ไม่พบผลการค้นหา
มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา กล่าวสุนทรพจน์ครบรอบ 2 ปีรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ ย้ำยึดมั่นหลักนิติรัฐ หนุนหลัก 'ศีล สมาธิ ปัญญา' และจะแก้ไข รธน.ส่งเสริมประชาธิปไตย ชี้แนวทางยุติความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ "ไม่ได้มีแค่รัฐยะไข่"

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่านางอองซานซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมา และหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันครบรอบ 2 ปีที่รัฐบาลเอ็นแอลดีบริหารประเทศ เมื่อวานนี้ (2 เม.ย.) และมีการต้อนรับนายวิน มยินต์ ประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มี.ค. แทนนายติ่น จ่อ ซึ่งลาออกจากตำแหน่งไปตั้งแต่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา

นางซูจีกล่าวว่าที่ประชุมสภาลงมติเห็นชอบนายวิน มยินต์ ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่น แสดงให้เห็นว่าเมียนมามีพัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง พร้อมย้ำว่าภารกิจหลักของรัฐบาลต่อจากนี้ ได้แก่ 1) ยึดมั่นหลักนิติรัฐ เพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ประชากรทุกกลุ่ม 2) ปฏิบัติภารกิจตามแผนปรองดองสมานฉันท์ในประเทศ และ 3) ปรับแก้รัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับแนวทางประชาธิปไตย โดยจะใช้ทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ในการดำเนินงานบริหารประเทศ

แม้จะไม่มีการระบุอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลจะปรับแก้เนื้อหาส่วนใดของรัฐธรรมนูญ แต่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเป็นการปรับแก้เรื่องสัดส่วน ส.ส.และ ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ

ขณะที่เว็บไซต์อีเลฟเวนเมียนมา เผยแพร่สุนทรพจน์ฉบับเต็มของนางซูจี ซึ่งกล่าวถึงแนวทางการยุติความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศ โดยย้ำว่านานาประเทศอาจสนใจในประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐยะไข่มากที่สุด แต่ต้องย้ำว่ารัฐบาลจะมุ่งแก้ไขปัญหาอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ เพราะความขัดแย้งที่รอการแก้ไขไม่ได้มีแต่รัฐยะไข่เท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลก 'เคารพ' และ 'เข้าใจ' แนวทางของเมียนมา เพื่อที่จะยุติความขัดแย้งด้วยแนวทางที่เหมาะสม


โรฮิงญา

ส่วนสาเหตุที่ประชาคมโลกกดดันและเรียกร้องให้เมียนมาเร่งแก้ไขวิกฤตโรฮิงญา เนื่องจากมีหลักฐานบ่งชี้ว่ากองทัพเมียนมาใช้กำลังอาวุธและจัดตั้งประชาชนให้ร่วมกันใช้กำลังทำร้าย สังหาร ข่มขืน และขับไล่พลเรือนชาวโรฮิงญาที่ิมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ 'กองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน' (ARSA) ออกจากภูมิลำเนาในรัฐยะไข่ โดยมีชาวโรฮิงญาลี้ภัยไปยังบังกลาเทศแล้วเกือบ 700,000 คน นับตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว และนายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ ระบุว่าการกระทำของรัฐบาลเมียนมาเข้าข่ายลบล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

อย่างไรก็ตาม นางซูจีได้ระบุถึงผลงานของรัฐบาลในปีที่ผ่านมาว่า มีความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจ สามารถส่งออกข้าวได้ในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษเป็นต้นมา ทั้งยังประสบความสำเร็จด้านการลดอัตราเด็กเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด รวมถึงมีการก่อสร้างและวางระบบสาธารณูปโภคเพิ่มเติมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวนางซูจีก็ยอมรับว่าการลงทุนจากต่างชาติยังไม่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อยังไม่ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามแก้ไขและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่

ส่วนเว็บไซต์เมียนมาไทม์ รายงานอ้างอิงผลประเมินเศรษฐกิจเมียนมาของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมาเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ก่อนหน้า เป็นผลจากเมียนมาขาดแคลนระบบสาธารณูปโภคและโครงข่ายที่จะรองรับการลงทุน และรัฐบาลไม่มีมาตรการจูงใจด้านภาษี 

นอกจากนี้ เมียนมายังได้รับอิทธิลจากจีนอย่างหนัก ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง โดยจีนเสนอตัวเป็นผู้อำนวยการพูดคุยระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพเมียนมา และกลุ่มติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดการลงนามในข้อตกลหยุดยิงและมุ่งหน้าสู่กระบวนการด้านสันติภาพ แต่ก็ยังมีกลุ่มติดอาวุธอีกหลายกลุ่มที่ไม่ยอมลงนามรับรองข้อตกลงหยุดยิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: