ไม่พบผลการค้นหา
ศาลรัฐเดลาแวร์ อนุญาตให้ 'เฮิรทซ์' บริษัทรถเช่าสหรัฐฯ ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก จำนวน 246.8 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท ฟากทนายความและนักวิเคราะห์ชี้เป็นคำตัดสิน 'ไม่ปกติ' นี้ อาจไม่สร้างผลดีต่อผู้ซื้อหุ้น เหตุบริษัทอยู่ที่ระหว่างกระบวนการยื่นล้มละลาย

ศาลล้มละลายรัฐเดลาแวร์ของสหรัฐฯ มีคำตัดสินเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา อนุญาตให้ 'เฮิรทซ์' บริษัทให้เช่ารถยนต์รายใหญ่ซึ่งยื่นล้มละลายเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา สามารถขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ด้วยมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 30,900 ล้านบาท หลังบริษัทยื่นคำร้องฉุกเฉินต่อศาลเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ขออนุญาตขายหุ้นจำนวน 246.8 ล้านหุ้นให้กับเจฟเฟอรีกรุ๊ป ผู้ประกอบกิจการธุรกิจการเงินข้ามชาติ

ทั้งนี้ คำตัดสินดังกล่าวนับเป็นการกระทำแปลกใหม่สำหรับบริษัทที่ยื่นล้มละลายภายใต้ '(Chapter 11) แห่งกฎหมายล้มละลายของสหรัฐฯ' เพราะอาจทำให้หุ้นในมือของผู้ถือหุ้นซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี สูญเสียมูลค่าไปแทบทั้งหมดได้ แม้ในคำสั่งดังกล่าว ผู้พิพากษา แมรี วอลรัธ ชี้ว่าบริษัทสามารถใช้โอกาสนี้ระดมทุนจากการขายหุ้นในตลาดให้กับนักลงทุนที่ยังแสดงท่าทีสนใจ แม้ว่าเฮิรทซ์กำลังเผชิญความยากลำบากด้านสถานะทางการเงินอยู่

โทมัส ลอเรีย ทนายความของเฮิรทซ์ยังยอมรับในศาลว่า หุ้นของบริษัท "ในท้ายที่สุดอาจไร้มูลค่าได้" อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่าก็เป็นเรื่องที่ฟันธงอย่างชัดเจนไม่ได้เช่นเดียวกัน 

จอห์น เพ็นน์ ทนายความด้านกฎหมายล้มละลาย จากสำนักกฎหมายเพอร์คินส์ คอย ชี้ว่า "ผมจะให้คะแนนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนบางสิ่งที่แทบจะไร้มูลค่าเป็นเงินมหาศาล" ขณะที่ ลอร์รี แมคโดนัลด์ บรรณาธิการด้านตลาดหุ้นเตือนว่าบริษัทเจฟเฟอรีควรระมัดระวังการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ พร้อมเสริมว่า "ผมได้กลิ่นบางอย่าง ผมไม่รู้ว่าพวกเขาอนุญาตให้เป็นแบบนี้ได้ยังไง แต่เดาว่ามันคงไม่ขัดกับกฎหมาย" 

หลังได้รับคำอนุญาตจากศาลฯ ราคาหุ้นของเฮิรทซ์พุ่งขึ้นกว่าร้อยละ 37.4 ก่อนจะมาปิดตลาดเมื่อศุกร์ที่ผ่านมา (12 มิ.ย.) ในราคา 2.83 ดอลลาร์สหรัฐฯ/หุ้น (87.67 บาท) และมีปริมาณการซื้อขายมากกว่า 240 ล้านหุ้นตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงยืดเวลาขายต่อหลังปิดตลาด หุ้นของเฮิร์ทซกลับตกลงมาราวร้อยละ 7  

เฮิรทซ์ ย้ำว่าเม็ดเงินที่ได้จากการขายหุ้นครั้งนี้จะนำมาใช้เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ และย้ำว่านี้เป็น 'โอกาสจำเพาะ' เพื่อการเพิ่มสภาพคล่องที่ดีให้กับบริษัทมากกว่าการขอสินเชื่อแบบมีภาระผูกพันตามปกติแบบที่บริษัทยื่นล้มละลายอื่นๆ มักทำกัน 

อ้างอิง; CNN, FP, WSJ, CNBC

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;