ไม่พบผลการค้นหา
มูลนิธิชีววิถี เสนอแนวทางแก้ปัญหาภาคเกษตรกรรม หวังมีการผลักดันปรับโครงสร้างในระบบกฎหมาย

เพจมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ได้โพสต์ข้อความระบุถึกรณีปัญหาภาคเกษตรกรรม หลังจากส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เปิดประเด็นในสภาฯ ว่า ใครที่ได้ฟังคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่อภิปรายปัญหาการเกษตรในระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวานนี้ (28 ก.ค. ) ถ้าหากไม่มีอคติใดๆ คงยอมรับว่า เป็นการอภิปรายที่มองปัญหาเกษตรกรรมของไทยได้อย่างเป็นระบบ ลำดับไล่เรียงความสำคัญของปัญหา อุปมาดังกระดุม 5 เม็ด ได้อย่างน่าสนใจ เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็นระบบก็ยากที่จะแก้ปัญหาเกษตรกรและภาคเกษตรกรรมได้ แม้จะคาดหวังว่าจะมีผู้ใดยกปัญหาการผูกขาดในระบบเกษตรกรรมและอาหารขึ้นมาอภิปรายบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร รอโอกาสหน้าก็ได้

ตัวแทนรัฐบาลที่ลุกขึ้นอภิปรายตอบ คือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แต่โดยเหตุที่ดูแลกระทรวงมหาดไทยไม่ได้มาจากตัวแทนรัฐบาลที่ดูแลเรื่องเกษตรและเศรษฐกิจโดยตรง จึงได้แต่ตอบคำถามเน้นหนักไปที่ปัญหาที่ดิน โดยกล่าวถึงการแก้ปัญหานี้ได้อย่างแท้จริงคงต้องอาศัยอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น แต่ปัญหาอื่นๆที่ถูกคุณทิมยกขึ้นมาก็ไม่เห็นผู้ใดตอบได้ตรงประเด็น แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไบโอไทยเชื่อว่าเราสามารถก้าวข้ามพ้นปัญหาของภาคเกษตรกรรมเหล่านี้ได้ โดยเสนอแนวทางที่แก้ปัญหากระดุม 5 เม็ด ซึ่งที่จริงเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งสิ้นดังแผนภาพ

ปัญหาที่ดินนั้น ในทางโครงสร้างคงต้องผลักดันให้มีการแก้กฎหมายดังที่รัฐมนตรีมหาดไทยเสนอ ซึ่งต้องใช้พลังทางการเมืองและพลังของประชาชนมากที่จะทำให้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน เพราะ ส.ส. ส.ว.ส่วนใหญ่ในสภาคือคนกลุ่ม 10% ที่มีที่ดิน 90% ของประเทศ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้คือการจัดการแก้ปัญหาโครงสร้างนี้ โดยนำเงินที่รัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมาใช้สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือการจำนำ/ประกันสินค้าเกษตรปีละหลายหมื่นล้านบาท-แสนล้านบาท โดยแบ่งมาสักครึ่งหนึ่งสัก 30,000-50,000 ล้านบาท/ปี มาให้เกษตรกรเช่าซื้อในราคาถูก โดยให้มีราคาไม่เกินค่าเช่าที่เกษตรกรต้องจ่ายให้แก่เจ้าของที่ดิน ปัญหานี้ก็แก้ได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก

สำหรับปัญหาหนี้สินของเกษตรกรนั้นเป็นผลพวงของปัญหาแรกและปัญหาอื่นๆ ซึ่งต้องลดปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ยและสารเคมีซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของต้นทุนการผลิต และการเพิ่มนวัตกรรมในการเกษตร เปลี่ยนจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่พึ่งพาสารเคมีหรืออาหารสัตว์ มาเป็นเกษตรกรรมเชิงนิเวศ เกษตรกรรมผสมผสาน (แน่นอนกลุ่มที่จะขวางคือกลุ่มทุนเกษตรที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลนั้นเอง) และเกษตรกรรมเชิงนวัตกรรมที่อาศัยฐานความหลากหลายทางชีวภาพ 

ไบโอไทยเคยประเมินพบว่า หากเราสามารถพัฒนาการใช้กระท่อมเพื่อใช้การแพทย์ซึ่งทำได้ไม่ยาก เราสามารถสร้างรายได้ปีละหลายแสนล้านบาทจากการสกัดกระท่อมเพื่อนำสาร mitragynine และ 7-hydroxymitragynine มาใช้ในอุตสาหกรรมยาระงับปวด ทั้งนี้ไม่นับถึงกัญชาและสมุนไพรอื่นๆ แต่การทำสิ่งนี้ได้หมายถึงรัฐบาลต้องเปลี่ยนความคิดว่า การพัฒนาไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้น ไม่ใช่การพึ่งพาแต่การลงทุนจากต่างชาติ และปล่อยให้บรรษัทขนาดใหญ่จูงจมูกให้แก้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาตามแบนแผนของพวกเขา ดังที่เป็นอยู่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ คงต้องค่อยๆอภิปรายกันยาวๆ

การพัฒนานวัตกรรม การลดละเลิกการใช้สารเคมี ต้องอาศัยการลงทุนทั้งในรูปการพัฒนาเครื่องจักรเครื่องกลทดแทนสารเคมี การสนับสนุนเกษตรกรให้เปลี่ยนจาการผลิตเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรกรรมเชิงนิเวศและเกษตรเชิงนวัตกรรม ซึ่งเราเสนอให้ใช้เงินเหล่านั้นจากภาษีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้งจากภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งไบโอไทยคาดการณ์ว่าจะได้รายได้มากกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี จากยอดขายสารพิษประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท/ปี

โดยรัฐบาลไม่ต้องควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นเลย หรือหากสามารถดึงงบส่วนที่รัฐบาลหลายชุดในอดีตใช้สำหรับนโยบายจำนำ/ประกันรายได้อีกสักครึ่งหนึ่งที่เหลือจากข้อเสนอแรกที่นำไปใช้สำหรับการแก้ปัญหาที่ดิน เราจะมีงบประมาณอีก 30,000-50,000 ล้านบาท/ปี เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน ไม่เหมือนที่เคยทำมาในอดีต เมื่อดินน้ำและฐานทรัพยากรได้รับการฟื้นฟู ระบบเกษตรกรรมและอาหารมีความปลอดภัย สิ่งที่เรียกกว่าการท่องเที่ยวเชิงนิเวศจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง