ไม่พบผลการค้นหา
แม้ที่ผ่านมา ดูเหมือนเอกชนต่างชาติจะไม่เห็นว่าปัญหาโรฮิงญาเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเข้าไปลงทุนในเมียนมา แต่ล่าสุด เชฟรอน บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ กลับต้องพิจารณาการลงทุนในเมียนมา เนื่องจากผู้ถือหุ้นบางส่วนไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับประเทศที่รัฐบาลกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯยอมรับอย่างเป็นทางการผ่านคำพูดของนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศ ว่ารัฐบาลเมียนมากำลัง "ลบล้างเผ่าพันธุ์" ชาวโรฮิงญาในประเทศ ซึ่งเป็นการตอกย้ำจุดยืนของสหประชาชาติที่ประกาศเรื่องนี้มาก่อนหน้านานหลายเดือน หลายฝ่ายคิดว่านี่เป็นเพียงท่าทีทางการเมืองที่จะไม่ส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกลับมีกรณีตัวอย่างของเอกชนรายใหญ่ที่ตั้งใจจะกดดันรัฐบาลเมียนมาโดยใช้ท่าทีของสหรัฐฯเป็นฐาน นั่นก็คือเชฟรอน บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ โดย Azzad Asset Management หนึ่งในผู้ถือหุ้นของเชฟรอนแถลงว่าบริษัทและกลุ่มนักลงทุนที่มีจุดยืนทางการเมืองชัดเจนอีกจำนวนหนึ่ง ได้ยื่นมติผู้ถือหุ้น ให้ฝ่ายบริหารของเชฟรอนทำรายงานถึงความเป็นไปได้ที่จะยุติการประกอบธุรกิจขององค์กรในเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯได้ชี้ชัดแล้วว่ากำลังเกิดการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" ชาวโรฮิงญาในเมียนมา

Azzad เคยเรียกร้องในทำนองนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในการประชุมผู้ถือหุ้นเชฟรอนครั้งที่ผ่านมา โดยมีผู้ถือหุ้นประมาณร้อยละ 6 ที่เห็นด้วย และร่วมเรียกร้อง แต่ในครั้งนี้มีผู้สนับสนุนมากขึ้น และ Azzad ก็ย้ำว่าทางบริษัทต้องตอบให้ได้ว่าจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เกิดจากกาารทำธุรกิจกับรัฐบาลที่อาจกำลังก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างไร

ขณะที่โฆษกของเชฟรอนแถลงว่าทางบริษัทให้ความสำคัญอย่างยิงกับการเจรจากับผู้ถือหุ้น ถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ และยืนยันว่าเชฟรอนจะทำงานร่วมกับเอกชนรายอื่นๆและรัฐบาลสหรัฐฯ สร้างบรรยากาศของการลงทุนที่เอื้อต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน และในขณะเดียวกันก็เอื้อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯด้วย

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ชี้ชัดว่าเชฟรอนจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งตอนนี้บริษัทมี 2 ทางเลือก คือการทำตามข้อเรียกร้องของผู้ถือหุ้น หรือจะบล็อกข้อเสนอดังกล่าวก็ได้ แต่ Azzad ก็จะมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมาธิการด้านความปลอดภัยและการแลกเปลี่ยนทางการเงินของสหรัฐฯ หรือ SEC ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเสรีในแวดวงธุรกิจของประเทศ 

เชฟรอนเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐฯ ทำธุรกิจผ่านบริษัทลูกในเมียนมาคือ Unocal Myanmar Offshore Co Ltd. โดยมีทั้งโครงการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ และการวางท่อส่งน้ำมันในเมียนมา