาต่างประเทศเข้าชิง Best Picture ถึง 3 เรื่อง ความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 1 เรื่องต่อ 3 ปีครึ่ง
  3. หนังภาษาต่างประเทศทั้ง 6 เรื่องที่ได้ชิงออสการ์ทั้งสาขา Best Picture และ Best Foreign Language Film จะคว้ารางวัลในสาขา Best Foreign Language Film ได้ทั้งหมด
  4. ในปีที่ Life Is Beautiful, Crouching Tiger Hidden Dragon, Amour และ Roma เข้าชิง Best Picture ภาพยนตร์ที่ชนะรางวัล Best Picture จะพลาดรางวัล Best Director ทั้งหมด
  • ปี 1999 Shakespeare in Love ได้ Best Picture - Saving Private Ryan ได้ Best Director
  • ปี 2001 Gladiator ได้ Best Picture - Traffic ได้ Best Director
  • ปี 2013 Argo ได้ Best Picture - Life of Pi ได้ Best Director
  • ปี 2019 Green Book ได้ Best Picture - Roma ได้ Best Director
AdizxA
0Article
0Video
5Blog