ไม่พบผลการค้นหา
เสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตไทยถูกลดอันดับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน และถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่มีเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ต เกาะกลุ่มอยู่กับประเทศรัสเซีย ตรุกี พม่า อียิปต์

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมาองค์กร Freedom House เปิดรายงานเสรีภาพการใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำปี 2017 จากการสำรวจ 65 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่มีเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยมีประเทศรัสเซีย ตรุกี พม่า อียิปต์ ซูดานและเวเนซุเอลาที่มีคะแนนใกล้เคียงกับประเทศไทย

ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดำเนินการปิดกั้นเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตมากขึ้น มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่คลุมเครือและลิดรอนเสรีภาพการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน รวมไปถึงองค์กรด้านสื่อที่ถูกลดทอนความเป็นอิสระ



freedom on the net.jpg


อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงาน เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน In Her View บอกว่า การให้คะแนนเสรีภาพการใช้งานอินทอร์เน็ตของ Freedom House จะดูองค์ประกอบหลักๆ 3 ข้อ คือ 1. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชาชนมีมากน้อยแค่ไหน ถูกปิดกั้นหรือไม่ 2. การเซ็นเซอร์ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตของรัฐมีมากน้อยแค่ไหน และ 3. นักกิจกรรมและประชาชนถูกจับกุมจากการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์มากน้อยแค่ไหน และถ้ากลับไปดูคะแนนเทียบจากปีที่แล้ว คะแนนมันแย่กว่าเก่า แต่ก็ไม่ต่างกันมาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้คะแนนแย่ลงนั้น มี 3ประเด็น คือ

1. เรื่องพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 แม้ว่ารัฐบาล จะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนพรบ.คอมพิวเตอร์ในมาตรา14 และมาตรา16 โดยมาตรา14 พูดถึงความผิดระหว่างเนื้อหาให้มีข้อความที่ชัดเจนขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้มีส่วนช่วยให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถูกฟ้องหมิ่นประมาทน้อยลง ขณะที่มาตรา16/2 ห้ามผู้ใดเผยแพร่ข้อมูลหรือข้อความที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดหรือไม่เหมาะสม และถ้าผู้ใดมีในเครื่องหรือในครอบครองจะต้องโทษตามกฎหมาย ซึ่งอาทิตย์ให้ความเห็นว่าในม.16/2 นี้ เมื่อเวลาผ่านไปข้อความที่ศาลพิพากษาว่าไม่เหมาะสมนั้นอาจจะมากขึ้น และประชาชนก็ไม่อาจสามารถหรือรับรู้ได้ทั้งหมด ดังนั้นความเสี่ยงของประชาชนในการใช้ข้อมูลต่างๆจะเพิ่มมากขึ้น

2. เรื่องของการฟ้องคดีของนักกิจกรรม ประชาชนที่วิพากษ์รัฐบาล รัฐธรรมนูญ หรือเรื่องทางการเมืองที่มีการกระทำบนโลกออนไลน์มีมากขึ้น

3. องค์กรอิสระด้านสื่อ อย่างกสทช. มีการปรับโครงการที่ไม่ได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง กลับไปอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร และการพยายามแทรกแซงสื่อด้านเนื้อหาของกสทช.ที่มีมากขึ้น

ในหนึ่งปีที่ผ่านมาอาทิตย์มองว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตของประชาชน หรือการปรับปรุงโครงสร้างของกสทช. แต่ก็ดูเหมือนว่ากฎหมายดังกล่าวกลับยิ่งมีความคลุมเครือไม่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงยังสร้างความหวาดหวั่นในการเข้าใช้งานบนโลกออนไลน์ของประชาชนมากขึ้น

แม้การเลือกตั้งก็ไม่อาจจะทำให้เสรีภาพการใช้งานอินเทอร์เน็ตดีขึ้น


“แม้จะมีการเลือกแต่เสรีภาพการใช้งานอินเทอร์เน็ตก็อาจจะยังไม่ดีขึ้น แต่การเลือกตั้งก็ยังมีความหวังที่จะสามารถแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนการใช้งานคอมพิวเตอร์และโลกออนไลน์ได้”

  อาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าจะมีการจัดการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลพลเรือน แต่ก็ไม่ได้เป็นการรับประกันเสรีภาพการเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชนจะมีมากขึ้น เพราะกฎหมายต่างๆที่ออกในยุคคสช.ก็ยังอยู่ การปรับโครงสร้างของกสทช.ก็ยังไม่มีทางเปลี่ยนในระยะสั้นๆนี้ได้ แต่การเลือกตั้งก็ยังทำให้มีความหวังที่จะสามารถแก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนการใช้งานคอมพิวเตอร์และโลกออนไลน์ได้ เพราะประชาชนสามารถเสนอชื่อแก้ไขพรบ.คอมพิวเตอร์ได้ แต่จะถูกพิจารณาหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเมื่อมีการเลือกตั้งความหวังต่อกลไกสิทธิมนุษยชนต่างๆจะกลับมาทำงานอีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องการจับความเห็นต่างในโลกออนไลน์

ขณะเดียวกันในวันที่ 17 พ.ย.2560 พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังเป็นห่วงเรื่องการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ที่ระบุว่า เสรีภาพของสื่อออนไลน์ไทยถูกลดอันดับ และเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยไม่ต่างจากประเทศสังคมนิยมบางประเทศ โดยอยากให้สังคมร่วมกันคิดว่า รัฐบาลใช้อำนาจกับสื่อมากเกินไปจริงหรือไม่ เพราะหากพิจารณาตามความเป็นจริงจะพบว่า วันนี้สื่อมวลชนยังมีเสรีภาพอย่างมาก ส่วนการนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันคงไม่ถูกต้องนัก มิหนำซ้ำในบางประเทศมีกฎหมายควบคุมเข้มงวดมากกว่าไทย แม้จะเป็นประเทศประชาธิปไตยก็ตาม

 พล.ท.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ และเชื่อมโยงเครือข่ายไปยังต่างประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าการใช้สื่อออนไลน์ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการละเมิด หลอกลวง ฉ้อโกง โป๊ หมิ่นประมาท ขายสินค้าผิดกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทุกประเทศจึงต้องมีกฎหมายควบคุมเรื่องเหล่านี้ “สื่อออนไลน์ และผู้ใช้งานควรร่วมกันคิดด้วยว่า จะปฏิรูปสื่อ และสร้างสรรค์สังคมอย่างไร และต้องไม่ให้ตนเองกลายเป็นผู้จุดชนวนความขัดแย้ง หรือนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือน สร้างความเสียหายทำลายความเชื่อมั่นของประเทศ” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

In Her View วันที่ 15 พ.ย. 2017 เสรีภาพอินเตอร์เนตไทย “Not Free”

------------------------------------------------------------------------------------

ที่มา https://freedomhouse.org/report/freedom-net/freedom-net-2017

https://www.dailynews.co.th/politics/610603


พวงพรรณ ภู่ขำ
25Article
0Video
0Blog