ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงดิจิทัลฯ เร่งหามาตรการจัดการเนื้อหาออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม พร้อมรับมือภารกิจรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัล

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) โฆษกประจำกระทรวง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนสูงถึง 180 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และมีการใช้สื่อโซเชียลมีเดียสูงมาก โดยมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากกว่า 54 ล้านคน ตามมาด้วยไลน์ 42 ล้านคน และทวิตเตอร์ 12 ล้านคน ซึ่งก่อให้เกิดความท้าทายต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม ศีลธรรม วัฒนธรรมและประเพณี และบางส่วนเป็นการใช้งานที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งต่อกฎหมาย และกฎระเบียบของประเทศไทยในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาท กฎหมายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ข้อมูลที่รวบรวมจากการร้องเรียนของประชาชน พบว่าเนื้อหาไม่เหมาะสมที่พบบ่อยมากที่สุดในโลกโซเชียล คือ พฤติกรรมที่รุนแรงและเกี่ยวกับอาชญากรรมส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การทำร้ายตัวเอง การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การละเมิดความเป็นส่วนตัว คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง รุนแรง และหมิ่นประมาท การหลอกลวงและการบิดเบือนข่าวสาร (Fake News) การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และความสงบเรียบร้อยของสังคม

กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รวบรวมความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เพื่อเร่งรัดหามาตรการ แนวทางในการพัฒนาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างมีคุณภาพ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อแก้ไข หรือบรรเทาผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียไปในทางที่ไม่เหมาะสม พร้อมเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศให้เข้าใจบริบทของสังคมไทย และสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน 

น.อ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการใช้งานสื่อโซเชียลมีเดีย อย่างแพร่หลายทำให้เกิดเนื้อหาบน Social Media ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากเช่นกัน ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การกระทำความผิดมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและมีการกระจายตัวลงในระดับพื้นที่จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้มีการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย อย่างเหมาะสมและสร้างสรรค์ ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ผ่านโครงการต่างๆ เช่น ลูกเสือไซเบอร์ เครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ เน็ตประชารัฐ ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากกิจกรรมในเชิงส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ดังกล่าวแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางและมาตรการในการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อจัดการกับเนื้อหาที่เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีจำนวนมากในสื่อ Social Media ควบคู่กันไปด้วย โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัลและอาชญากรรมออนไลน์ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภารกิจตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล ภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เทคโนโลยี รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ จะต้องเร่งรัดหามาตรการในการจัดการกับเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในด้านต่างๆ ให้สำเร็จต่อไป