ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลไทยบริจาคเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 6.4 ล้านบาท) ให้องค์กรระหว่างประเทศ 2 แห่งที่ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีเมียนมาเสนอให้แก้ไข รธน.ฉบับอดีตรัฐบาลทหาร เพื่อยุติปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธ์ในประเทศ

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ธากาทริบูน สื่อของบังกลาเทศ รายงานอ้างอิงคำประกาศของนางสาวพรรณพิมล สุวรรณพงศ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำบังกลาเทศ ซึ่งระบุว่าเงินช่วยเหลือชาวโรฮิงญาจะถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน เพื่อนำไปมอบให้แก่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และโครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ (WFP) องค์กรละ 100,000 ดอลลาร์ โดย IOM จะให้ความช่วยเหลือชาวโรฮิงญาในด้านที่พักอาศัยและสุขอนามัย ส่วน WFP จะรับผิดชอบการจัดสรรอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงดูแลด้านโภชนาการแก่เด็กและผู้หญิงตั้งครรภ์ 

ผู้อำนวยการของทั้งสององค์กรได้ออกแถลงการณ์ขอบคุณรัฐบาลไทย โดยระบุว่าซาบซึ้งน้ำใจและความช่วยเหลือที่มอบให้ และย้ำว่าการไม่เพิกเฉยต่อชะตากรรมของชาวโรฮิงญาเป็นการกระทำที่มีความหมายทางมนุษยธรรม ซึ่งสื่อบังกลาเทศรายงานว่า ประชาคมโลกต้องมีเป้าหมายร่วมกันในการช่วยเหลือและดูแลผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 1.2 ล้านคนที่หนีภัยความขัดแย้งจากรัฐยะไข่ ภาคตะวันตกของเมียนมา มายังเมืองค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ

ขณะที่รอยเตอร์และบิสซิเนสอินไซเดอร์ รายงานว่านายติ่น จ่อ ประธานาธิบดีเมียนมา กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันครบรอบ 70 ปีการประกาศอิสรภาพของเมียนมาจากอังกฤษ ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มกราคมทุกปี โดยนายติ่น จ่อ ระบุว่า ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เพราะเป็นกฎหมายที่ร่างขึ้นโดยอดีตรัฐบาลทหาร และพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีเคยเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตั้งแต่ต้น โดยมีเป้าหมายว่า รธน.ฉบับแก้ไขต้องปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม นายติ่น จ่อ ไม่ได้ระบุว่ารัฐบาลจะดำเนินการรับตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศกลับมาหรือไม่ 

เด็กหญิงโรฮิงญาถูกกลุ่มค้ามนุษย์ขายให้แต่งงาน

องค์กรระหว่างประเทศด้านการเฝ้าระวังสถานการณ์วิกฤต 'อินเตอร์เนชันแนล ไครซิส กรุ๊ป' (ICG) เผยแพร่รายงาน เกี่ยวกับ 10 ประเด็นความขัดแย้งทั่วโลกที่ต้องเฝ้าระวังในปี 2018 เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าความรุนแรงในรัฐยะไข่เป็นหนึ่งประเด็นที่เมียนมา-บังกลาเทศและประชาคมโลกต้องช่วยกันหาทางยุติและฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากความขัดแย้งยืดเยื้อจะยิ่งทำให้ชาวโรฮิงญาประสบความยากลำบากเพิ่มขึ้น 

ไอซีจีเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมารับประกันความปลอดภัยและปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาอย่างเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ รวมถึงดำเนินการรับตัวผู้ลี้ภัยกลับภูมิลำเนาโดยยึดตามความสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) ซึ่งอาจจะยกระดับการเคลื่อนไหวในการปลุกระดมผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ถูกคุกคามหรือได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในยะไข่ให้ร่วมต่อสู้โดยใช้อาวุธ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะยิ่งทำให้มีการใช้กำลังต่อสู้เพิ่มขึ้น

กรณีของประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยระบุว่าไทยให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่องค์กรนานาชาติที่ช่วยเหลือชาวโรฮิงญาไปแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากเกิดเหตุปะทะในรัฐยะไข่เมื่อเดือนตุลาคม 2016 แต่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์สื่อว่าไทย จะให้ความช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญาตามหลักมนุษยธรรมด้วยการ 'ผลักดันให้เดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม' ทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอีกแห่งหนึ่ง 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' ระบุว่าสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในไทยมีความซับซ้อน เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่ได้เป็นประเทศภาคีข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย จึงไม่มีกฎหมายบังคับให้ไทยต้องรับตัวผู้ลี้ภัยมาอยู่ในความดูแล แต่ทางการไทยได้ใช้วิธีจับกุมและตั้งข้อหาแก่ผู้ลี้ภัยในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมือง และประสานเรื่องไปยังองค์กรระหว่างประเทศที่รับผิดชอบดูแลเรื่องผู้ลี้ภัยแทน แต่ช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าว ทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากซึ่งต้องการแสวงหาที่พักพิงที่ปลอดภัยต้องกลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ 

อ่านเพิ่มเติม:

จับกระแสโรฮิงญา 'โศกนาฏกรรมใกล้บ้าน'

ไทยประกาศจะช่วยชาวโรฮิงญาหลังนานาชาติกดดันหนัก

องค์กรสิทธิฯ จับตาไทยตัดสินคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา