ไม่พบผลการค้นหา
ความขัดแย้ง 'สหรัฐฯ - อิหร่าน' ทำให้มี 'ข่าวปลอม' ออกมาว่า สหรัฐฯ จะรื้อฟื้น 'การเกณฑ์ทหาร' และหวั่นว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะในอดีต รัฐบาลสหรัฐฯ ถูกมองว่าใช้วิธี 'รุกราน - แทรกแซง' ประเทศอื่นๆ โดย 'หวังผล' เรียกคะแนนทางการเมืองในประเทศมาก่อน

ช่วงหลังปีใหม่ 2020 เป็นต้นมา ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในหลายเมืองของสหรัฐอเมริกา ได้รับข้อความให้ติดต่อกลับไปยัง 'สำนักงานทหารเกณฑ์' หรือ United States Official Army Draft พร้อมระบุว่า หากไม่ดำเนินการตามที่ได้รับแจ้งอาจมีความผิดทางกฎหมาย และบางข้อความระบุว่าอาจถูกลงโทษจำคุก ทำให้ศูนย์บัญชาการรับสมัครกำลังพล (USARC) หน่วยงานของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่รับสมัครบุคลากรทางทหาร ประกาศเตือนว่า ข้อความดังกล่าวเป็น 'ข่าวปลอม' และไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับ USARC

เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเกณฑ์ทหารในสหรัฐฯ คือ Selective Service System ไม่เกี่ยวข้องกับ USARC และไม่อาจระบุได้ว่าข้อความดังกล่าวมีที่มาจากแหล่งใด และถูกส่งไปถึงผู้รับด้วยเหตุผลใด ขณะที่ The New York Times รายงานว่า ผู้ได้รับข้อความดังกล่าวบางรายไม่เข้าข่ายบุคคลที่ต้องไปรายงานตัวเข้าเกณฑ์ทหาร เพราะบางรายมีอายุเพียง 14 ปี และบางรายก็เป็นผู้หญิง 

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การบังคับเกณฑ์ทหารในสหรัฐฯ ถูกระงับไปตั้งแต่ปี 1973 แม้จะยังมีข้อกำหนดให้พลเมืองอเมริกันชายที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปีลงทะเบียนกับ Selective Service System เอาไว้ เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการเกณฑ์ทหารและเป็นกำลังสำรองให้กองทัพ แต่ปัจจุบัน ทหารทั้งหมดที่ประจำการในกองทัพสหรัฐฯ มาจากการสมัครเข้าฝึกอบรมและปฏิบัติหน้าที่ 'ด้วยความสมัครใจ'

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข่าวปลอมแอบอ้างกองทัพสหรัฐฯ แพร่กระจายไปสู่คนจำนวนมากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพราะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านทวีความตึงเครียดขึ้นยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา หลังสหรัฐฯ ใช้โดรนยิงสังหาร 'พลตรีกัสซิม โซเลมานี' ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ หน่วยรบสำคัญของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอเมริกัน 2 จุดในอิรัก จนตลาดหุ้นในหลายประเทศผันผวน เช่นเดียวกับการราคาทองคำและน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นระยะหนึ่ง

AFP-ทหารอเมริกันในอัฟกานิสถาน-ทรมาน-วอเตอร์บอร์ดดิง-ซีไอเอ-ธงสหรัฐฯ

หลายประเทศที่เป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ได้พยายามตีตัวออกห่างจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ทราบล่วงหน้าและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจสั่งการสังหารพลตรีกัสซิมของอิหร่าน

แม้แต่ 'เบนจามิน เนทันยาฮู' นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ก็ยังประกาศผ่านสื่อว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านรอบใหม่ "เป็นเรื่องของทั้งสองประเทศ" ซึ่งอิสราเอลจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายประเทศเกรงจะตกเป็นเป้าโจมตีของคู่ขัดแย้ง ขณะที่คนส่วนใหญ่ก็เกรงว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 


ปธน.สหรัฐฯ หนุน ภารกิจ 'รุกราน-แทรกแซง' ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา

สถาบันวิเคราะห์หลายแห่งระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านในครั้งนี้ เป็นความขัดแย้งทางทหารที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สหรัฐฯ นำกำลังบุกเข้ารุกรานอิรักเมื่อปี 2003 โดย Yahoo News รายงานอ้างอิงแถลงการณ์ของสถาบัน Academy Securities ระบุว่า อิหร่านจะต้องตอบโต้สหรัฐฯ อย่างจริงจังแน่นอน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้น 'อิรัก' ซึ่งถูกสหรัฐฯ ใช้เป็นที่ตั้งฐานทัพในหลายเมือง และมีการประท้วงรัฐบาลเกิดขึ้นต่อเนื่องหลายเดือนแล้ว

Eurasia Group ประเมินว่า โอกาสที่จะเกิด 'สงคราม' อยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ถึงขั้น 'สงครามโลกครั้งที่ 3' เพราะจะเป็นสงครามที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาค รวมถึงการพุ่งเป้าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมน้ำมันในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังอีกหลายประเทศทั่วโลก โดยคาดว่าเหตุการณ์ปะทะต่อสู้และการซุ่มโจมตีจากพันธมิตรของอิหร่านจะต่อเนื่องไปอีกนานหลายเดือน 

อย่างไรก็ตาม การเปิดฉากโจมตีอิหร่าน ภายใต้การนำของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากหลายฝ่าย แม้แต่ 'ชอน แฮนนิตี้' พิธีกรชื่อดังของ Fox News ที่สนับสนุนฝั่งรัฐบาลมาโดยตลอด ยังประกาศว่าสหรัฐฯ ไม่ควรเผชิญหน้ากับอิหร่าน ขณะที่พิธีกรและผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ ของฟ็อกซ์ เตือนว่า "การทำสงครามไม่ใช่ทางเลือกที่ดี"

หลังจากนั้น ทรัมป์ได้แถลงในวันที่ 8 ม.ค.ว่า สหรัฐฯ มีขีปนาวุธและยุทโธปกรณ์ที่ทรงพลัง รวดเร็ว และแม่นยำ แต่ "ไม่ต้องการใช้" เพราะคิดว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจก็น่าจะได้ผลมากพอที่จะกดดันอิหร่านให้เข้าสู่กระบวนการเจรจา

นอกจากนี้ การเปิดฉากโจมตีและจุดชนวนความขัดแย้งกับ 'ต่างประเทศ' ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ เพราะประธานาธิบดีแทบทุกคนในอดีต ล้วนเคยอนุมัติ 'ปฏิบัติการรุกราน' หรือ 'การแทรกแซงทางการทหาร' ในยุคสมัยของตัวเอง

โดยหลังจากสิ้นสุดยุคสงครามเย็นเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ปธน.สหรัฐฯ ทุกคนล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทหารในประเทศอื่นทั้งหมด 

AFP-จอร์จ เอช บุช ปธน.สหรัฐฯ คนที่ 41 คุยโทรศัพท์กรณีปฏิบัติการบุกคูเวตไล่ทหารอิรัก 1991.jpg

จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช -ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 41 

1989 - ปฏิบัติการ Just Cause ยึดอำนาจผู้นำเผด็จการปานามา

1990 - ปฏิบัติการ Operation Desert Shield และ Operation Desert Storm ที่คูเวต

ปีเดียวกับที่ 'กำแพงเบอร์ลิน' ถูกทำลาย และเป็นหมุดหมายแห่งการสิ้นสุดยุคสงครามเย็น รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช มีคำสั่งให้กำลังทหารอเมริกันเคลื่อนพลเข้าสู่ประเทศปานามาในวันที่ 20 ธ.ค.1989 โดยใช้ชื่อภารกิจว่า Operation Just Cause อ้างว่า "เป็นปฏิบัติการอันชอบธรรม" เพื่อขับไล่ผู้นำเผด็จการ 'มานูเอล นอริเอกา' ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ปี 1983 

ปฏิบัติดังกล่าวถูกวิจารณ์อยู่บ้าง เนื่องจากในช่วงแรกของการครองอำนาจ นอริเอกายังเป็น 'พันธมิตร' ของรัฐบาลสหรัฐฯ เพราะอนุญาตให้ทหารอเมริกันใช้ปานามาเป็นฐานปฏิบัติการสอดแนมและต่อต้านขบวนการฝ่ายซ้ายในนิคารากัว แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายได้ไม่นาน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็กล่าวว่า นอริเอกาพัวพันกับราชายาเสพติด 'ปาโบล เอสโคบาร์' ทั้งยังมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลโดยประชาชนจำนวนมาก สหรัฐฯ จึงใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างในการส่งทหารอเมริกันบุกยึดอำนาจจากนอริเอกา

ส่วนปี 1990 'ซัดดัม ฮุสเซน' ผู้นำอิรัก นำกำลังทหารรุกรานประเทศ 'คูเวต' และสหรัฐฯ ประกาศว่ากองทัพอเมริกันจะต้องนำกำลังเข้าปกป้องพลเมืองและทรัพย์สินของพันธมิตรสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการน้ำมันในคูเวต ซึ่งพันธมิตรสำคัญก็คือ 'ซาอุดีอาระเบีย' โดยสหรัฐฯ ได้ส่งทหารอเมริกันเข้าไปตรึงกำลังในคูเวตครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค.1990 ภายใต้ชื่อปฏิบัติการ Operation Desert Shield ก่อนจะยกระดับเป็นปฏิบัติการขับไล่ทหารอิรักในเดือน ม.ค.1991 โดยใช้ชื่อปฏิบัติการว่า Operation Desert Storm

ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้มีทหารอเมริกันเสียชีวิต 148 นาย และทหารอิรักเสียชีวิตราวพันนาย ทั้งยังเป็นปฏิบัติการทางทหารยุคแรกๆ ที่มีการรายงานข่าวผ่านสื่อใหญ่อย่าง CNN แทบจะ 24 ชั่วโมง แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าเป็นการขายความรุนแรงของสงครามเพื่อสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล

AFP-บิลและฮิลลารี คลินตัน ช่วงหาเสียงประธานาธิบดีสหรัฐฯ 1995.jpg

บิล คลินตัน - ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 42

1994 - ปฏิบัติการ Operation Uphold Democracy เพื่อรักษา 'ประชาธิปไตย' ในเฮติ

1995 - ปฏิบัติการ Operation Deliberate Force ในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

1998 - สั่งโจมตี 'อิรัก' ที่ไม่ยอมให้คณะตรวจสอบอาวุธของ UN เข้าประเทศ

หลังจากสิ้นสุดยุค 'จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช' จากพรรครีพับลิกัน ก็เป็นทีของ 'บิล คลินตัน' จากพรรคเดโมแครต ที่ได้รับเลือกเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยคะแนนนิยมอย่างสูง โดยคลินตันเข้ารับตำแหน่งในปี 1993 และมีคำสั่งให้กองทัพอเมริกันปฏิบัติภารกิจธำรงรักษาประชาธิปไตยเฮติในปี 1994 หลังจากที่ 'ฌอง แบร์ทรอง อริสตีด' ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ถูกกองทัพรัฐประหารยึดอำนาจ ปฏิบัติการครั้งนี้จึงมีชื่อว่า Operation Uphold Democracy

ต่อจากปฏิบัติการที่เฮติ กองทัพสหรัฐฯ ร่วมมือกับกองกำลัง NATO เพื่อตอบโต้กลุ่มเซิร์บ-บอสเนีย ซึ่งก่อเหตุรุนแรงด้วยการยิงปืนครกเข้าใส่ตลาดในกรุงซาราเจโว บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ในเดือน ส.ค.1995 ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 37 ราย และปฏิบัติการครั้งนี้กินเวลาเกือบ 1 เดือน และจบลงด้วยทำข้อตกลงเดย์ตันเพื่อสงบศึก

คลินตันได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกเป็นสมัยที่ 2 ในปี 1997 แต่เมื่อถึงปี 1998 เขาต้องเผชิญกับข่าวอื้อฉาวเพราะถูกเปิดโปงว่ามีความสัมพันธ์เกินเลยกับนักศึกษาฝึกงาน 'โมนิกา ลิววินสกี' นำไปสู่กระบวนการตั้งข้อหาถอดถอน และก่อนที่สภาผู้แทนจะยื่นเรื่องพิจารณาถอดถอนเพียง 1 วัน คลินตันก็ได้ออกคำสั่งให้กองทัพสหรัฐฯ ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอิรัก เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.1998 โดยให้เหตุผลว่าอิรักไม่ยอมอนุญาตให้ผู้ตรวจสอบด้านอาวุธของสหประชาชาติ (UN) เข้าไปเก็บข้อมูลภายในประเทศ

พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น โจมตีคลินตันว่าพยายามอ้างประเด็นอิรักขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชนไปจากการพิจารณาถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

แม้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะลงมติต้ังข้อหา 2 กระทงเพื่อถอดถอนคลินตัน คือ ประพฤติตนขัดต่อคำสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และขัดขวางกระบวนการไต่สวน แต่เขายังมีคะแนนนิยมมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และท้ายที่สุด วุฒิสภาได้ลงมติให้คลินตันพ้นจากข้อกล่าวหาถอดถอนของสภาผู้แทนฯ ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ

AFP-จอร์จ ดับเบิลยู บุช กับทหารอเมริกัน Geurge W Bush.jpg

จอร์จ ดับเบิลยู บุช - ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 43

2001 - ประกาศ 'สงครามต่อต้านก่อการร้าย' และส่งทหารเข้ารุกราน 'อัฟกานิสถาน'

2003 - ปฏิบัติการรุกรานอิรัก เพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่าอิรักมีอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูง (Weapon of Mass Destruction - WMD) แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่พบอะไร

'จอร์จ ดับเบิลยู บุช' เป็นบุตรชายของจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช แต่เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีผู้จดจำได้มากที่สุดจากการประกาศ 'สงครามต่อต้านก่อการร้าย' (War on Terror) ซึ่งเป็นการตอบโต้กลุ่มก่อการร้าย 'อัลกออิดะห์' ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อวินาศกรรมวันที่ 11 ก.ย. 2001 ในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 2,977 ราย

คำกล่าวของบุชที่เรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องตัดสินใจว่าจะ 'อยู่ข้างสหรัฐฯ' หรือ 'อยู่ข้างกลุ่มก่อการร้าย' ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการขู่ให้แต่ละประเทศ 'เลือกข้าง' และเป็นการใช้ถ้อยคำเกินเลยเพื่อยุยงหวังผลทางการเมือง

ปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกในสมัยบุช คือ ปฏิบัติการ Operation Enduring Freedom โดยนำกำลังทหารรุกรานอัฟกานิสถานในเดือน ต.ค.2001 เพื่อตามล่าตัว 'โอซามา บินลาดิน' ผู้นำสูงสุดของกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ อ้างว่ากบดานอยู่ในอัฟกานิสถาน จึงมีการเปิดฉากโจมตีทางอากาศและทางบกเพื่อทำลายฐานที่มั่นและฐานฝึกอาวุธของกลุ่มตอลิบันและอัลกออิดะห์อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายไม่ได้หยุดแค่ 'อัฟกานิสถาน' เพราะบุชได้ประกาศรุกรานอิรักเป็นประเทศที่ 2 ในปี 2003 โดยอ้างว่า 'ซัดดัม ฮุสเซน' ผู้นำเผด็จการของอิรัก กำลังพัฒนา หรืออาจจะมี 'อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง' (WMD) อยู่ในครอบครอง และสหรัฐฯ ทำให้ซัดดัม ฮุสเซน ถูกขับไล่ ต้องหลบหนีการตามล่าของทหารอเมริกัน แต่ในที่สุดก็ถูกจับกุมได้ในเดือน ธ.ค.2003 และถูกตัดสินประหารชีวิตที่กรุงแบกแดดของอิรักเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2006 ในข้อหา 'ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ'

กองกำลังทหารอเมริกันยังคงประจำการในอิรักต่อมาอีกนานหลายปี แต่ 'อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง' (WMD) ที่สหรัฐฯ เคยอ้างว่าอิรักกำลังพัฒนาหรือครอบครองนั้นก็ 'ไม่มีอยู่จริง' และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ก็ยอมรับทีหลังว่าซัดดัม ฮุสเซน ไม่ได้พัฒนา WMD รวมถึงอาวุธชีวเคมีอื่นๆ ตามที่เคยมีรายงานก่อนหน้านี้

AP-บารัก-โอบามา-Barack-Obama

บารัก โอบามา - ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44

2011 - ปฏิบัติการสังหาร 'โอซามา บินลาดิน' ผู้นำอัลกออิดะห์ ที่ซ่อนตัวในปากีสถาน

2011 - การใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงในสงครามกลางเมืองลิเบีย

2012 - ภารกิจฝึกอบรมและติดอาวุธกลุ่มกบฎซีเรียราว 10,000 คนที่ต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด แห่งซีเรีย

2016 - ภารกิจแทรกแซงสงครามกลางเมืองซีเรีย

แม้ว่า 'บารัก โอบามา' จะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ไม่ได้ประกาศสงครามในสมัยของตัวเอง แต่ก็ยังสานต่อภารกิจทางทหารที่เริ่มขึ้นในสมัยของประธานาธิบดีบุชนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2009 และปฏิบัติการสังหารโอซามา บินลาดิน ผู้นำอัลกออิดะห์ เกิดขึ้นช่วงกลางสมัยของรัฐบาลโอบามา เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2011

หลังจากปฏิบัติการสังหารบินลาดิน โอบามายังอนุมัติให้ส่งกำลังทหารอเมริกันเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองที่ประเทศลิเบีย ทำให้ผู้นำเผด็จการ 'มูอัมมาร์ กัดดาฟี' ถูกขับไล่พ้นจากตำแหน่ง แต่ก็ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทางการทูตของสหรัฐฯ เสียชีวิต กระทบต่อความนิยมของโอบามา แม้เขาจะยังได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 แต่ก็ยอมรับภายหลังว่า ภารกิจที่ลิเบียนั้นเป็น 'ความผิดพลาดร้ายแรงที่สุด' ในวาระการดำรงตำแหน่งของตัวเอง

โอบามาไม่ได้มีภาพลักษณ์ความเป็น 'สายเหยี่ยว' และนิยมเจรจาทางการทูต แต่ช่วงที่กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง เขาก็ไม่สามารถถอนทหารอเมริกันจากสมรภูมิต่างแดนได้ทั้งหมดตามที่เคยหาเสียงเอาไว้

แม้จะมีการถอนทหารอเมริกันจากอัฟกานิสถานและอิรัก แต่ก็ยังมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปฝึกอบรมและติดอาวุธกลุ่มกบฎซีเรียกว่า 10,000 คนที่ต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด แห่งซีเรียเพิ่มเติม รวมถึงส่งกำลังทหารไปปฏิบัติภารกิจ 'แทรกแซง' สงครามกลางเมืองซีเรียในปี 2016 อีกด้วย

AFP-โดนัลด์ ทรัมป์-รถถังอเมริกัน.jpg

โดนัลด์ ทรัมป์ - ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 44

2017 - คำสั่งยิงโจมตีฐานทัพซีเรีย และทิ้งระเบิด MOAB ที่อัฟกานิสถาน

2020 - การสังหารผู้นำกองกำลังกุดส์ของอิหร่าน

หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 1 เดือน ทรัมป์ออกคำสั่งโจมตีทางการทหาร โดยให้เรือรบสหรัฐฯ ยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพเชย์รัตในซีเรีย รวมถึงออกคำสั่งให้ทิ้งระเบิด 'Mother of all Bomb' หรือ MOAB ในอัฟกานิสถาน เพื่อป้องปรามการก่อการร้าย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจประธานาธิบดีโดยตรง ทำให้สื่ออเมริกันระบุว่า ทรัมป์ต้องการแสดงแสนยานุภาพทางทหารในสมัยที่ตนเองดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี

ต่อจากปฏิบัติการทางทหาร รัฐบาลทรัมป์มุ่งเน้นนโยบายด้านการค้า นำไปสู่การบังคับใช้มาตรการกีดกันด้านภาษีนำเข้า-ส่งออก และ 'สงครามการค้า' กับจีน แต่ก็พยายามผลักดันการเจรจากับเกาหลีเหนือเพื่อนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีด้วย

ปี 2019 ที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดขึ้นใหม่ในประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย เพราะในขณะที่ทรัมป์สั่งยกเลิกข้อตกลงและพยายามคว่ำบาตรอิหร่านเพิ่มเติม แต่รัฐบาลของเขายังสนับสนุนอิสราเอลในหลายด้าน ไมว่าจะเป็นการรับรองกรุงเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลเมื่อปีก่อนหน้า และการประกาศรับรองนิคมชาวอิสราเอลที่เข้าไปก่อตั้งในเขตปาเลสไตน์ว่า 'มีความชอบธรรม' ก็ยิ่งเป็นการท้าทายอิหร่านที่เป็นประเทศทรงอิทธิพลในภูมิภาคยิ่งขึ้น

จนกระทั่งทรัมป์มีคำสั่งให้สังหาร 'พลตรีกัสซิม โซเลมานี' ผู้นำกองกำลังกุดส์เมื่อต้นเดือน ม.ค.2020 ที่ผ่านมา ทำให้ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศไม่มีทีท่าจะผ่อนลงได้ง่ายๆ แต่ก็สอดคล้องกับช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย.2020 ที่จะถึง ซึ่งทรัมป์ก็ประกาศไว้แล้วว่าเขาจะลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย

ล่าสุด ทรัมป์นำประเด็นการสังหารนายพลอิหร่านไปกล่าวอ้างในการหาเสียงครั้งแรกที่โอไฮโอ และนักวิเคราะห์ประเมินว่า ในระยะเวลาหลายเดือนต่อจากนี้ จะเป็นช่วงที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแต่ละคนต้องเร่งสร้างคะแนนนิยมกันอย่างเต็มที่

ที่มา: CNN/ New York Times/ NPR/ Reuters/ Task and Purpose/ Yahoo News

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: