ไม่พบผลการค้นหา
'ชัชชาติ' สำรวจปัญหาชุมชนใจกลางเมือง แนะ กทม.ต้องเป็นโซ่ข้อกลางยกระดับชีวิตกลุ่มเปราะบาง ขอร้องคนกรีดป้ายผู้สมัครผู้ว่าฯ อย่าทำ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 8 ในนามอิสระ เดินทางลงพื้นที่หาเสียงในพื้นที่เขตวัฒนาและปทุมวัน ภายในชุมชนมาชิม เฉลิมอนุศรณ์ และรื่นฤดี โดยชุมชนเหล่านี้อยู่ใต้ทางด่วนใจกลางเมือง มีคลองแสนแสบตัดผ่าน ด้าน ชัชชาติ ยังทำการสำรวจโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ รอบชุมชนด้วย

ชัชชาติ กล่าวว่า การมาลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นตัวอย่างของชุมชนที่อยู่ใจกลางเมือง แต่คนกลับมองไม่เห็น เป็นชุมชนแออัดที่กระจายอยู่ทั่ว กทม. รวมแล้วกว่า 900 หลังคาเรือน มีประชาชนอาศัยอยู่มากกว่า 100,000 คน มองว่า คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบาง แต่เป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนเมือง เช่น แม่บ้านภายในห้างสรรพสินค้า พนักงานในร้านค้าต่างๆ จากการลงพื้นที่เห็นได้ชัดว่าปัญหาอันดับหนึ่งคือเรื่องเศรษฐกิจ มีคนตกงานจำนวนมาก แม้แต่ประธานชุมชนต้องเปลี่ยนอาชีพมาขายลอตเตอรี่แทน ซึ่งตนตั้งคำถามว่า กทม.สามารถช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ในแง่ของการสร้างงาน มองว่า กทม. สามารถเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมต่อโอกาสและประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ชัชชาติ.jpg

ชัชชาติ บอกอีกว่า เห็นเด็กเล็กหลายคนวิ่งเล่นริมทางรถไฟ มองว่าไม่มีสุขลักษณะที่ดี หากมีสวนขนาดเล็กให้เด็กเล่น อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กเหล่านี้ได้ มองว่าเป็นการสูญเสีย ช่วงเวลาที่ดีสำหรับชีวิตของเด็กๆ ดังนั้น กทม. ต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลง

สำหรับเรื่องที่อยู่อาศัยในชุมชน ชัชชาติ กล่าวว่า มีหลายชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียน แม้ กทม. จะไม่มีหน้าที่โดยตรงเรื่องการจัดการที่อยู่อาศัย แต่สามารถร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.ได้

เมื่อถามว่าหากเป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้ว มั่นใจว่าจะเอายกระดับชีวิตของชาวบ้านได้หรือไม่ ชัชชาติ ตอบว่า ตั้งแต่ที่สังเกตมา กทม. ไม่ได้คิดว่าเป็นอำนาจหน้าที่ เพราะงานส่วนนี้เป็นของ พม. แต่ที่จริงแล้วมองว่า กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพ พร้อมระบุว่า “มันง่ายที่จะไม่คิดถึงเขา แต่ถ้าเราคิดถึงเขา มันจะสามารถเปลี่ยนชีวิตเขาได้” ที่สำคัญคือต้องช่วยเหลือในแง่ของการให้ความรู้ให้ชาวบ้านสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

ชัชชาติ.jpg

ชัชชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่าประชาชนในชุมชนค่อนข้างเก่ง ที่สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยทรัพยากรที่จำกัด อย่างชุมชนก่อนหน้าที่เพิ่งลงพื้นที่ ตนได้พบกับเด็ก ม. 4 ซึ่งขายของอยู่ริมทางรถไฟ ต้องช่วยพ่อแม่ ในขณะเรียนหนังสือได้ที่ 2 เกรดเฉลี่ย 3.96 มองว่า นวัตกรรมต่างๆที่นำมาช่วยเหลือ มาจากนวัตกรรมชีวิตในการหาทางรอด รอเพียงแค่ภาครัฐมาช่วยเหลือ อาจจะไม่ได้ดีขึ้น 100% แต่เชื่อว่าสามารถพัฒนาได้

เมื่อถามว่าหากได้มาเป็น ผู้ว่าฯ กทม. จะสามารถพัฒนาชีวิตของคนในชุมชนได้กี่เปอร์เซ็นต์ ชัชชาติ ระบุว่าตอบยาก แต่เชื่อว่าจะมีการพัฒนาขึ้นในด้านใดด้านหนึ่งแน่นอน

ต่อกรณีที่ขณะนี้มีป้ายของผู้สมัครบางคนถูกกรีดและทำลาย หวั่นใจหรือไม่ที่จะโดนเช่นเดียวกัน ชัชชาติตอบว่า ตนก็เห็นเหมือนกัน ไม่แน่ใจว่าเป็นการเมืองหรือไม่ ซึ่งบริเวณนั้นเป็นแหล่งกลางคืน อาจจะมีคนเดินผ่านไปมาเยอะ ส่วนของตนไม่โดน เนื่องจากไม่มีป้าย ขอเตือนคนที่ทำว่าอย่าทำเลย กทม. มีกล้อง CCTV อยู่ หากเอาจริงน่าจะตรวจสอบได้ว่าใครทำ มองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น การไปกรีดป้ายไม่ใช่เป็นการแก้ที่ต้นเหตุ แนะนำให้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ดีกว่า

ชัชชาติ.jpg