ไม่พบผลการค้นหา
ชาวกรุงเทพมหานครกำลังจะได้เลือกผู้ว่าราชการเป็นของตนเองในวันที่ 22 พ.ค.นี้ หลังจากที่เมืองหลวงของประเทศไทยได้สัมผัสกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการล่าสุดเมื่อปี 2556 หรือ 8 ปีที่แล้ว สร้างโจทย์ครั้งใหญ่ต่อผู้ลงท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ในการเข้ามาชำระสะสางปัญหาที่หมักหมมมานานกว่าเกือบทศวรรษ

การบริหารจังหวัดหรือเขตการปกครองในโลกยุคปัจจุบัน มีความจำเป็นอยู่มากที่ผู้บริหารต้องมีความยึดโยงกับประชาชน และสิ่งที่จะตอบโจทย์การบริหารเมืองได้ ย่อมมาจากการเลือกตั้งเพื่อหาตัวแทนของประชาชน ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารงาน วอยซ์ จึงอยากพาคุณไปสำรวจผู้ว่า ‘เมืองอื่น’ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน พร้อมสำรวจนโยบายของพวกเขาเหล่านั้นว่าตอบโจทย์กับเมืองที่มีผู้อาศัยอยู่นั้นๆ อย่างไร

276090997_690694528908795_6380115823445337943_n.jpg



โคอิเกะ ยูริโกะ ผู้ว่าราชการโตเกียว กับความเท่าเทียมทางเพศ

โคอิเกะ ยูริโกะ (Koike Yuriko) เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการโตเกียวในสมัยที่สองเมื่อปี 2563 โดยเธอเป็นผู้ว่าราชการหญิงคนแรกของโตเกียวตลอดประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะตั้งแต่โตเกียวมีการจัดการเลือกผู้ว่าราชการตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา

สำหรับประวัติส่วนตัวของโคอิเกะ เธอจบการศึกษาจากคณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยอเมริกัน ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ด้วยระดับการเรียนดีเด่น เมื่อปี 2519 ก่อนลงสนามการเมืองและได้รับเลือกตั้งเข้ารัฐสภาญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2536-2559

AFP - โคอิเกะ ยูริโกะ ผู้ว่าราชการ โตเกียว

ก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นเจอกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 แต่โคอิเกะเองที่เคยเป็นรัฐมนตรีสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ก่อนลงเป็นผู้ว่าราชการโตเกียวแบบไร้สังกัด กลับได้รับคะแนนไว้วางใจกว่า 3.6 ล้านคะแนนที่เลือกให้เธอกลับมาบริหารงานโตเกียวต่อ

ในปี 2564 โตเกียวเพิ่งได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 หลังจากถูกเลื่อนมานานเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ มีคำวิจารณ์จำนวนมากจากประชาชนว่าญี่ปุ่นควรยกเลิกการจัดการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลและผู้ว่าราชการโตเกียวตัดสินใจที่จะเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อ จนสำเร็จลุล่วงมาได้ดี ภายใต้ธีมงานที่โตเกียวพยายามชูเรื่องความหลากหลายทางเพศขึ้นมาพูดถึง ทั้งๆ ที่สังคมญี่ปุ่นมีความเป็นอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง

นอกจากนี้แล้ว โคอิเกะยังพยายามเร่งจัดทำกฎหมายในโตเกียว เพื่อรองรับสถานะของคู่ชีวิตเพศเดียวกัน หลังจากที่ศาลในญี่ปุ่นชี้ว่า การที่หน่วยงานราชการไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้นั้น เป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น โตเกียวจึงได้นำแนวทางของศาลมาเพื่อหาวิธีการจัดทำกฎหมายรับรองคู่รักเพศเดียวกัน เพื่อปูทางและเป็นแบบอย่างของรัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆ ในประเด็นการรับรองสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของประชาชน

โคอิเกะยังได้ตั้งเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านจาก โตเกียว 2.0 ไปสู่โตเกียวในฐานะจุดหมายปลายทางของคนทั่วโลก หลังเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตกต่ำลงมาหลายทศวรรษ โคอิเกะเสนอการปฏิรูปโตเกียวเพื่อกลุ่มคนเปราะบาง และส่งเสริมให้ชาวโตเกียวสามารถแสดงประสิทธิภาพของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีในโตเกียวเอง


ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีลอนดอน กับการเตรียมฟื้นเมืองหลังโควิด

ซาดิก ข่าน (Sadiq Khan) นายกเทศมนตรีมุสลิมคนแรกของลอนดอนภายใต้สังกัดพรรคแรงงานของสหราชอาณาจักร ข่านเป็นลูกของชาวมุสลิมอพยพจากปากีสถาน เขาเติบโตมากับความยากจน ก่อนลงสนามการเมืองสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

ข่านจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทลอนดอน ข่านระบุว่าเขาเติบโตมากับการเห็นพ่อแม่ทำงานอย่างหนัก เพื่อส่งเงินกลับไปช่วยเหลือญาติที่ยังคงอาศัยอยู่ในปากีสถาน ทำให้ข่านรู้สึกว่า เขา “ได้รับคำอวยพรที่ได้มาอาศัยอยู่ในประเทศแห่งนี้(สหราชอาณาจักร)” โดยตลอดช่วงการเติบโตมาของข่าน เขาระบุว่าตนเองประสบกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติมาโดยตลอด ก่อนที่เขาจะชนะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีลอนดอน เมืองหลวงของอังกฤษตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา

AFP - ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรี ลอนดอน

เมื่อปีก่อน ข่านเพิ่งได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกเทศมนตรีของลอนดอนอีกครั้ง โดยข่านตั้งเป้าหมายสมัยที่สองของการเป็นนายกเทศมนตรีของเขาว่า เขาจะทำให้ลอนดอน “เขียวขึ้น เป็นธรรมขึ้น และปลอดภัยขึ้น” เพื่อให้ลอนดอนฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยข่านกำลังปรับปรุงย่านคนเดินในลอนดอน และการเพิ่มอัตราการจ้างงานในเมืองหลวงของสหราชอาณาจักรแห่งนี้ด้วย

ก่อนหน้านี้ ลอนดอนประสบกับปัญหาคนไร้บ้านอย่างหนัก โดยตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีลอนดอน ข่านได้เพิ่มงบประมาณอุดหนุนการเข้าถึงการเช่าบ้านใหม่ เพื่อทำให้คนไร้บ้านสามารถเช่าบ้านอยู่ได้ การลดปัญหาคนไร้บ้านจะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในลอนดอนเบาบางลงได้ในอีกทางหนึ่ง หลังจากเคยมีคนไร้บ้านนอนเสียชีวิตบริเวณหน้ารัฐสภาของลอนดอนมาแล้ว

ข่านอนุมัติงบประมาณกว่า 544 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท) เพื่อวางแผนด้านการจัดการด้านการลงทุน สำหรับการสร้างงานและการฟื้นฟูเมือง โดยเฉพาะการนำเงินไปชดเชยให้แก่ประชาชนชาวลอนดอนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด

ข่านยังได้จัดงานประชุมสูงสุดด้านการฟื้นฟูเมือง เพื่อนำผู้นำ ชุมชน และแพลตฟอร์มการระดมทุนด้านต่างๆ ในลอนดอนมาหารือกัน ในการจัดทำแนวทางการฟื้นฟูลอนดอนหลังการระบาดของโควิด-19 ทั้งทางด้านสาธารณสุข ศาสนา การศึกษา สาธารณภัย ตำรวจ และการค้าของลอนดอน


เคธี โฮชู ผู้ว่าราชการนิวยอร์ก กับปัญหาเฉพาะหน้า

เคธี โฮชู (Kathy Hochul) เป็นผู้ว่าราชการเมืองนิวยอร์กหญิงคนแรก จากประวัติศาสตร์การมีผู้ว่าราชการของนิวยอร์กตลอด 2 ศตวรรษที่ผ่านมาของสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี โฮชูขึ้นมาเป็นผู้ว่าราชการนิวยอร์กหลัง แอนดรูว์ คัวโม อดีตผู้ว่าราชการนิวยอร์กลาออก จากเรื่องอื้อฉาวการล่วงละเมิดทางเพศต่อหญิง 11 ราย

โฮชูจบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ในนิวยอร์ก เมื่อปี 2523 และปริญญาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยคาทอลิกโคลัมบัสในปี 2527 โฮชูเป็นผู้ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนนักศึกษา เธอเคยประท้วงระบบแบ่งแยกสีผิวของแอฟริกา (apartheid) อีกด้วย

AFP - เคธี โฮชู ผู้ว่าราชการ นิวยอร์ก

ก่อนการลาออกของคัวโม โฮชูดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการนิวยอร์ก สังกัดพรรคเคโมแครต โดยโฮชูมีบทบาทในการเป็นประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจ 11 แห่ง ที่ลงทุนอยู่ในโครงการต่างๆ ทั่วมลรัฐนิวยอร์ก นอกจากนี้ โฮชูยังมีบทบาทในการต่อสู้ประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศในผู้หญิงตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา

ก่อนหน้านี้ นิวยอร์กเป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่มีการบังคับมาตการโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา โฮชูได้ประกาศให้ประชาชนชาวนิวยอร์กกลับมาใส่หน้ากากอนามัยอีกครั้ง หลังนิวยอร์กเริ่มพบการระบาดของเชื้อโอไมครอนที่เพิ่มมากขึ้นจนคาดว่าอาจจะมีตัวเลขการติดเชื้อมากกว่าระลอกการระบาดของเชื้อเดลตาก่อนหน้านี้

โฮชูเพิ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการนิวยอร์กเมื่อเดือน ส.ค.ปีก่อน มันเหลือเวลาเพียงอีกแค่ไม่กี่เดือนก่อนที่วาระเดิมของคัวโม ที่มีโฮชูขึ้นทำหน้าที่แทนจะหมดลง อย่างไรก็ดี โฮชูประกาศว่าเธอจะลงสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการนิวยอร์กในปีนี้อย่างแน่นอน

จากข้อกล่าวหาด้านการล่วงละเมิดทางเพศของคัวโม โฮชูขึ้นรับตำแหน่งต่อพร้อมชูนโยบายความโปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมกันนี้เธอยังให้คำสัญญาว่าจะทำงานร่วมกันกับรัฐบาลท้องถิ่นของนิวยอร์กอย่างแน่นอน 

เป้าหมายหลักของโฮชูในตอนนี้คือการจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าในนิวยอร์ก เช่น มาตราการโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดของโอไมครอน มาตรการการใส่หน้ากากอนามัยในโรงเรียน การจัดสรรเงินช่วยเหลือประชาชน ปัญหาผู้เช่าขัดสน ปัญหานายที่ดิน ตลอดจนปัญหาผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร ส่วนเป้าหมายใหญ่ต่อไปของเธอ คือการรักษาพื้นที่นิวยอร์กให้เป็นของพรรคเดโมแครต จากคู่แข่งอย่างพรรครีพับลิกันเอาไว้ให้ได้ หลังคัวโมทิ้งมรดกบาปก้อนโตเอาไว้ที่นิวยอร์ก


แอนน์ ฮิดัลโก นายกเทศมนตรีปารีส กับการปฏิวัติเมืองสีเขียว

แอนน์ ฮิดัลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีประจำกรุงปารีสของฝรั่งเศส ผู้ประกาศตัวว่าเธอเป็นนักสังคมนิยมฝ่ายซ้าย ฮิดัลโกทำการเปลี่ยนแปลงปารีสเพื่อพลิกเมืองทั้งเมือง ให้กลายเป็นเมืองสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ฮิดัลโกเกิดที่สเปน ก่อนที่พ่อแม่ของเธอจะอพยพมายังฝรั่งแสด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ เธอจบการศึกษาด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยฌองมูแล็งในลียงของฝรั่งเศส ก่อนจะจบการศึกษาระดับสูงด้านสหภาพสังคมและการค้า ที่มหาวิทยาลัยปารีสตะวันตก น็องแตร์ลาดีฟ็องส์ ฮิดัลโกลงสนามการเมืองฝรั่งเศสภายใต้พรรคสังคมนิยมตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา

AFP - แอนน์ ฮิดัลโก นายกเทศมนตรี ปารีส

จนเมื่อเธอได้ขึ้นมาเป็นนายกเทศมนตรีปารีส ฮิดัลโกพยายามปรับปารีสให้จากเดิมที่มันเป็นเมืองสกปรก แออัด รถติด จนกลายเป็นเมืองสวน ด้วยนโยบายการเพิ่มขยายทางเท้าและสวนในเมือง และปรับลดทางวิ่งของรถ เพื่อตอบรับกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ฮิดัลโกปิดการเดินรถบนถนนราว 3 กิโลเมตรที่ติดกันกับสถานที่ท่องเที่ยงเลื่องชื่อของฝรั่งเศสอย่าง พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ไปจนถึงอาสนวิหารน็อทร์ดาม ทำให้รถที่สัญจรไปมากว่าวันละ 7 หมื่นคัน ต้องออกไปวิ่งในอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ นโยบายของเธอโดนใจประชาคมโลก แต่ประชาชนชาวฝรั่งเศสหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความซ้ายสุดโต่งเกินไป และเธอกำลังทำลายวิถีของชาวปารีส

ฮิดัลโกเรียกนโยบายการเปลี่ยนปารีสให้กลายเป็นเมืองสีเขียวว่าคือ “การคืนปารีสให้แก่ชาวปารีส” เพื่อเน้นการสัญจรไปมาของคนในเมือง ด้วยการเดินเท้าและการปั่นจักรยาน โดยตั้งแต่เธอขึ้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของปารีสจนมาถึงปัจจุบัน ฮิดัลโกได้ขยายทางจักรยานในปารีสแล้วกว่า 400 กิโลเมตร เธอเสนอว่าการปั่นจักรยานเป็นการเดินทางที่รวดเร็ว สะดวกสบาย และดีต่อสุขภาพของคนในเมือง

จากรายงานระบุว่า ฮิดัลโดสามารถทำให้อัตราการใช้จักรยานในปารีสทวีคูณขึ้นเป็นเท่าตัว ระหว่างปี 2562 และ 2563 นอกจากนี้ ตัวเลขการรายงานจากสหประชาชาติระบุว่า ปารีสสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้กว่า 20% จากนโยบายการเปลี่ยนให้ปารีสเป็นเมืองสีเขียวของเธอ

ฮิดัลโกถูกวางตัวว่าอาจจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อๆ ไปในอนาคต ด้วยนโยบายฝ่ายซ้ายที่เธอสามารถนำมาปฏิวัติทั้งปารีส ให้เข้าสู่การเป็นเมืองสีเขียวอันเป็นมิตรต่อโลก นอกจากนี้แล้ว ปารีสกำลังจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2567 ซึ่งโครงการการเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติของปารีส กำลังถูกวางเค้าโครงผ่านรัฐบาลฝรั่งเศส และฮิดัลโกนายกเทศมนตรีปารีสคนปัจจุบันเอาไว้แล้ว นอกจากนี้ ฮิดัลโกยังเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในการเลือกตั้งของประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย


อานีส์ บาส์วีดัน ผู้ว่าราชการจาการ์ตา กับถนนและทางเท้า

อานีส์ บาส์วีดัน (Anies Baswedan) ผู้ว่าราชการจาการ์ตา ชนะการเลือกตั้งในปี 2560 ด้วยนโยบายการผลักดันให้จาการ์ตากลายเป็นเมือง 4.0 ด้วยการวางเป้าหมายให้รัฐบาลท้องถิ่นของจาการ์ตาทำงานร่วมกันกับพลเมืองในฐานะผู้สร้างร่วมกัน เพื่อพัฒนาให้จาการ์ตากลายเป็นเมืองหลวงแห่งความสุข

บาส์วีดันเติบโตมาจากการเป็นนักกิจกรรมเมื่อตอนที่ตนยังเป็นนักศึกษา รวมถึงยังเคยทำงานในภาคนักวิเคราะห์การเมืองของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ บาส์วีดันเคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก่อนจะถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมของประเทศภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดี โจโก วีโดโด

AFP - อานีส์ บาส์วีดัน ผู้ว่าราชการ จาการ์ตา

เมื่อช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา บาส์วีดันเพิ่งประกาศ 10 เป้าหมายในการพัฒนาจาการ์ตาเพื่อการลดความเหลื่อมล้ำ ผ่านการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานและการประกันการคุ้มครองทางสังคม เพื่อรักษาความเหนียวแน่นในสังคม ตลอดจนการส่งเสริมความสะดวกของบริการสาธารณะในแต่ละพื้นที่สูงขึ้นผ่านระบบขนส่งสาธารณะ

ผู้ว่าราชการของกรงจาการ์ตาได้ร่วมมือกับบริษัทรถโดยสารขนาดเล็ก 11 ราย เพื่อเปิดเส้นทางการเดินรถใหม่กว่า 33 เส้นทางทั่วเมืองหลวงของจาการ์ตา รวมถึงการจัดอบรมคนขับรถสาธารณะ 250 คน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

บาส์วีดันยังได้ส่งเสริมการพัฒนาระบบแอพพลิเคชันจอดรถออนไลน์ บนถนนหกสายของกรุงจาร์กาตา เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่จอดรถอย่างมีประสิทธิภาพ และลดปัญหาการจราจรที่ติดขัด นอกจากนี้ บาส์วีดันยังได้สร้างระบบอำนวยความสะดวกในที่สาธารณะที่เอื้อต่อคนสูงอายุและคนพิการ ผ่านการจัดการทางเท้าและทางข้ามถนน

การส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะของบาส์วีดัน ยังช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศในเมือง และการดำเนินการพัฒนาคาร์บอนต่ำ โดยจาการ์ตาสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 26% ในขณะที่จาการ์ตามีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 2573


อิสโก โมเรโน นายกเทศมนตรีมะนิลา กับการพร้อมทำงานร่วมกับทุกฝ่าย

อิสโก โมเรโน (Isko Moreno) นายกเทศมนตรีมะนิลา ได้ประกาศลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งกันในช่วงเดือน พ.ค.นี้ อย่างไรก็ดี โมเรโนที่กำลังดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีประจำกรุงมะนิลาประกาศว่า ตนพร้อม “ทำงานกับทุกคน” ท่ามกลางการเมืองฟิลิปปินส์ที่เกิดการแบ่งแยกอย่างหนัก

โมเรโนเกิดในชุมชนแออัดของมะนิลา ภายใต้การเติบโตมากับครอบครัวที่ยากจน เขาทำงานส่งเสียตนเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก่อนที่ในปี 2536 โมเรโนจะเริ่มเข้าวงการบันเทิงของฟิลิปปินส์ ด้วยการเป็นดาราวัยรุ่นหน้าใหม่ อย่างไรก็ดี โมเรโนเริ่มเข้าสู่งานทางการเมืองตั้งแต่ปี 2541 ด้วยการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงมะนิลา

Reuters - อิสโก โมเรโน นายกเทศมนตรี มะนิลา

โมเรโนเริ่มเข้าทำงานการเมืองจนได้ขึ้นมาเป็นรองนายกเทศมนตรีของมะนิลา ภายใต้อำนาจของ โจเซป เอสตราดา นายกเทศมนตรีคนก่อน ก่อนจะลงชิงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาในปี 2559 แต่แพ้การเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี โมเรโนเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านสันติภาพสำหรับคนจนในเมืองของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติฟิลิปปินส์ กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ ในการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลของ โรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ภาพการเป็นตัวกลางของโมเรดนเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

โมเรโนได้รับการเลือกตั้งขึ้นเป็นนายกเทศมนตรีของมะนิลาตั้งแต่ปี 2562 ด้วยคำสัญญาว่าตนจะลดปัญหาอาชญากรรมในเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ลง รวมถึงทำให้มะนิลาสะอาดขึ้น ทั้งนี้ โมเรโนได้รับคะแนนนิยมต่อเนื่องตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรี โดยในปี 2020 โมเรโนยังคงรักษาคะแนนนิยมของประชาชนเอาไว้ได้อยู่ที่ 77% ถึงแม้มะนิลาจะเจอกับการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง

โมเรโนดำเนินนโยบายในการให้เงินช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษาในมะนิลา ตลอดจนให้เงินช่วยเหลือประชาชนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โมเรโนยังบริหารงานด้านทั่วไปของเมืองอย่างการสร้างศูนย์การแพทย์ไปจนถึงสวนสัตว์ ในปี 2564 โมเรโนได้รับการยกย่องให้เห็น “วีรบุรุษแห่งปี” จากการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของกรุงมะนิลา

เมื่อเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา โมเรโนประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โดยเขาประกาศว่า เขาจะไม่หาเหยื่อเพื่อมานั่งโทษว่าปัญหาที่ประเทศของตนกำลังประสบเกิดขึ้นจากใคร แต่จะเน้นการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย ถึงแม้ว่าโมเรโนจะวิจารณ์การทำงานของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์อยู่ไม่น้อยในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา