ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ดบีโอไอไฟเขียวออกใบส่งเสริม 4 โครงการใหญ่ มูลค่า 2.8 หมื่นล้าน พร้อมอนุมัติมาตรการเร่งรัดลงทุน ประกาศพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็น 1 ใน 4 เมืองต้นแบบให้สิทธิประโยชน์จูงใจลงทุนเชื่อมเศรษฐกิจชายแดนใต้กับเพื่อนบ้าน

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2562 ได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่ 4 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 28,270 ล้านบาท ประกอบด้วย 

หนึ่ง กิจการผลิต Polycarbonate Resin (โพลีคาร์โบเนต เรซิน) ให้การส่งเสริมแก่ น.ส.ณศิภัสร์ จิระโอฬารวิชญ์ เงินลงทุน 18,476 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทย ญี่ปุ่น และไต้หวัน เพื่อผลิตโพลีคาร์บอเนต ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ 

สอง บริษัท เทคโนโลยี แอสเซ็ทส์ จำกัด เป็น กิจการดาต้าเซ็นเตอร์ เงินลงทุน 4,450 ล้านบาท โครงการ ร่วมทุนระหว่างไทยและสิงคโปร์ ให้บริการ Data Center ประกอบด้วยบริการรับฝากวางคอมพิวเตอร์แม่ข่าย บริการดูแลระบบ และบริการพื้นที่ทำงานสำรองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน 

สาม บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ลงทุนผลิตโมโนโซเดียมกลูตาเมตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เงินลงทุน 2,750 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น 

สี่ ผู้ได้รับการส่งเสริมนายเจียง ยง หมิง (Jiang Yong Ming) ทำกิจการผลิตชิ้นส่วนผงโลหะอัดขึ้นรูป ซึ่งจัดเป็นวัสดุขั้นสูง เงินลงทุน 2,594 ล้านบาท

รับสิทธิประโยชน์ตามแพคเกจ 'ไทยแลนด์พลัส'

เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการไทยแลนด์พลัส แพคเกจที่ผ่านการเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาแล้วและอยู่ในอำนาจของบอร์ดบีโอไอต้องอนุมัติ และออกประกาศให้มีผลใช้บังคับ ประกอบด้วยมาตรการ 2 ด้าน 

มาตรการแรก ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดการลงทุน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและกระตุ้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยกำหนดให้กิจการเป้าหมายในกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 – 8 ปี ที่ตั้งนอกกรุงเทพมหานคร ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี ด้วย ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2563 และต้องมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564

มาตรการที่สอง เพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างความพร้อมด้านกำลังคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน บอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบข้อเสนอมาตรการในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการอบรมพนักงานและมีส่วนรวมในการพัฒนานักศึกษาก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการจัดตั้งสถานฝึกฝนวิชาชีพ/สถาบันการศึกษาในสาขาด้านวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม (STEM) ระดับสูง 

โดยแบ่งเป็น 2 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการฝึกอบรม ให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรไปรวมคำนวณในวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยไม่กำหนดเงื่อนไขค่าใช้จ่ายขั้นต่ำใน 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 กรณีผู้ประกอบการจัดฝึกอบรมหรือฝึกงานเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่นักศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในรูปแบบทวิภาคี สหกิจศึกษา หรือ Work-Integrated Learning จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 เท่าของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม

กรณีที่ 2 กรณีผู้ประกอบการจัดฝึกอบรมหรือส่งพนักงานไปอบรมหลักสูตรด้านเทคโนโลยีที่เป็นเป้าหมายและได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สำหรับสถานศึกษาในพื้นที่ EEC จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าของเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมภายในปี 2564 และก่อนสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของโครงการ

2.มาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนาบุคลากรทักษะสูงโดยภาคเอกชน ผู้ประกอบการ (บริษัทแม่) ที่ดำเนินธุรกิจอื่นซึ่งไม่ใช่สถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรม หากลงทุนจัดตั้งสถานศึกษา หรือสถานฝึกฝนอาชีพ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาด้าน STEM ระดับสูง และได้รับการเห็นชอบจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี ในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนที่ใช้ลงทุนตั้งสถาบันฯ ส่วนสถาบันฝึกฝนอาชีพ หรือสถาบันการศึกษาที่ตั้งขึ้น ให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ทั้งนี้ต้องยื่นขอรับส่งเสริมภายในปี 2564 และผู้ยื่นคำขอรับการส่งเสริมจะต้องเป็นกิจการที่อยู่ในประเภทที่บีโอไอให้การส่งเสริมในปัจจุบัน

'อนุมัติ' อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบเชื่อมเศรษฐกิจชายแดนใต้

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า บอร์ดบีโอไอยังอนุมัติให้ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นเมืองต้นแบบแห่งที่ 4 ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้กับประเทศเพื่อนบ้านเช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ จากเดิมที่มีอยู่ 3 พื้นที่คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.เบตง จ.ยะลา และอ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับ 3 แห่งแรก คือ คือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี สำหรับโครงการใหม่ และ 5 ปี สำหรับโครงการเดิม และข้อผ่อนปรนเป็นพิเศษอื่นๆ ที่แตกต่างจากพื้นที่ทั่วไป เช่น ลดหย่อนอากรขาเข้าร้อยละ 90 ของอัตราปกติ สำหรับวัตถุดิบ หรือวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เป็นระยะเวลา 10 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :