ไม่พบผลการค้นหา
หยุดแย่งซีน 'การเมืองบนชีวิตคน' ที่ศูนย์บางซื่อ กระจายจุดฉีด ลดแออัด คำถามใหญ่มีวัคซีนไหม?

1.

ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 - 27 ก.ค. 2564) สังคมวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อว่า “คนเนืองแน่น แออัด ต่อคิวเรียงแถวยาวจนหลายคนหวั่นอาจเกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อใหม่ที่ใหญ่แห่งหนึ่งที่ศูนย์ฉีดวัคซีนนี้”  

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 ยอมรับว่า แออัดจริง และขออภัยประชาชน

“ขออภัยประชาชนสำหรับภาพความแออัดของสถานีกลางบางซื่อที่มีการเผยแพร่ผ่านทางสังคมออนไลน์ และก่อให้เกิดความไม่สบายใจหลายฝ่าย” นพ.สมศักดิ์กล่าว 

ขณะเจ้ากระทรวง อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 กับผู้สื่อข่าวว่า ภาพแออัดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อแค่มุมกล้องและแออัดแค่ช่วงเช้าเท่านั้น หลังจากพูดคำเหล่านี้ออกไป เกิดกระแสตีกลับจากประชาชนอย่างรุนแรงว่ารัฐมนตรีไม่ยอมรับว่าการบริการวัคซีนที่ศูนย์บางซื่อมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นระบบการลงทะเบียน การต่อคิว นั่งคอยเว้นระยะห่าง ฯลฯ

“ผมกล้าพูดเพราะสัปดาห์หนึ่งแวะไป 4 วัน จะแออัดแค่ช่วงเช้า แต่เมื่อได้เข้าไปแล้วก็ไม่แออัด ทั้งนี้ มุมกล้องหรืออะไรก็สามารถทำได้หมดเพื่อให้ดูแออัด แต่เมื่อคนมาเยอะเกินความสามารถที่จะจัดระเบียบได้ก็ต้องจัดระเบียบใหม่และแทนที่จะฉีดได้ 3 – 4 หมื่นคน ก็ต้องลดเพื่อที่จะไม่ให้มีภาพของความกังวลของประชาชนทั่วไปเกิดขึ้น” อนุทินกล่าว

2.

ในที่สุด ศูนย์ฯ บางซื่อก็มีแนวแก้ปัญหาความแออัด ดังนี้

1.เปิดประตูศูนย์ฉีดกลางบางซื่อ ให้คนผ่านโดยไม่ต้องวัดความดัน ยกเว้นกลุ่มผู้ที่มีปัญหาจริงๆ ทั้งนี้ หากสังเกตที่ผ่านมาจะมีความหนาแน่นของจำนวนประชากร เฉพาะเวลาก่อน 08.00 น. หลังจากนั้นจะเบาบางลง ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยระบายประชาชนจากด้านนอก เข้าสู่ด้านในอาคารมากขึ้น

2.ปรับระบบการเข้าแถวให้ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้หางแถวในแต่ละประตูชนกัน

3.ย้ายที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ (ประตู 4) และรถสุขาออกจากพื้นที่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับผู้รับบริการ

4.ประสานการระบายผู้รับบริการทุกประตูในภาพรวม (ไม่แยกบริหารจัดการ)

5.มอบหมายผู้รับผิดชอบในแต่ละประตูอย่างชัดเจน

6.ประชาสัมพันธ์และจัดระเบียบให้ประชาชนยืนบนสติกเกอร์ที่นำมาติด 2,400 จุด

อีกทั้งมีแผนให้ประชาชนกลุ่มได้สิทธิฉีดหลักจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน ‘วัคซีนบางซื่อ’ ในเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งเอไอเอส (AIS) ทรู (TRUE) ดีแทค (DTAC) และ เอ็นที (NT) และจะได้รับการฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 1-31 ส.ค. นี้ 

ถือว่าเป็นแนวการจัดที่น่าจะดีขึ้น แต่กว่าจะดีขึ้นได้ ประชาชนก็ต้องไปรออย่างแออัดอยู่หลายวัน

3.

มีคำถามใหญ่ว่า ทำไมต้องบริการฉีดคนแก่ คนท้อง คนน้ำหนักเกิน 100 ก.ก. ที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อเท่านั้น? ทำไมไม่กระจายจุดฉีดไปที่อื่นๆ? 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เคยแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ว่า ศูนย์แห่งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคม โดยใช้สถานีรถไฟกลาง ซึ่งเป็นของการรถไฟแห่งประเทศ สังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีขนาดใหญ่

เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของคนที่เข้ารับวัคซีนในโรงพยาบาลต่างๆ ใน กทม.โดยเป็นการเข้ารับวัคซีนที่ง่ายและสะดวก ไม่มีหลายขั้นตอนเหมือนในโรงพยาบาลและเป็นไปตามแผนการระดมฉีดวัคซีนของรัฐบาลที่ต้องรวดเร็ว ครอบคลุมประชาชนใน กทม. มากที่สุด 

ช่วงเปิดศูนย์ฉีดใหม่ๆ มีการคาดการณ์ว่าจะฉีดได้ 10,000 คนต่อวัน อัตราการฉีดสามารถทำได้ 900 คนต่อชั่วโมง ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีต่อคน แต่ปัจจุบันคาดว่าจะฉีดได้ 30,000 - 40,000 คนต่อวัน 

4.

กระนั้นก็ยังมีการมองเรื่องนี้ว่าเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่กี่วันมานี้มีข่าวลือว่า ‘ศบค. ส่งสัญญาณให้หยุดฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฯ​ บางซื่อ จะให้ กทม. ทำแทน’ มีบางสื่อวิเคราะห์ว่า ศบค. กันซีนผลงานทางการเมืองของพรรคการเมืองในรัฐบาลพรรคหนึ่ง อีกข่าวลือหนึ่งก็คือ เป็นการเล่นการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งกับ กทม.?

ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อนี้มาจากความร่วมมือของสองกระทรวงคือกระทวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคม ซึ่งทั้งสองกระทรวงนี้มีรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเดียวกัน คือ ‘พรรคภูมิใจไทย’ 

ภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจ เขียนข้อความเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 คาดว่าอาจจะมาจากปมข่าวลือเรื่องยุบศูนย์ฯ บางซื่อ 

ข้อความมีดังนี้

#เห็นข่าวนี้แล้วตกใจครับ ย้อนหลังให้ระลึกความจำกันหน่อยครับ

บางซื่อเกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่าง ก.สาธารณสุข กับ ก.คมนาคม โดยแรกเริ่มจะฉีดให้กับบุคลากรของกระทรวงคมนาคม แท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ แกรบแท็กซี่ แกรบไบค์ อื่นๆ อีกมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางคมนาคม

สถานีบางซื่อเกิดขึ้นเพราะความไร้ระบบของการฉีดวัคซีนใน กทม. เบียดแบ่งเอาโควต้าวัคซีนของคนต่างจังหวัดเพื่อฉีดให้คน กทม. สุดท้ายคน กทม.ก็ไม่ได้ฉีดเท่าที่ควร กลุ่มเสี่ยงอายุ60 +7โรคเสี่ยง

ไม่ได้ฉีด เอาไปฉีดใคร? วัคซีนไปไหน? จุดฉีดของกทม.25 จุด อยู่ที่ไหน ฉีดวันละเท่าไร และฉีดใคร? ไม่มีใครรู้!!! ฉีดจริงจัง หรือฉีดแค่ทำท่า เหมือนฉีดไหว้เจ้า รึเปล่า?? ทำไมคนรู้จักและมารับวัคซีนแต่ที่บางซื่อ นี่น่าจะเป็นคำตอบ!!!

บางซื่อจึงเกิดขึ้นเพื่อฉีดให้ #คนไม่มีเส้น ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาบางซื่อเปิด #วอล์คอิน (ขออภัย คำนี้อาจแสลงหู เปลี่ยนเป็น #ออนไซต์ ก็ได้ ) ให้กับผู้สูงอายุและ 7โรคเสี่ยงโดยเฉพาะ 

ภาพของผู้สูงอายุมายืนรอคิวล้นหลามที่บางซื่อ เป็นภาพที่ยืนยันอีกครั้งว่าที่ผ่านมา กทม.ไม่ได้นำวัคซีนไปฉีดให้กลุ่มเสี่ยงเลยใช่ไหม??

ที่ผ่านมาบางซื่อฉีดให้ประชาชนไปแล้วเป็นเกือบล้านคน นี่คือการแบ่งเบาภาระของกทม.ลงมหาศาล #ใช่หรือไม่??

จุดฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อเกิดขึ้นเพราะความไร้ระบบของการฉีดวัคซีนใน กทม. เบียดแบ่งเอาโควตาวัคซีนของคนต่างจังหวัดเพื่อฉีดให้คน กทม. สุดท้ายคน กทม. ก็ไม่ได้ฉีดเท่าที่ควร พร้อมเปรียบเปรยจุดฉีดวัคซีนแห่งนี้ว่า "โอเอซีส วัคซีนของคน กทม."

แน่นอน วันนี้ประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางมาฉีดที่บางซื่อทำให้อาแน่นไปบ้าง ระหว่างรอ (แต่ภายในเมื่อรันคิวแล้วเร็วมาก) แทนที่จะขยาย หรือ หาจุดแบบบางซื่อ จัดให้เป็น บางซื่อ2 บางซื่อ3 บางซื่อ4 กลับจะตัดสินใจยุบบางซื่อ โอเอซีส วัคซีนของคน กทม.

5.

น่าคิดว่าทำไมประเทศไทยไม่กระจายจุดฉีดวัคซีนไปที่อื่นๆ ให้กว้างกว่านี้ ทำให้การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องสะดวก

ตัวอย่างประเทศอื่นๆ ปรากฏมากมาย เช่น ที่สหรัฐฯ ในบางรัฐมีจุดบริการเป็นร้านอาหารจานด่วน (Fast food), ร้านสะดวกซื้อ, ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ หรือที่อิสราเอลเปิดให้ฉีดที่ผับ บาร์ร้านเหล้า โดยจุดฉีดเหล่านี้รัฐบาลพวกเขาได้จัดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ในการฉีดวัคซีน ที่ผ่านการอบรมการเก็บรักษาและการฉีดมาคอยให้บริการ 

แม้อย่างล่าสุดที่สหรัฐฯ นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ประกาศโครงการแจกเงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,288 บาท ให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนจอง และไปรับการฉีดวัคซีนเพื่อจูงใจคนที่ยังไม่ฉีดเข็มแรกเข้ารับการฉีดหลังมีการกลับมาระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) อย่างรุนแรงอีกครั้ง

ยังค้นไม่ได้คำตอบว่า ทำไม?  

6.

แต่ไม่ว่าจะมองปัญหาจากมุมไหน แกนกลางสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ก็คือ วัคซีนไม่เพียงพอ

ลองดูว่า กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระบาดของเชื้อสูงถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้มมีจำนวนวัคซีนที่ควรจะได้เท่าไหร่? ได้มาแล้วเท่าไหร่? แล้วตอนนี้ฉีดไปเท่าไหร่?

ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. ประธานคณะทำงานด้านการจัดทำแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 เคยกล่าวเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ว่า กทม.ขอจัดสรรวัคซีน 10.48 ล้านโดสจากรัฐบาล เพื่อสร้างให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่”

ศบค. รายงานเมื่อ 29 ก.ค.2564 ว่า การจัดสรรวัคซีนตามคำสั่งของ ศบค. ตั้งแต่เดือน มิ.ย.- ก.ค.2564 เฉพาะพื้นที่ กทม. ได้รับวัคซีนแล้ว 5,668,720 ล้านโดส

คนกรุงเทพฯ ฉีดวัคซีนรวมแล้ว 7,699,174

แบ่งเป็นเข็มที่ (1) 4,643,227 คิดเป็นร้อยละ 60.31 เข็มที่ (2) 1,025,493 คิดเป็นร้อยละ 13.32

ซึ่งประชากรในพื้นที่ กทม. 7,699,174 คน

ต้องคอยติดตามจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่อย่างที่รัฐบาลและ กทม. วางแผนไว้หรือไม่