ไม่พบผลการค้นหา
ซีอีโอ Minds ปรับระบบ เพิ่มโหมดแปลภาษา ต้อนรับชาวไทยจำนวนมากที่สมัครเข้าใช้งานช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้ใช้บางรายย้ายไปจาก 'ทวิตเตอร์' เพราะไม่พอใจนโยบายแบ่งปันข้อมูลกับ 'พาร์ตเนอร์ธุรกิจ' หวั่นเปิดช่องให้สอดแนม

Minds คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่อธิบายตัวเองว่า "เป็นพื้นที่สำหรับการสนทนาที่เปิดกว้างและนำพาผู้คนมารวมกัน" รวมถึง "เปิดกว้างทางความคิด" และย้ำว่า "ผู้ผลิตเนื้อหาออนไลน์จะต้องได้รับค่าตอบแทน"

ส่วนประเด็นสำคัญที่เป็นหัวใจของการก่อตั้ง Minds คือ ผู้ใช้งานมีอำนาจควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ของตัวเอง

ขณะที่รูปแบบการแสดงผล คล้ายคลึงกับอินสตาแกรม ผสมกับทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก เพราะสามารถโพสต์ได้ทั้งข้อความขนาดยาว รูปภาพ วิดีโอ และมีพื้นที่สำหรับเขียนบล็อก รวมถึงมีระบบแฮชแท็กแสดงความนิยมของประเด็นที่เป็นกระแสร้อนแรงในแต่ละช่วง

บิล ออตมัน ผู้ร่วมก่อตั้ง Minds เผยแพร่ข้อความผ่านบัญชีมายด์สของตัวเองเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า มายด์สกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากคนไทยที่กำลังแสวงหาเสรีภาพด้านอินเทอร์เน็ต ทั้งยังกล่าวต้อนรับคนไทยด้วยการติดแฮชแท็ก #mindsth

97995521_618618665391925_5889708822171222016_n (1).jpg

ช่วงเช้าวันที่ 20 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ออตมันได้เผยแพร่ข้อความเพิ่มเติมว่าระบบกำลังปรับปรุงให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และฟังก์ชันแปลภาษากำลังจะตามมาในเร็วๆ นี้ พร้อมติดแฮชแท็ก #mindsth สื่อสารกับผู้ใช้มายด์สจากไทย เพราะในช่วงแรกที่มีผู้ใช้งานจากไทยเพิ่มขึ้น ระบบของมายด์สถึงกับล่มไปพักใหญ่

97806573_605393053396764_8000308631062970368_n.jpg

ส่วนแฮชแท็ก #mindsth ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้งานหน้าใหม่ในเครือข่ายมายด์ส โดยมีผู้ติดแฮชแท็กดังกล่าว 6,787 ครั้งเมื่อเวลา 22:50 น.วันที่ 21 พ.ค.2563 ในประเทศไทย โดยผู้ใช้เหล่านี้ได้เผยแพร่ข้อความเป็นภาษาไทย ระบุว่า เป็นการย้ายจากทวิตเตอร์มาลองใช้งานเครือข่ายมายด์ส มีจุดมุ่งหมายหลักคือการสื่อสารอย่างมีเสรีภาพ

บีบีซีไทยรายงานว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทวิตเตอร์ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใช้งานเกิดจาก 'นโยบายความเป็นส่วนตัว' ซึ่งทวิตเตอร์แจ้งว่าจะแบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้เพิ่มเติมให้แก่ 'พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ' เพื่อปรับปรุงด้านโฆษณา

แม้ทวิตเตอร์ย้ำว่าจะไม่มีการแชร์ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ อีเมล เบอร์โทร หรือชื่อบัญชีผู้ใช้งาน แต่ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากไม่แน่ใจ เพราะเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ทวิตเตอร์ได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อจัดการข้อมูลข่าวสารในสื่อออนไลน์ที่เห็นว่าเป็นข้อมูลเท็จหรือข่าวปลอม

ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งจึงกังวลว่า ความร่วมมือดังกล่าวอาจเป็นความพยายามของรัฐที่จะเข้ามาสอดส่องการใช้ทวิตเตอร์เพื่อแสดงความคิดเห็นในด้านต่างๆ เพราะที่ผ่านมา เคยมีกรณีของผู้ใช้ทวิตเตอร์ @นิรนาม ถูกจับกุมเมื่อเดือน ก.พ.จากการทวีตภาพซึ่งเจ้าหน้าที่ของไทยแจ้งว่าผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

Minds-1.jpg
  • ผู้ใช้ Minds จากประเทศไทย แสดงความเห็นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์แห่งใหม่
Minds-2.jpg

จุดแข็งของ Minds คือ เสรีภาพในการแสดงออก

Minds ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 และขณะนี้มีผู้ใช้งานทั่วโลกประมาณ 2 ล้านคน ต่างจากทวิตเตอร์ที่มีผู้ใช้งานกว่า 152 ล้านคนทั่วโลก โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยมีประมาณ 7.5 ล้านคน (จากการสำรวจของเว็บไซต์ statista ในเดือน เม.ย.2563)

อย่างไรก็ตาม Minds เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นมากในปี 2561 ที่ 'เฟซบุ๊ก' เครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งมีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ตกเป็นข่าวอื้อฉาวว่าอนุญาตให้คู่ค้าทางธุรกิจเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กโดยไม่แจ้งให้ทราบ ทั้งยังนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ รวมถึงนำไปใช้ในการโฆษณาข้อมูลบิดเบือนหวังผลทางการเมือง กรณีของผู้ใช้ทวิตเตอร์ในไทยจึงต้องจับตามองมากขึ้นว่าจะเพิ่มยอดให้กับเครือข่ายแห่งนี้ได้หรือไม่

เว็บไซต์ Techcrunch เคยรายงานถึง Minds โดยระบุว่า ความมุ่งมั่นของบิล ออตมัน และมาร์ก ฮาร์ดดิง ผู้ร่วมก่อตั้ง คือ 'การกระจายอำนาจ' ในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ให้ผู้ใช้สามารถควบคุมและกำหนดข้อมูลที่จะเผยแพร่ได้ด้วยตัวเอง เพราะออตมันและฮาร์ดดิงไม่เห็นด้วยกับการปล่อยให้ big tech หรือบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลผ่านระบบอัลกอริทึม และไม่พอใจการเก็บข้อมูลบิ๊กดาต้า

ออตมันระบุด้วยว่า เขามีเว็บไซต์สารานุกรมเสรี Wikipedia เป็นต้นแบบ เพราะต้องการให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีส่วนร่วมในการผลิตข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง และใช้ระบบตรวจสอบกำกับดูแลกันเองในเครือข่าย แม้แต่โค้ดต่างๆ ที่ใช้กับระบบปฏิบัติการของ Minds ก็เป็นแบบโอเพนซอร์ส และไม่กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ใช้ต้องระบุตัวตนหรือให้ข้อมูลส่วนตัวกับทางระบบ

อย่างไรก็ตาม Minds เคยถูก Vice วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ต่อต้านเฟซบุ๊ก จึงเปิดกว้างเรื่องการแสดงความคิดเห็นมากเกินไป ทำให้มีกลุ่มสุดโต่งที่แสดงความเห็นเหยียดเชื้อชาติหรือสนับสนุนก่อการร้ายเข้าไปรวมตัวกันเผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงก่อให้เกิดความเกลียดชัง และระบบก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร

ภายหลัง ออตมันและทีมงานได้ปรับปรุงระบบตรวจสอบและแจ้งเตือน รวมถึงระงับข้อมูลที่เข้าข่ายการบิดเบือนและละเมิดกฎของชุมชน โดย Fox News รายงานว่ามายด์สเปลี่ยนไปใช้ระบบตรวจสอบข้อมูลแบบเดียวกับการคัดเลือก 'คณะลูกขุน' พิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา

ระบบตรวจสอบและคัดกรองเนื้อหาของ Minds อนุญาตให้ผู้ใช้งาน 'ติดธง' หรือแจ้งเตือนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และระบบจะคัดเลือกผู้ใช้งานคนอื่นๆ 12 คน หรือคณะลูกขุน ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ถูกติดธงนั้น และให้คณะลูกขุนร่วมกันพิจารณาว่าเนื้อหาดังกล่าวสมควรถูกระงับหรือให้เผยแพร่ต่อได้ โดยเขาระบุว่า ผู้ใช้งานที่เป็นคนจริงๆ มีความหลากหลายที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องนี้ได้ดีกว่าการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: