ไม่พบผลการค้นหา
พลันที่พี่ใหญ่ คสช. อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปิดช่องว่า “ถ้าประชาชนไม่ต้องการผมก็พร้อมจะไปจากตำแหน่งนี้” ซึ่งหมายถึงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม สารพัดโพลออนไลน์ก็ถูกสร้างขึ้นมา และชั่วข้ามคืน ผลก็ออกมาอย่างทันใจว่า เกินกว่า 80 - 90% อยากให้บิ๊กป้อมพ้นจากคณะรัฐมนตรีโดยทันที

พลันที่พี่ใหญ่ คสช. อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เปิดช่องว่า “ถ้าประชาชนไม่ต้องการผมก็พร้อมจะไปจากตำแหน่งนี้” ซึ่งหมายถึงตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม สารพัดโพลออนไลน์ก็ถูกสร้างขึ้นมา และชั่วข้ามคืน ผลก็ออกมาอย่างทันใจว่า เกินกว่า 80 - 90% อยากให้บิ๊กป้อมพ้นจากคณะรัฐมนตรีโดยทันที

ถือเป็นการจำลองการลงคะแนนเล็กๆ ขึ้นมา หลังจากสัญญาว่าจะให้คนไทยได้กลับมาใช้สิทธิเลือกผู้นำของตัวเองผ่านคูหาเลือกตั้งในปลายปีนี้ “ถูกเบี้ยว” เป็นที่เรียบร้อย

ที่ผ่านมา คนไทยเหมือนถูก คสช. กล่อมให้เชื่อว่า นายทหารชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้นจะ “รักษาสัญญา” เหมือนดังคำปฏิญาณที่ลูกเสือชอบท่อง เสียชีพอย่าเสียสัตย์ และเหมือนในถ้อยคำจากเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ซึ่งเปิดกรอกหูทั้งเช้าเย็นเป็นเวลานานนับปี (“..เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน..”)

ทั้งคิดว่าจะได้เลือกตั้งเร็วต้นปี 2559 เป็นอย่างช้า แต่พอร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ถูก สปช. คว่ำ ก็ยังปลอบใจตัวเองว่า ไม่เป็นไรมีชัยเข้ามาทำแทน เขียนรัฐธรรมนูญเก่ง น่าจะได้เลือกในอีกไม่นาน วิษณุก็โยนสูตร 6+4+6+4 มาให้ความหวังว่า ไม่เบี้ยวหรอกโรดแม็ปนี้ ปี 2560 ได้เลือกแน่ๆ แต่ก็มีเหตุจำเป็นให้ลากมาปี 2561 พอประยุทธ์ไปสัญญาต่อหน้าทรัมป์ว่า ปีนี้มีแน่ๆ ไปพูดไว้ขนาดนั้น เบี้ยวก็เสียหน้าชาวโลกนะ แต่สุดท้ายก็..

เป็นอาการ “เจ็บแล้วไม่จำ” ครั้งแล้ว ครั้งเล่า

และที่น่าห่วงว่าก็คือ ปี 2562 ก็อาจจะไม่ได้เลือกตั้งด้วยซ้ำ โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่ “กฎหมาย ส.ว.” ที่ถูก สนช. แก้จนสาระสำคัญแตกต่างจากตัวรัฐธรรมนูญ ทั้งลดจำนวนกลุ่มอาชีพหรือไม่ต้องเลือกไขว้ จนหวั่นว่าจะถูกคว่ำ แล้วต้องไปรีสตาร์ตร่างใหม่

เพราะต้องไม่ลืมว่า “เงื่อนไข” สำคัญที่นำไปสู่การเลือกตั้งได้ คือ (1) มีกฎหมายลูกเกี่ยวกับเลือกตั้ง 4 ฉบับ (2) เริ่มบังคับใช้กฎหมายลูกที่ว่า (3) ต้องได้ ส.ว.ก่อน และ (4) ถึงจะมีเลือกตั้ง ส.ส. ได้

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทันทีที่หลายๆ สื่อรายการเรื่อง คสช.เลื่อนโรดแมปอีกแล้วจ้า แม้คอมเม้นต์ท้ายข่าวส่วนใหญ่จะไปในทางกดดัน เสียดสี กระแหนะกระแหน ที่ถูกชายชาติทหาร ผู้มีอำนาจมหาศาล  แถมยังกินเงินเดือนหลายทาง “หลอก”

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือจะมีสุ่มเสียงแปลกๆ ออกมาจากจากคนบางคน บางกลุ่ม

“อยู่ต่อไปนานๆ เลยครับท่าน ปฏิรูปประเทศยังไม่เสร็จเลย”

 “อย่าเพิ่งไปสนใจพวกกระสันเลือกตั้ง”

 “เลือกตั้งไปก็ได้คนหน้าเดิมๆ กลับมา อยู่แบบนี้ดีกว่า”

 ฯลฯ

อันเป็นคำถามที่นำมาสู่ชื่อบทความนี้ นั่นคือ ทำไมคนบางกลุ่มถึงยังสนับสนุน คสช. อยู่? ทั้งๆ ที่ กลุ่ม กปปส. หรือม็อบนกหวีด (ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้สนับสนุนหลักของ คสช.) หลายคนโดนกระแหนะกระแหนว่า พอเวลาผ่านไป ก็มักจะไปไล่ลบรูปที่เคยเป่านกหวีดร่วมขับไล่อดีตรัฐบาล หรือพอชวนคุยเรื่องผลงานของรัฐบาลปัจจุบันก็มักจะอ้างว่า ปัจจุบัน ไม่สนใจการเมืองแล้ว

งานวันรำลึกเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น สี่ปีกดดันจนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภา (9 ธ.ค.) สี่ปีชัตดาวน์กรุงเทพฯ การชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย (13 ม.ค.) ก็ไม่มีการเฉลิมฉลองใหญ่ใดๆ มีแค่การวนคลิปสรุปเหตุการณ์ในแฟนเพจของสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เท่านั้น

หรือโดยนัย ลึกๆ ในใจของผู้สนับสนุนกลุ่ม กปปส. หลายคนต่างรู้ดีว่าผลงานของ คสช. ไม่ได้เป็นไปตามทีหวังเลยแม้แต่น้อย

 แต่แล้วทำไมยังเป็นกองหนุนกันอยู่ล่ะ ? ทำไมถึงเชียร์ไม่ให้มีเลือกตั้งสักที ?

จากการตรวจสอบข้อมูลที่ปรากฏในผลโพลสถาบันการศึกษาชื่อดัง อาทิ นิด้าโพล สวนดุสิตโพล และกรุงเทพโพล ย้อนหลังหลายๆ ครั้ง ย้อนหลัง 3 ปี พบว่า เหตุผลที่คนยังสนับสนุนรัฐบาลนี้อยู่ค่อนข้างกระจัดกระจาย มีทั้งเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย การจัดระเบียบสังคม การให้สวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ฯลฯ จนแทบจะหาจุดร่วมอะไรไม่ได้

เมื่อโพลให้คำตอบไม่ได้ ลองไปหาดูจากงานวิจัยดีกว่า

ปลายปีก่อน มีการเปิดผลงานวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ ชื่อ “การเติบโตและการหันหลังให้กับประชาธิปไตยของชนชั้นกลางระดับบนในประเทศไทย” จัดทำโดย ธร ปีติดล และชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ สองนักวิชาการหนุ่มแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โดยโฟกัสไปที่ปรากฏการณ์ของกลุ่ม กปปส. ที่ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล จน คสช. เข้ายึดอำนาจเมื่อปี 2557

ทีมวิจัยพบว่า ผู้สนับสนุน กปปส. กว่า 50% เป็นคนกรุงเทพฯ อีก 50% เป็นคนต่างจังหวัด โดยคนต่างจังหวัด 70% มาจากภาคใต้ ฐานเสียงของกำนันสุเทพ

จากการศึกษาพบว่า บทบาทของ “ชนชั้นกลาง” ต่อ “ประชาธิปไตย” ค่อนข้างแปรผัน ช่วงพฤษภาคม 2535 เป็นพลังบวก แต่หลังวิกฤตการเมืองในปี 2549 ภาพจำเหล่านี้กลับเปลี่ยนแปลงไป

และเท่าที่ธร ชานนทร์ รวมถึงทีมงาน ได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปปส. จึงได้พบว่า ที่ชนชั้นกลางออกมาเคลื่อนไหว เป็นปัจจัยจากเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เกี่ยวกับหน้าที่ตามชนชั้นที่ตัวเองสังกัด

แต่ “การเลือกตั้ง” จะทำให้มีนักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ และมีนโยบายประชานิยมที่ทำให้ชาวบ้าน ซึ่งถูกมองว่าเป็นชนชั้นล่างสุดของสังคม ไม่พอใจในสิ่งที่ตนมีอีกต่อไป ทำให้ภาพรวมของสังคมได้รับการกระทบกระเทือน

แม้ทีมวิจัยจะออกตัวว่า ยังไม่พอใจผลการศึกษาในบางส่วน และจะพยายามควานหาข้อมูลต่อไป แต่สิ่งที่ปรากฏออกมาเบื้องต้น ก็ถือว่าน่าสนใจและชวนให้ถกเถียง

ใครจะเลือกเชื่อ เลือกเชียร์ เลือกสนับสนุนใคร ผมถือว่าเป็น “สิทธิส่วนบุคคล”

แต่อย่าเอาความเชื่อ ความเชียร์ ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ จนไม่ยอมให้คนอื่นๆ เข้าได้มี “สิทธิที่จะเลือก” บ้าง

3 แสนเสียงที่มีคุณภาพ ดีกว่า 15 ล้านเสียงที่ไม่มีคุณภาพ มันไม่ควรจะมีอยู่จริงในสังคมไทย

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog