ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารโลกแจงตัวเลขชนชั้นกลางจะลดลงจากร้อยละ 50.6 มาเหลือแค่ร้อยละ 38.4 ในจำนวนผู้ได้รับผลกระทบนี้ ผู้หญิง-เยาวชน-เกษตรกร-ธุรกิจขนาดเล้ก คือกลุ่มเปราะบาง

รายงานติดตามเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จากธนาคารโลก แสดงข้อมูลตอกย้ำว่าสัดส่วนชนชั้นกลางที่วัดจากระดับรายได้ 470 บาท/วัน ขึ้นไป กำลังลดลง ขณะกลุ่มคนผู้มีรายได้ต่ำกว่านี้กลับเพิ่มสูงขึ้น

อาร์วิน แนร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มธนาคารโลก อธิบายว่า เมื่อแบ่งประชากรออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ชนชั้นกลาง 2.ผู้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจแต่มีรายได้ต่ำกว่าชนชั้นกลาง (มีระดับรายได้ประมาณ 170 บาท/วัน) และ 3.ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ในสถานการณ์ไตรมาสแรกของปีนี้ก่อนเกิดโควิด พบว่ามีสัดส่วนชนชั้นกลางทั้งสิ้นร้อยละ 50.6 ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวกลับลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 38.4 เท่านั้น เมื่อคำนวณว่าครัวเรือนเหล่านี้ได้รับผลกระทบเรื่องรายรับราวร้อยละ 75 หลังต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาด

ป่า-ภูเขา-วิถีชีวิต-ฤดูแล้ง-เชียงใหม่-เกษตรกร

สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งเลวร้ายมากเมื่อมองแยกตามรายอาชีพ โดยครัวเรือนทีีมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เหลือผู้มีรายได้ในระดับชนชั้นกลางเพียงร้อยละ 9.2 เท่านั้นหลังเกิดโควิด-19 จากที่ก่อนหน้านี้มีระดับผู้มีรายได้แบบคนชนชั้นกลางที่ร้อยละ 20.3 ขณะสัดส่วนประชากรผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่าระดับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพิ่มจากร้อยละ 20 ขึ้นไปเป็น 34.7 ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้คำนวณรวมเงินเยียวยาจากภาครัฐแล้วด้วยซ้ำ


กลุ่มเปราะบาง

ด้าน ดร.อนรรฆ เสรเชษฐพงษ์ นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนา โครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เปิดข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากประชาชนกว่า 8 ล้านคน ตามข้อมูลจากธนาคารโลกที่จะได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ขาดหายไปจากโควิด-19 เมื่อมองให้ลึกลงไปกว่านั้น ยังพบว่าในจำนวนผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ก็ยังมีกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องแบกแรงปะทะหนักกว่ากลุ่มอื่น

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากงานศึกษาของ UNDP ชี้ว่า เมื่อจำแนกตามเพศพบว่า เพศหญิงมีความเสี่ยงเผชิญหน้าผลกระทบจากโรคระบาดมากกว่าเพศชาย โดยเมื่อแบ่งระดับความเสี่ยงในการสูญเสียงานออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ความเสี่ยงต่ำ 2.ความเสี่ยงปานกลาง และ 3.ความเสี่ยงสูง พบว่าผู้หญิงต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงสูงถึงร้อยละ 30 ขณะที่ผู้ชายเผชิญหน้ากับความเสี่ยงในระดับเดียวกันเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น

ดร.อนรรฆ ชี้ว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เพศหญิงสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียงานมากกว่าเพศชายเป็นเพราะบริบททางสังคมที่บีบบังคับให้ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายดูแลทั้งผู้สูงอายุและบุตรหลานในครอบครัว ทำให้ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น

นักศึกษา ธรรมศาสตร์ เสวนาย้อนบ้านพิษณุโลก การทูตไทย

ผลสำรวจยังพบว่ากลุ่มเยาวชนหรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี มีอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ตัวเลขการว่างงานในกลุ่มเยาวชนไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 4.2 จากเดิมที่อยู่เพียงร้อยละ 3.7 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

อีกหนึ่งกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจคือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กที่นอกจากจะต้องแบกภาระสูงยังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่ทั่วถึง ตัวเลขจาก UNDP ชี้ว่า มีบริษัทขนาดเล็กเพียงร้อยละ 26 เท่านั้นที่เข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล ขณะที่สัดส่วนความช่วยเหลือนี้สูงถึงร้อยละ 35 ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งต้องถือว่ามีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจมากกว่ามาก

ท้ายที่สุด ดร.อนรรฆ กลับมาย้ำที่ภาคการเฏษตรซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขและข้อมูลของธนาคารโลกว่าสมควรได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างจริงจังเพราะเผชิญหน้ากับความท้าทายอย่างมากจากองค์ประกอบหลายประการ ทั้งรายได้ในครัวเรือนที่ลดลง ความไม่แน่นอนของผลผลิต อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนตัว รวมไปถึงค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น จนเป้นเหตุในกว่าร้อยละ 50 ของครัวเรือนเกษตรกรยอมรับถึงความยากลำบากในการชำระหนี้คืน

จากปัญหาทั้งหมด ดร.อนรรฆ เห็นพ้องกับ ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชากรโดยเน้นไปที่การเจาะกลุ่มผู้เปราะบาง (targeted) เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการใช้จ่ายงบภาครัฐให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ ดร.เกียรติพงศ์ ยังย้ำถึงการปรับปรุงโครงสร้างการสนับสนุนทางสังคมต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาว่ายังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ขณะ อาร์วิน ปิดท้ายว่า สำหรับนโยบายที่บังคับใช้ไปก่อหน้าแล้ว อาทิ เงินเยียวยา 5,000 บาท ก็จำเป็นต้องมีการทบทวนบทเรียนว่าสิ่งที่บังคับใช้มีศักยภาพมากน้อยแค่ไหนและจะปรับปรุงให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร