ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในสิงคโปร์ระบุ กลุ่มก่อเหตุในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยไม่ใช่ 'นักรบญิฮาด' เพราะมีอุดมการณ์เชิงท้องถิ่นนิยม ยังไม่เชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธข้ามชาติ แต่ปัญหาชายแดนใต้จบเร็วจะดีต่อประเทศไทยมากที่สุด ชี้รัฐบาลควรติดต่อ 'บีอาร์เอ็น' เข้าร่วมพูดคุย

ยูจีน มาร์ค นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของสถาบันนานาชาติศึกษาราชารัตนัม มหาวิทยาลัยนันยาง ซึ่งเป็นสถาบันชั้นนำของสิงคโปร์ เผยแพร่บทความ Insurgents in southern Thailand aren’t jihadists เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยลงเว็บไซต์ East Asia Forum เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. โดยระบุว่า นักวิชาการนานาชาติเตือนให้กลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฝ้าระวังการขยายอิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธไอเอสจากตะวันออกกลาง เนื่องจากในภูมิภาคนี้มีกลุ่มติดอาวุธมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งกรณีมินดาเนาของฟิลิปปินส์ และจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

อย่างไรก็ตาม มาร์คระบุว่า กลุ่มติดอาวุธในประเทศไทยไม่ใช่ 'นักรบญิฮาด' เพราะมีอุดมการณ์การต่อสู้ในระดับท้องถิ่น เชื่อมโยงกับอดีตอาณาจักร 'ปาตานี' ที่เคยปกครองด้วยระบบสุลต่าน ก่อนที่ราชอาณาจักรสยามจะรุกรานเข้ายึดครอง การต่อสู้ของกลุ่มติดอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้จึงเป็นไปเพื่อรื้อฟื้นอัตลักษณ์และการปกครองแบบเดียวกับอาณาจักรปาตานีในอดีต แต่ไม่มีความเชื่อมโยงกับชาวมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย และไม่เชื่อมโยงกับชุดอุดมการณ์ของกลุ่มไอเอสที่อ้างถึงภราดรภาพมุสลิมในการต่อสู้กับสิ่งที่กลุ่มเห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสลาม

แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับ ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ก่อนหน้านี้ โดยระบุว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็น, พูโล หรือจีไอเอ็มพี มีแนวคิดเรื่องการต่อสู้แตกต่างไปจากกลุ่มติดอาวุธข้ามชาติ เพราะอุดมการณ์ในการต่อสู้ของกลุ่มในจังหวัดชายแดนใต้จะเป็นชาตินิยม มลายูนิยม ซึ่งเป็นแนวคิด 'ชาตินิยม' บวกกับ 'อิสลาม' ไม่สอดคล้องกับแนวทางของไอเอส ซึ่งเน้นการปฏิวัติอิสลามและแนวทางสุดโต่งทางศาสนาที่มีความเป็นสากลมากกว่า แต่ไม่มีความเป็นชาติ และไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นมลายู

'ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งสูญเสีย' แนะรัฐไทยคุย 'บีอาร์เอ็น'

บทความของมาร์ค ระบุว่า การพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งถือเป็นองค์กรร่วมของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมีมากกว่าหนึ่ง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การเจรจาดำเนินไปอย่างล่าช้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวแทนรัฐบาลไทยไม่ได้รวมกลุ่ม Barisan Revolusi Nasional หรือ 'บีอาร์เอ็น' ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่มีขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมากที่สุดในจังหวัดชายแดนใต้ เข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย 

FULL EP. ธุรกิจชายแดนใต้อ่วม เหตุไฟดับ 4 วัน

ก่อนหน้านี้เคยมีตัวแทนระดับสูงของกลุ่มบีอาร์เอ็นเข้าร่วมกับมาราปาตานี แต่เกิดข้อขัดแย้งกันในหมู่ผู้นำระดับสูงของบีอาร์เอ็น ทำให้มีผู้ออกมาแสดงความเห็นต่อต้านการพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย 

อย่างไรก็ตาม การก่อเหตุของกลุ่มบีอาร์เอ็นเกิดขึ้นจริงและยืดเยื้อ ทำให้เกิดความสูญเสียกับทั้งประชาชนในพื้นที่และภาครัฐ การหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวโดยเร็วที่สุดจะส่งผลดีกับทุกฝ่าย แต่ต้องเริ่มด้วยการหาทางพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นให้ได้ แต่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไปกับการฟื้นฟูสภาพสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่ให้สามารถรองรับความหลากหลายของการอยู่ร่วมกัน

สกัดแนวคิดรุนแรงแบ่งแยกคนต่างศาสนา

แนวคิดในการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย มองว่าชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จะต้องลุกขึ้นต่อต้านการยึดครองของราชอาณาจักรสยาม แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มชาวมุสลิมในภูมิภาคอื่นๆ ของไทย เช่นเดียวกับที่ไม่เชื่อมโยงกับแนวคิดอิสลามนิยมของกลุ่มนักรบญิฮาดต่างประเทศ

ส่วนการใช้วิธีพลีชีพหรือระเบิดฆ่าตัวตายแบบที่กลุ่มไอเอสนิยมใช้ มีโอกาสเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย 'น้อยมาก' เพราะกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ยังต้องการเสียงสนับสนุนจากประชาชน การก่อเหตุรุนแรงสุดโต่งจะทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนและเป็นผลเชิงลบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น เพราะปัจเจกบุคคลที่เห็นพ้องกับแนวคิดสุดโต่งของไอเอสอาจลงมือเองลำพัง หรืออาจแยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยต้องให้การช่วยเหลือและคุ้มครองชาวพุทธในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนว่าจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างหลากหลาย และจะต้องป้องกันการก่อตัวของกลุ่มชาวพุทธสุดโต่งที่ต้องการให้ใช้กำลังเข้ายุติปัญหาความขัดแย้ง

บทความของมาร์ค ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐไทยมีความพยายามที่จะควบคุมและตัดวงจรความรุนแรง โดยสกัดความเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ที่ปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธ รวมถึงยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: