ไม่พบผลการค้นหา
ส่วนตัวนึกไม่ค่อยออกเหมือนกันว่า มีพรรคการเมืองอื่นๆ ที่เปิดกว้างให้ “สมาชิกพรรค” ได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง “หัวหน้าพรรค” เหมือนอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บ้างหรือไม่

เพราะเท่าที่ทราบ บางพรรคก็ต้องรอให้คนต่างประเทศมาเลือก บางพรรคก็ให้นายทุนใหญ่เป็นหัวหน้า บางพรรคก็แทบจะเป็นของคนบางตระกูล ส่วนบางพรรคที่กำลังลับๆ ล่อๆ ซุ่มดูดอดีต ส.ส.จากพรรคอื่นอยู่ ตัวหัวหน้าพรรคไม่ค่อยจะมีความสำคัญเท่าไร เพราะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีน่าจะเป็นอีกคน (คนที่คุณก็รู้ว่าใคร)

เราจึงมักได้ยินสมาชิก ปชป. พูดอยู่เสมอด้วยความภาคภูมิใจว่า “พรรคนี้เป็นสถาบัน..พรรคนี้เป็นประชาธิปไตย”

และเป็นสิ่งที่ใครบางคน พยายามผลักดันให้พรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นสถาบัน ที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรคเช่นกัน (เหมือนกับ ปชป.) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่อย่าไปคิดว่า “ประชาธิปไตยแบบ ปชป.” จะเป็นเรื่องดีเสมอไป ลองติดตามอ่านกันต่อไป แล้วจะรู้ว่าทำไม

หลังมีการใช้มาตรา 44 คลายล็อกพรรคการเมือง พรรคที่ขยับตัวได้เร็วที่สุด กลับเป็น “คุณปู่ ปชป.” ที่ถึงปัจจุบันมีอายุ 72 ปีแล้ว ทั้งเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารและประชุมใหญ่พรรคเพื่อแก้ไขข้อบังคับ สำหรับเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่

จากนั้นปี่กลองก็บรรเลง เมื่อมี “ผู้ท้าชิง” ตำแหน่งหัวหน้า ปชป.จากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำนวนหนึ่งมาปรากฏตัว แต่คนที่ดูเอาจริงเอาจัง และมีลุ้นจะมาแข่งด้วยมากที่สุดก็คือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ที่มี ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา เป็นแบ็กอัพชั้นดี

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ที่ทำการ ปชป. ย่านถนนพระรามหก จึงเต็มไปด้วยคำถามหนึ่งที่ดังอื้ออึงว่า ใครอยู่ทีมหัวหน้า(อภิสิทธ์)? ใครอยู่ทีมเพื่อนหมอ(วรงค์)?

ที่จริงแล้ว ความพยายามในการเปลี่ยนตัวหัวหน้า ปชป.จากอภิสิทธิ์เป็นคนอื่น มีมาโดยตลอด หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง แพ้ 2 ครั้ง และบอยคอตอีก 2 ครั้ง

เป็น 13 ปีแห่งความข่มขื่น แม้จะพลิกมาเป็นรัฐบาลได้ครั้งหนึ่ง ท่ามกลางการสนับสนุนจากกองทัพ แต่ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามตีตราว่า “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” และอยู่ได้เพียง 2 ปีเศษ ท่ามกลางปัญหาสารพัด ทั้งจากการต่อรองสุดขีดจากพรรคร่วมรัฐบาล และจากการชุมนุมทางการเมืองขนาดใหญ่ที่จบลงด้วยการปราบปราม จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก (แต่ผมไม่เคยเรียกว่า คดี 99 ศพ เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตมีทั้ง 2 ฝ่าย และไม่ถึง 99 คน)

ชื่อของทั้งศุภชัย พานิชภักดิ์, สุรินทร์ พิศสุวรรณ(ก่อนเสียชีวิต), กรณ์ จาติกวณิช หรือกระทั่งชวน หลีกภัย ถูกโยนหินถามทางออกมาครั้งแล้ว-ครั้งเล่า

แต่ไทม์มิ่งยังไม่เหมาะสม ผู้ที่คิดสร้างความเปลี่ยนแปลงจึงยังไม่ลุกขึ้นมาปฏิบัติการใดๆ ได้แต่แอบหารือกันเงียบๆ กระทั่งเมื่อ คสช.คลายล็อก จึงเกิดเป็นช่อง ให้ลุกขึ้นมาก่อการ

“ทีมเพื่อนหมอ” ถูกมองจากขั้วอำนาจปัจจุบันใน ปชป. ว่ามีเงาทะมึนของใครบางคนอยู่เบื้องหลัง พร้อมกับการปล่อยข่าวเรื่องปฏิบัติการยึดพรรค หวังนำไปสนับสนุนนายพลคนดังให้ได้สืบทอดอำนาจ

ฟาก “ทีมหัวหน้า” ก็เร่งแก้เกม ด้วยการประกาศให้มีการหยั่งเสียงจากสมาชิกพรรคดั้งเดิม 2.9 ล้านคน ก่อนถึงวันโหวตเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่จริงๆ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อกันว่า หมากเกมนี้อภิสิทธิ์ได้เปรียบ นพ.วรงค์เต็มๆ แม้ผลการหยั่งเสียง จะไม่ผูกมัดการเลือกจริงก็ตาม

การเลือกหัวหน้า ปชป.ในอดีต เคยทำให้เกิดความขัดแย้งภายใน จนส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยในภาพใหญ่มาแล้วหลายครั้งหลายหน ทั้งการชิงตำแหน่งหัวหน้า ปชป. เมื่อปี 2531 ระหว่างพิชัย รัตตกุล กับเฉลิมพันธุ์ ศรีวิกรม์ ก่อให้เกิดกลุ่ม “กบฏ 10 มกราฯ”  ที่นำไปสู่การยุบสภาของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

หรือการของตำแหน่งหัวหน้า ปชป. เมื่อปี 2548 ระหว่างบัญญัติ บรรทัดฐาน แห่ง “กลุ่มทศวรรษใหม่” กับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่ง “กลุ่มผลัดใบ” ที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของคนหนุ่มสาว แต่คนรุ่นเก๋าก็ไปพ่ายในศึกเลือกตั้งใหญ่อีกทีหนึ่ง จนต้องลาออกในเวลาต่อมา

แต่เท่าที่ถามไถ่ข้อมูลภายใน สมาชิก ปชป.ต่างจับอาการของเหล่า “ผู้ใหญ่” ออกว่า งานนี้คงจะสนับสุนนหัวหน้าพรรคคนเดิมไปก่อน เพราะถ้าพรรคถูกยึดไปรับใช้ผู้มีอำนาจจริงๆ จะสูญเสีย “ความเป็นสถาบัน”

แต่ใช่ว่า ได้หัวหน้าพรรคคนเดิม แล้วจะไม่ไปสนับสนุนทหารใหญ่สืบทอดอำนาจ

เพราะตัวอภิสิทธิ์เองก็ได้ประกาศมาแล้วว่า สำหรับ พท. คงจะไม่จับมือกันเด็ดขาด เพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกัน แต่สำหรับพรรคการเมืองอื่นๆ (รวมถึงพรรคนอมินีทหาร) ต้องดูผลการเลือกตั้งก่อนว่า มีคะแนนมาเป็นอับดันหนึ่งหรือไม่

ทั้งที่ตัวอภิสิทธิ์และสมาชิก ปชป.รายอื่นๆ นั่นแหล่ะ ที่ออกมาเตือนและดักคอ คสช.อยู่บ่อยครั้ง ว่าอย่าใช้อำนาจที่มีอยู่เอาเปรียบคนอื่น อย่าทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์-ยุติธรรม

โจทย์ใหญ่ที่ คน ปชป.คุยกันอย่างหนักถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในปี 2562 ทั้ง 2 เรื่อง คือ “ทำอย่างไรไม่ให้เป็นพรรคต่ำร้อย (ได้ ส.ส.ไม่ถึง 100 คน)” กับ “จะวางตัวอย่างไรกับทหาร หลังเลือกตั้ง” ข้อแรกดูเหมือนยากจะหาคำตอบ แต่ข้อหลังเหมือนได้คำตอบคร่าวๆ แล้ว ไม่ว่าเวลานั้น หัวหน้าพรรคจะเป็นคนเก่าหรือคนใหม่

หรือประชาธิปไตยสำหรับ ปชป. จะมีขึ้น “แค่ภายในพรรค กับคนของพรรค” เท่านั้น

แต่ประชาธิปไตยในภาพใหญ่ ปชป.จะขอดูหน้างาน ดูเป็นรายกรณีๆ ไปขึ้นอยู่กับสถานการณ์ มีคำว่า ถ้า.. มี if clause เสมอ เป็นประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข

ทั้งๆ ที่วาทะของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้า ปชป. ยังโชว์หราอยู่ที่ทำการพรรค ตรงชั้นหนึ่ง ทางขึ้นไปสู่ห้องประชุมใหญ่

… "ประชาธิปัตย์สู้เพื่อประชาธิปไตย ในยุคเผด็จการทหาร” …


พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog