ไม่พบผลการค้นหา
สัญญาลมปาก หรือทำได้จริง ? ตามผลงานที่ 'โจ ไบเดน' ทำอะไรไปบ้างในช่วง 100 วันแรกหลังรับตำแหน่งประธานาธิบดี

ค่ำวันที่ 28 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่นกรุงวอชิงตันดี.ซี. ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทำการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภา (State of the Union) ท่ามกลางที่ประชุมร่วมของสภาคองเกรส ซึ่งมีขึ้นเพียงหนึ่งวัน ก่อนจะครบกำหนด 100 วันแรก หลังเข้ารับตำแหน่งในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 46 

การกล่าวแถลงต่อสภาครั้งนี้นับเป็นการกล่าวสุนทรพจน์แถลงนโยบายครั้งแรกต่อที่ประชุมทั้งสองสภา โดยสิ่งที่หลายฝ่ายจับตาคือ ผลงานของคณะบริหารไบเดนตลอดช่วง 100 วันแรก ซึ่งได้แก่ ความคืบหน้าในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการวัคซีน 200 ล้านโดสใน 100 วันแรก แนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงแผนนโยบายที่เตรียมดำเนินการในอนาคตโดยเฉพาะแพ็คเกจการใช้งานมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ในการยกระดับปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งประเทศ

หากเทียบคะแนนนิยมในช่วง 100 วันแรกของไบเดน กับผู้นำสหรัฐฯ คนอื่นๆในอดีต จะพบว่า ไบเดน ได้รับคะแนนนิยมจากชาวอเมริกันราว 57% มากกว่าอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเคยได้ที่ 41% แต่ยังน้อยกว่าอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ 65%

100 วันแรกในทำเนียบขาวสำหรับประธานาธิบดีคนใหม่ เสมือนกับช่วง "ฮันนีมูน" ที่ผู้นำคนล่าสุดต้องเข็นนโยบาย และสร้างผลงานตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้ตอนหาเสียงให้ได้มากที่สุด แต่ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโควิด 100 วันแรกของผู้นำสหรัฐฯ หมายเลข 46 มันเป็นความท้าทายอย่างเร่งด่วนที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา 'วอยซ์' ชวนผู้อ่านไปติดตามว่านับตั้งแต่ที่ไบเดนสาบานตนรับตำแหน่งในทำเนียบขาว เขาทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง ?


วัคซีน 100 วัน

สิ่งที่ไบเดนสัญญาไว้: "คณะบริหารขอผมจะผลักดันแผนฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 100 ล้านโดสในร้อยวันแรก" 8 ธ.ค. 2020

สิ่งที่ไบเดนทำได้ : โจ ไบเดนทำได้เกินเป้า สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนโควิดไม่น้อยกว่า 220 ล้านโดส มากกว่าเป้าที่เคยตั้งไว้สองเท่า

แน่นอนว่าเรื่องวัคซีนเป็น ผลงานชิ้นโบว์แดงของไบเดนในช่วงร้อยวันแรก หนีไม่พ้นกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแก่ชาวอเมริกันในช่วงหนึ่งร้อยวัน ให้ได้มากที่สุด ในตอนแรก ไบเดนตั้งเป้าฉีดไว้ที่ 100 ล้านโดส ภายในร้อยวันแรก แต่ด้วยความพร้อมด้านทรัพยากรต่างๆ รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนล็อตใหญ่ของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา

เพียง 59 วันแรกหลังรับตำแหน่ง สหรัฐฯ ทะลุเป้า 100 ล้านโดสได้สำเร็จ จากนั้นสามารถฉีดได้ถึง 150 ล้านโดสในวันที่ 75 ด้วยศักยภาพดังกล่าว ไบเดนขยายเป้าการฉีดวัคซีนเป็น 200 ล้านโดส ภายในร้อยวัน ณ จุดนี้มีชาวอเมริกันมากกว่า 200 ล้านคน หรือโดยประมาณ 52% ของประชากรผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และสหรัฐฯ ยังมีอัตราการฉีดเฉลี่ยที่ 3 ล้านโดสต่อวัน นั่นหมายความว่าเมื่อครบ 100วัน การฉีดจะทะลุเป้าไปที่ 230 ล้านโดส

หนึ่งในเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้านโควิด ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับทำเนียบขาวตั้งแต่ยุคทรัมป์มาจนถึงยุคไบเดน ให้ความเห็นว่า ยุคทรัมป์เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนในแง่นโยบายวัคซีน "ความยุ่งเหยิงที่เราได้รับมาจากการบริหารงานชุดก่อนหน้า ทำให้เมื่อคณะบริหารชุดใหม่เข้ามา ตอนนั้นเราแทบไม่มีแผนที่จะฉีดวัคซีนให้กับชาวอเมริกันทุกคนอย่างแท้จริง"

แม้ยุคทรัมป์ จะมีสัญญาการจัดหาวัคซีนจากทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา แต่จากรายงานของนิวยอร์กไทมส์ ระบุว่า ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางและทำเนียบขาวภายใต้ยุคไบเดน มีความกระตือรือร้นอย่างมากกว่าคณะบริหารชุดก่อน ในการสร้างความชัดเจนเชิงนโยบายวัคซีน หลังเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน ไบเดนได้ใช้สัญญาเดิมที่ทำกับไฟเซอร์และโมเดอร์นา ในการเจรจาเพิ่มโควตาจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประชากรผู้ใหญ่ทุกคนในประเทศที่มีราว 300 ล้านคนทันที ไบเดนอาศัยช่องทางกฎหมายจากยุคสงครามเกาหลี ด้วยการลงนามคำสั่งประธานาธิบดีผ่านบัญญัติเพิ่มศัยกภาพการผลิตเพื่อการป้องกันและความมั่นคงของชาติ ไบเดนทำให้นโยบายด้านวัคซีนกลายเป็นประเด็นด้าน "ความมั่นคงของชาติ" ไม่ต่างกับภัยจากสงครามหรือก่อการร้าย นั่นหมายความว่า รัฐบาลกลางสามารถช่วยจัดหาทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นให้ไฟเซอร์ในการเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนของโรงงานที่รัฐมิชิแกนได้ เทียบกับก่อนหน้านี้ในยุคทรัมป์ เขาปฏิเสธที่จะใช้คำสั่งดังกล่าว

แนวทางเดียวกันนี้ ถูกนำมาใช้กับวัคซีนเข็มเดียวของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เพื่อให้สามารถเข้ามาเสริมกำลังศักยภาพการฉีดในประเทศให้มากขึ้น นอกเหนือจากเพิ่มกำลังผลิตวัคซีน ฝ่ายบริหารไบเดนได้เตรียมสถานที่สำหรับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ซึ่งถูกบริหารโดยหน

ฝ่ายบริหารของ Biden ได้สร้างสถานที่ฉีดวัคซีนจำนวนมากมากกว่าหนึ่งโหลที่บริหารโดยสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (Federal Emergency Management Agency) มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเจ้าหน้าด้านการทหารค่อยประสานงานในการจัดส่งวัคซีนและให้การสนับสนุนกระบวนการฉีดทั้งหมด

โจ ไบเดน


เปิดชั้นเรียนทั่วประเทศ

สิ่งที่ไบเดนสัญญาไว้: "หากรัฐหรือเมืองใดที่สามารถวางมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข็มแข็งพอ ทีมของผมจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้โรงเรียนส่วนใหญ่กลับมาเปิดการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามปกติใน 100 วันแรก" 

สิ่งที่ไบเดนทำได้: "โรงเรียนทั่วประเทศส่วนใหญ่เปิดชั้นเรียนอีกครั้ง" (แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด)

โจ ไบเดน กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงเมื่อ 8 ธ.ค. 2020 ว่า เขาสัญญาว่าจะให้โรงเรียนทั่วประเทศกลับมาเปิดทำการเรียนการสอนอีกครั้ง หลังจากถูกสั่งปิดไปเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิของปีที่ผ่านมาภายใต้คำสั่งของโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ด้วยสถานการณ์โควิดที่แตกต่างไปกันในแต่ละพื้นที่มลรัฐ แม้ว่าวัคซีนจะถูกฉีดไปแล้วเป็นจำนวนมากก็ตาม ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้วนักเรียนทั่วสหรัฐฯ ราว 60% ต้องเรียนออนไลน์ ส่วนเมื่อไบเดนเข้ามาบริหารนักเรียนทั่วประเทศราว 49.5% ยังคงเรียนผ่านทางออนไลน์ (Zoom school) มีบางเขตเคาท์ตี้ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 17.8% ของโรงเรียนทั่วประเทศที่กลับมาเปิดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ในแต่ละสัปดาห์ 

เดือนกุมภาพันธ์ เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า คณะบริหารไบเดนตั้งเป้าไว้ว่าให้โรงเรียนทั่วประเทศเกินครึ่งหนึ่ง กลับมาเปิดชั้นเรียนอีกครั้งหรือหมายถึงการให้โรงเรียนรัฐเกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด แม้ว่าไบเดนต้องเผชิญความท้าทายจากบรรดาสหภาพครูในหลายมลรัฐที่ต้องการให้เปิดชั้นเรียนเช่นกัน แต่สวนทางกับนโยบายของผู้ว่าการรัฐบางรัฐที่เป็นฝ่ายรีพับลิกัน แต่ด้วยอานิสงฆ์จากมาตรการวัคซีนอันคืบหน้า ทำให้โรงเรียนกลับมาเปิดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้อีกครั้ง แม้บางแห่งจะใช้การสอนแบบผสมผสานที่ให้นักเรียนบางส่วนเรียนออนไลน์สลับกับบางส่วนเข้าชั้นเรียนเพื่อลดความแออัด

ภายใต้คำสัญญาเปิดเรียนใน 100 วันของไบเดน ถึงขณะนี้สหรัฐฯ มีนักเรียนเพียงร้อยละ 5.6% ที่เรียนผ่านออนไลน์ ขณะที่นักเรียนโรงเรียนรัฐส่วนใหญ่ราว 65.3% กลับมาเรียนมาชั้นเรียนแล้ว ขณะที่อีก 29.1 % เรียนแบบผสมผสาน แมว่าเด็กๆ และครูยังต้องสวมถุงมือขณะใช้ปากกาไวท์บอร์ดหรือเขียนชอล์กบนกระดานก็ตาม

AFP - สหรัฐฯ โควิด โจ ไบเดน


สวมหน้ากากทั่วประเทศ

สิ่งที่ไบเดนสัญญาไว้: "ใน 100 วันแรกของผจะขอให้ประชาชนทุกคนต้องสวมหน้ากากเมื่ออยู่ภายนอกเฉพาะใน 100 วัน ไม่ใช่ตลอดไป"

สิ่งที่ไบเดนทำได้จริง: การออกคำสั่งพิเศษของฝ่ายบริหารมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการสวมหน้ากากทั่วประเทศ โดยเฉพาะการอยู่ในพื้นที่สำนักงานของรัฐบาลกลาง รวมถึงออกกำหนดให้ต้องใช้หน้ากากขณะเดินทางตามระบบขนส่งต่างๆ รวมถึงรถไฟเครื่องบิน และรถโดยสารระหว่างเมือง

"ชาวอเมริกันทุกคนควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่ออยู่ภายนอกอย่างน้อยใน 3 เดือนข้างหน้า .. เรามาเริ่มสวมหน้ากากกันทั่วประเทศทันทีและมันจะช่วยชีวิตคนอีกหลายคน นี่ไม่ใช่ภาระ แต่เพื่อปกป้องกันและกัน" ตอนหนึ่งของคำแถลงของไบเดนในประเด็นหน้าสวมหน้ากาก

เรื่องนี้มีเสียงทั้งชื่นชมและไม่เห็นด้วยจากสองฝั่งการเมือง ฝ่ายสนับสนุนมองว่าไบเดนประสบความสำเร็จของการสร้างตัวอย่างต่อสังคมในการสวมหน้ากากเพื่อลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ ซึ่งตัวเขาเองก็มักสวมหน้ากากเวลาออกที่สาธารณะเช่นกัน แต่ก็มีอีกฝั่งที่ตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจของรัฐบาลกลางในการกำหนดพฤติกรรมของประชาชน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบางคนชี้ว่าการตราโทษหรือออกข้อบังับดังกล่าวในระดับคำสั่งของรัฐบาลกลางนั้นชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

นักการเมืองฝั่งรีพับลิกันบางรายพยายามใช้ช่องทางตามกฎหมายท้องถิ่น สวนคำสั่งของไบเดน โดยบางรัฐซึ่งเป็นฐานเสียงอนุรักษ์นิยมอย่างเท็กซัส และมิสซิสซิปปี ผู้ว่าการรัฐได้ออกคำสั่งยกเลิกข้อบังคับสวมหน้ากาก ส่งผลให้ช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาพื้นที่รัฐเหล่านี้กลับมาตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งสูงขึ้น ไบเดนทำอะไรไม่ได้มากนอกจากวิจารณ์ว่าเป็นความคิดแบบมนุษย์ยุคหิน

อย่างไรก็ดี หลังจำนวนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ล่าสุด 27 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักควบคุมโรคระบาด (CDC) ผ่อนคลายข้อกำหนดในการสวมหน้ากากขณะอยู่ภายนอก สำหรับชาวอเมริกันที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว นับเป็นก้าวเล็กๆ นำไปสู่ 'มาตรการปลดหน้ากาก' หากว่าประชากรสหรัฐฯ เกินครึ่งรับวัคซีนครบทั้งสองเข็ม


สิ่งแวดล้อม

สิ่งที่ไบเดนสัญญาไว้: "กลับเข้าร่วมความตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิปารีส (Paris Agreement)"

สิ่งที่ไบเดนทำได้จริง: กลับเข้าร่วมข้อตกลง Paris Climate Accord แทบจะทันทีที่เข้าห้องทำงานรูปไข่ พร้อมออกคำสั่งของฝ่ายบริหารยกเลิกโครงการที่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมสมัยทรัมป์ อย่างโครงการท่อน้ำมัน Keystone XL

ไบเดนซึ่งชูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอดนั้น ได้ตั้งเป้าให้สหรัฐฯ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของให้ต่ำกว่าระดับที่เคยปล่อยเมื่อปี 2548 ถึง 50% ภายในปี 2573 ผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และลดการพึงพิงพลังงานฟอสซิล


ผู้อพยพ

สิ่งที่ไบเดนสัญญาไว้: ออกคำสั่งสวนทางคำสั่งสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ในทุกประเด็นที่เกี่ยวกับผู้อพยพ

สิ่งที่ไบเดนทำได้จริง: ออกกฎหมายเพื่อเปิดทางสู่การเป็นพลเมืองสำหรับผู้อพยพในสหรัฐฯ ที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย, ยกเลิกมาตรการแยกเด็กและผู้ปกครองที่ชายแดน, ยุติคำสั่งฝ่ายบริหารจากยุคทรัมป์ห้ามพลเมืองมุสลิมบางชาติเดินทางเข้าสหรัฐฯ

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในประเด็นสำคัญๆ ของคำสัญญาที่ไบเดนให้ไว้ตอนหาเสียง แล้วสามารถทำได้เร็จภายใน 100 วันแรก อย่างไรก็ดี ยังคงมีความท้าทายอีกมากสำหรับผู้นำหมายเลข 46 ไม่อาจทำได้สำเร็จภายในร้อยวัน และยังคงรอคอยอยู่ในภายหน้า ทั้งประเด็นเรื่องปมปัญหาการเหยียดสีผิวของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน , ชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ประเด็นเรื่องความมั่นคงหลังไบเดนขีดเส้นถอนทหารสหรัฐฯ พ้นอัฟกานิสถาน ซึ่งเชื่อว่าจะมุ่งเป้ามาจัดการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในเอเชีย การเปิดรับผู้อพยพ ไปจนถึงแผนแพ็คเกจการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งรวมไปถึงการเตรียมใช้งบประมาณก้อนใหญ่นับล้านล้านดอลลาร์ 'ยกเครื่อง' โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของประเทศ

ที่มา : news.yahoo , BBC , CBC , NPR , CNN