ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ญี่ปุ่น ไม่ปฏิเสธข่าวการเสนอชื่อ ปธน.สหรัฐฯ ชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อ้างอิงการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีเหนือเมื่อปีที่แล้ว แต่ฝ่ายค้านญี่ปุ่นแย้งว่า ถ้าการพูดคุยทำให้เกิดสันติภาพได้จริง รัฐบาลญี่ปุ่นคงไม่สั่งเพิ่มงบด้านความมั่นคง

หนังสือพิมพ์เดอะเจแปนไทม์ส รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวระดับสูงในรัฐบาลญี่ปุ่น ระบุว่านายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พรรคอนุรักษนิยมเป็นผู้เสนอชื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปีนี้ โดยระบุว่า ทรัมป์เป็นผู้ผลักดันให้มีการเจรจาแนวทางปลดอาวุธนิวเคลียร์ร่วมกับนายคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือเมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว เป็นผลงานสำคัญที่ปูทางไปสู่สันติภาพในภูมิภาคเอเชียและคาบสมุทรเกาหลี

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า นายอาเบะเสนอชื่อทรัมป์เพราะได้รับคำขอร้องโดยตรง และการตัดสินใจเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่มีลักษณะพึ่งพาอาศัยกันอยู่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่มีผลบังคับใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม มีเงื่อนไขว่าญี่ปุ่นไม่สามารถก่อตั้งกองทัพที่มีศักยภาพในการโจมตีผู้อื่นได้ ทำให้ญี่ปุ่นมีเพียงแค่กองกำลังป้องกันตนเอง และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และความมั่นคงจากกองทัพสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน ทรัมป์เองต้องการความสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรนอกสหภาพยุโรป (อียู) หลังจากคะแนนนิยมของเขาตกต่ำลงในหลายประเทศแถบอียู เนื่องจากทรัมป์ตัดสินใจถอนสหรัฐฯ ออกจากการเป็นภาคีข้อตกลงระหว่างประเทศในหลายด้าน ทั้งการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและภาวะโลกร้อน การวิพากษ์วิจารณ์และข่มขู่ว่าจะตัดงบสนับสนุนกองกำลังนาโต และการตัดงบช่วยเหลือโครงการสหประชาชาติหลายโครงการ


ทรัมป์ระบุ รัฐบาลของตนทำให้ญี่ปุ่นรู้สึก 'ปลอดภัย' 
แต่ฝ่ายค้านญี่ปุ่นแย้ง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมอาเบะต้องเพิ่มงบความมั่นคง?

ด้านเว็บไซต์ VOX รายงานว่านายโยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ไม่ได้แถลงยอมรับกรณีอาเบะเป็นผู้เสนอชื่อทรัมป์เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปฏิเสธ และย้ำว่านายกฯ อาเบะไม่ได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าวเช่นกัน พร้อมทั้งย้ำกฎของสถาบันโนเบลซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้เข้าชิงรางวัลแต่ละสาขา จะต้องเก็บเป็นความลับ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลผู้เสนอชื่อหรือผู้ที่ถูกเสนอชื่อ พร้อมระบุว่ารู้สึกไม่สบายใจที่ข้อมูลที่ควรจะเป็นความลับถูกเปิดเผยออกมา

อย่างไรก็ตาม สื่อญี่ปุ่นไม่ใช่รายเดียวที่เสนอข่าวดังกล่าว เพราะทรัมป์เป็นผู้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ด้วยตนเอง โดยเขาได้กล่าวระหว่างการปราศรัยเมื่อวันศุกร์ที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า นายอาเบะได้ส่งสำเนาจดหมายเสนอชื่อของตนเข้าชิงรางวัลโนเบลสันติภาพปีนี้ และข้อความในจดหมายนั้นงดงามมาก ส่วนเหตุผลสำคัญที่อาเบะเสนอชื่อของตนนั้น เป็นเพราะญี่ปุ่นมีขีปนาวุธและเรือรบพุ่งเป้าโจมตีอยู่ในภูมิภาค แต่ตนทำให้ญี่ปุ่น 'รู้สึกปลอดภัยขึ้น'

อาเบะ ทรัมป์ AP
  • ทรัมป์เดินทางเยือนญี่ปุ่นเมื่อเดือน พ.ย.2560 โดยย้ำว่า ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะเป็นพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่

ขณะที่ ชิเงรุ อิชิบะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์เจแปนไทม์สเพิ่มเติมว่า การเสนอชื่อทรัมป์น่าจะมีเหตุจูงใจทางการเมือง ส่วนเดอะการ์เดียน รายงานอ้างอิง ยูอิชิโระ ทามากิ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน DPP ที่มีจำนวนที่นั่งในสภามากเป็นอันดับ 3 ระบุว่า ถ้าการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือช่วยให้ญี่ปุ่น 'ปลอดภัย' ขึ้นจริงๆ ก็สวนทางกับความเป็นจริงที่รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่งอนุมัติเพิ่มงบประมาณด้านความมั่นคง

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้อนุมัติงบอีกกว่า 6 แสนล้านเยนเพื่อติดตั้งระบบยิงต่อต้านขีปนาวุธ AEGIS โดยระบุว่า ต้องการเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามในภูมิภาค


ทรัมป์ย้ำตัวเองเหมาะสม พร้อมแขวะโอบามา "ยังไม่ทันทำอะไรก็ได้รางวัลโนเบลแล้ว"

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า นายอาเบะอาจไม่ใช่ผู้นำทางการเมืองเพียงคนเดียวที่เสนอชื่อนายทรัมป์เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนอร์เวย์ 2 ราย สังกัดพรรคที่มีแนวคิดขวาจัดและชาตินิยม เสนอชื่อทรัมป์ไปก่อนแล้ว หลังจากที่มีการพูดคุยระหว่างทรัมป์และคิมที่สิงคโปร์เมื่อเดือน มิ.ย.2561

ส่วนนายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้เกิดการเจรจากันระหว่างทรัมป์และคิมจองอึนเมื่อปีที่แล้ว เคยให้สัมภาษณ์เช่นกันว่าทรัมป์ควรได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ ในฐานะที่เขาได้ทุ่มเทกำลังกายและความตั้งใจให้เกิดการพูดคุยครั้งประวัติศาสตร์ ขณะที่เกาหลีใต้ไม่ต้องการรางวัลใดๆ แต่ขอแค่ให้สันติภาพเกิดขึ้นจริงก็เพียงพอแล้ว

ทั้งนี้ นายบารัก โอบามา เป็นหนึ่งในอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพเมื่อปี 2552 หลังจากเขาชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน ซึ่งคณะกรรมการโนเบลระบุว่าเป็นการมอบรางวัลให้เขาในฐานะตัวแทนชาวอเมริกันทุกคนที่ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ โดยอ้างถึงการเข้าร่วมเจรจาข้อตกลงลดการสะสมอาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซีย ซึ่งทรัมป์ได้กล่าวพาดพิงกรณีดังกล่าวว่า โอบามายังไม่ทันได้ทำผลงานเป็นชิ้นเป็นอันก็ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพแล้ว แต่เขามีผลงานที่ชัดเจนกว่ามาก

คณะกรรมการพิจารณามอบรางวัลโนเบลเปิดเผยด้วยว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้มีทั้งหมด 304 รายชื่อ แบ่งเป็นบุคคล 219 รายชื่อ และนิติบุคคล 85 รายชื่อ โดยกำหนดการรับชื่อผู้เข้าชิงรางวัลสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: