ไม่พบผลการค้นหา
เมื่ออดีตหน่วยรบพิเศษและ CIA 'รวมการเฉพาะกิจ' เปิดปฏิบัติการพิเศษที่ไม่ต่างจากหนังฮอลลีวูด ตั้งกลุ่มอาสาฝ่าวงล้อมกลุ่มตาลีบันและไอซิส ช่วยชีวิตอพยพคนอัฟกันออกนอกประเทศ

31 สิงหาคม ซึ่งเป็นกำหนดสุดท้ายที่กลุ่มตาลีบันจะอนุญาตให้กองกำลังต่างชาติควบคุมสนามบินกรุงคาบูล เพื่อทำการอพยพเจ้าหน้าที่ของตนออกจากประเทศ ทว่าระหว่างปฏิบัติการอพยพดังกล่าว เกิดเหตุกลุ่มก่อการร้าย ISIS-K ก่อเหตุระเบิดพลีชีพที่บริเวณทางเข้าสนามบิน จนส่งผลให้เจ้าหน้าที่กองกำลังสหรัฐฯเสียชีวิต 13 นาย และพลเรือนอัฟกันสังเวยชีวิตอีกหลายสิบ นั่นเป็นเหตุให้บรรดาอดีตเจ้าหน้าที่ในหน่วยรบพิเศษ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่หน่วย CIA สหรัฐฯ ต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลา ในปฏิบัติการ Pineapple Express เพื่ออพยพทั้งพลเรือนชาวอัฟกันและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ออกจากพื้นที่อย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด

สำหรับปฏิบัติการ Pineapple Express แทบไม่ต่างจากเรื่องราวในภาพยนต์ฮอลลีวูด ปฏิบัติการนี้เริ่มขึ้นก่อนหน้าเหตุก่อการร้ายที่สนามบินคาบูลเพียงไม่กี่วัน ท่ามกลางกระแสข่าวจากบรรดาเครือข่ายหน่วยข่าวกรองชาติตะวันตกต่างออกมาเตือนว่า มีความเสี่ยงก่อการร้าย ซึ่งหลังเกิดคำเตือนดังกล่าวไม่ถึง 24 ชั่วโมง กลุ่มไอซิส-เค ลงมือก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายสังหารทั้งชาวอัฟกันและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ

'Pineapple Express' เป็นปฏิบัติการเฉพาะกิจที่บรรดาอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ทหารหน่วยรบพิเศษ ตลอดจนอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ รวมถึงผู้ที่มีประสบการณ์ในพื้นที่อัฟกานิสถาน "จับมือ" ร่วมกันเป็นกลุ่มอาสา พลเรือนชาวอัฟกันรวมถึงครอบครัวของพวกเขา เดินทางลี้ภัยออกจากกรุงคาบูล 

ตาลีบัน อัฟกานิสถาน

พันเอก สก็อตต์ แมนน์ (Scott Mann) นายทหารเกษียนและอดีตหัวหน้าหน่วยรบพิเศษกรีนเบอเรต์ของสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำปฏิบัติการ Pineapple Express ดังกล่าว เปิดเผยกับ ABC News ของสหรัฐฯ ว่า 

"ขณะนี้ยังคงมีบุคคลที่อยู่ในความเสี่ยงสูงมากหลายสิบคน ทั้งครอบครัว เด็กเล็ก ตลอดจนสตรีมีครรภ์จำนวนมากที่ถูกเคลื่อนย้ายอย่างลับๆ ไปตามถนนของกรุงคาบูลช่วงค่ำคืนจนถึงวันที่สนามบินกรุงคาบูลถูกโจมตีด้วยระเบิดพลีชีพจากฝีมือของไอซิส-เค เพื่อนำส่งพวกเขาไปยังที่ที่ปลอดภัยและมีเสรีภาพ"

ปฏิบัติการทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนอย่างไม่เป็นทางการ บรรดาชาวอัฟกันรวมถึงครอบครัวของทหารในกองทัพอัฟกันซึ่งหวั่นเกรงการถูกตาลีบันตามล้างแค้น พวกเขาจะได้รับการคุ้มกันจากบรรดาเจ้าหน้าที่ของอดีตทหารสหรัฐ ด้วยวิธีการนำทางผ่านโทรศัพท์มือถือ ให้เดินทางผ่านกรุงคาบูลยามค่ำคืนด้วยเส้นทางที่แตกต่างกัน กำลังพลของอาสาสมัครรบพิเศษกลุ่มนี้เป็นปฏิบัติการอย่างไม่เป็นทางการ คู่ขนานไปกับปฏิบัติการอย่างเป็นทางการของกองทัพสหรัฐและสถานทูตสหรัฐเพื่ออพยพชาวอัฟกัน

มักใช้วีธีการเดินทางแบ่งเป็นกลุ่มขนาดเล็ก บางครั้งออกปฏิบัติการเพื่ออพยพคนเพียง 1 หรือ 2 คน จากแหล่งพักพิงที่ปลอดภัย เป็นกลุ่มละเล็กละน้อย โดยมีบรรดาอดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่อดีตหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯให้การคุ้มครอง และอาจรวมไปถึงปลอมแปลงตัวตนเดินทางไปยังสนามบินของกรุงคาบูลช่วงเวลากลางคืน เพื่อส่งต่อให้กองทัพสหรัฐรับไปดูแลต่อไป จากการเปิดเผยของพันเอกแมนน์ ระบุว่า ตลอด 10 วันนับตั้งแต่ที่เปิดปฏิบัติการ Pineapple Express กลุ่มปฏิบัติการพิเศษนี้ได้ช่วยเหลือชาวอัฟกันไปแล้วไม่น้อยกว่า 500 ราย จำนวนนี้รวมถึงครอบครัวของทหารอัฟกันที่ต้องการอพยพออกนอกประเทศด้วย และยังดำเนินอยู่แม้จะมีการวางระเบิดฆ่าตัวตายในกรุงคาบูลจากฝีมือของกลุ่ม ISIS-K

อัฟกานิสถาน ตาลีบัน

พันเอกแมนน์ เผยว่า กลุ่มเป้าหมายที่เป็นพลเมืองอัฟกัน จะถูกเรียกผ่านโค้ดเนม หรือ นามรหัสว่า "ผู้โดยสาร" ส่วนกองกำลังปฏิบัติการพิเศษที่ให้การช่วยเหลือจะเรียกว่า "คนต้อนแกะ" คนเหล่านี้เป็นกลุ่มอดีตทหารสหรัฐฯและอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอที่มีเคยมีประสบการณ์ในพื้นที่สงครามแล้วทั้งสิ้น ABC News รายงานด้วยว่า จากเหตุระเบิดที่สนามบินคาบูล เมื่อ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ในปฎิบัติการ Pineapple Express ได้รับบาดเจ็บจากการระเบิดดังกล่าวด้วย

พันเอก แมนน์ เล่าว่าได้แนวคิดจากปฏิบัติการนี้เมื่อ 15 สิงหาคม หลังจากที่เขาได้รับการติดต่อจากอดีตเพื่อนร่วมงานชาวอัฟกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่หน่วยรบพิเศษของอัฟกานิสถาน ที่ได้รับข้อความ SMS ขู่ฆ่าจากกลุ่มตาลีบัน เนื่องจากตาลีบันรู้ว่าเขาเคยทำงานกับหน่วยรบพิเศษของสหรัฐและซีลทีม 6 มานานหลายปี ในการสังหารผู้นำระดับสูงของตาลีบัน โดยเมื่อสองเดือนก่อนหน้านั้น ตัวเขาเองก็หลบหนีจากฐานปฏิบัติการแห่งหนึ่งที่ถูกตาลีบันตีแตกได้อย่างเฉียดฉิว และกำลังรอวีซ่าผู้อพยพอยู่ แต่ทว่าตาลีบันสามารถยึดครองคาบูลได้อย่างรวดเร็ว อดีตทหารอัฟกันผู้นี้จึงขอความช่วยเหลือต่อเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือเขาและสมาชิกในครอบครัวอีก 6 คน อดีตเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จึงเปิดปฏิบัติการเฉพาะกิจพร้อมวางแผนประสานงานกับชุดปฏิบัติการที่มีกำลังพลราว 50 นาย สื่อสารผ่านห้องแชตเข้ารหัส ทยอยพาสมาชิกครอบครัวทหารอัฟกันผู้นี้ เดินทางผ่านใจกลางกรุงคาบูลยามค่ำคืน ไปส่งยังสนามบินฮามิด กาไซ ราวกับฉากระทึกในภาพยนตร์แอคชั่นแนวสายลับ

ตลอดเส้นทางระหว่างที่อดีตทหารอัฟกันกลุ่มนี้เดินทางผ่านกลางกรุงคาบูล พวกเขาต้องพบกับด่านตรวจของนักรบตาลีบัน แต่บรรดานักรบตาลีบันเหล่านี้ กลับไม่เคยตรวจขอดูบัตรประจำตัว 

"ปฏิบัติการระดับนี้คงไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากไม่มีวีรบุรุษอย่างไม่เป็นทางการเหล่านี้ พวกเขายอมขัดคำสั่งห้ามช่วยเหลือชาวอัฟกันภายนอกท่าอากาศยาน ด้วยการคลานออกมาตามท่อระบายน้ำ เพื่อดึงตัวชาวอัฟกันที่ระบุตัวตนด้วยการแสดงภาพสัปปะรดในโทรศัพท์มือถือของพวกเขาเพื่อยืนยันตัวตน" พันเอก แมนน์ กล่าว โดยอธิบายว่า ที่ตั้งชื่อปฏิบัติการ Pineapple Express นั้นเนื่องจากจะใช้วิธีการส่งรูปสัปปะรดไปยังโทรศัพท์ของ "ผู้โดยสาร" ที่พวกเข้าจะให้การช่วยเหลือเพื่อยืนยันตัวตนก่อนให้ความช่วยเหลือ


รถไฟใต้ดิน ผู้โดยสาร และคนต้อนแกะ

นับตั้งแต่ตาลีบันเข้ายึดครองกรุงคาบูลสำเร็จ ได้มีคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้ทหารสหรัฐฯไม่สามารถออกไปนอกเขตสนามบินเพื่อรวบรวมชาวอเมริกันหรือชาวอัฟกันที่ร้องขอความคุ้มครองจากสหรัฐฯ เดินทางไปยังสนามบินได้ บางส่วนเลือกที่จะเดินทางไปยังสนามบินด้วยตนเอง บางส่วนก็รอความช่วยเหลือจากการประสานของของทีมภาคพื้นดินจาก Pineapple Express ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการอย่างไม่ทางการ ซึ่งมีหัวหน้า "ผู้ควบคุม" คือ ร้อยเอก แซค ลอยส์ อดีตเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษแห่งกองทัพสหรัฐฯ (United States Army Special Forces) หรือมีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า หน่วยกรีนเบเรต์ "Green Beret" ร้อยเอก แซค ลอยส์ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ควบคุมปฏิบัติการจะใช้นามรหัสว่า "วิศวกรรถไฟใต้ดิน"

ส่วนบรรดาพลเรือนอัฟกัน อดีตทหารอัฟกัน หรือครอบครัวชาวอัฟกันซึ่งอาจมีอันตรายหาอยู่ภายใต้การควบคุมของตาลีบัน กลุ่มคนเหล่านี้จะถูกเรียกว่า "ผู้โดยสาร" บรรดาผู้โดยสารเหล่านี้พวกเขาจะได้รับคำแนะนำจาก "คนเลี้ยงแกะ,คนต้อนแกะ" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตหน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐฯ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอ ค่อยให้คำแนะนำในการเดินทางมายังสนามบินกรุงคาบูลในยามค่ำคืน ผ่านการสื่อสารทางแชตเข้ารหัสของโทรศัพท์มือถือ

คาบูล อัฟกานิสถาน ตาลีบัน

ภายในกลุ่มแชตลับแบบเรียลไทม์ จะประกอบด้วย วิศวกร 1 คน และผู้ที่คอยมอนิเตอร์สถานการณ์ราว 2-3 คน รวมถึงหน่วยภาคพื้นที่คอยรวบรวมข่าวกรอง ซึ่งข่าวกรองจะถูกแชร์ผ่านห้องแชตลับเข้ารหัสแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะรวมถึงการระบุตำแหน่งด้วยระบบ GPS เพื่อให้ชาวอัฟกันกลุ่มเป้าหมายรออยู่ในความมืดในจุดที่กำหนด จนกว่าจะได้พบกับผู้ประสานงานที่มาพร้อมกับไฟสัญญาณสีเขียวเพื่อแสดงตัว ชาวอัฟกันเป้าหมายจะต้องแสดงรูปสัปปะรดบนพื้นสีชมพู ที่ทางกลุ่มเจ้าหน้าที่สหรัฐฯส่งให้เพื่อยืนยันตัวตน ก่อนจะใช้วิธีเดินเท้าเป็นส่วนใหญ่ในการลัดเลาะถนนอันซับซ้อนของกรุงคาบูล มาจนถึงสนามบิน ในแต่ละครั้งพวกเขาจะใช้เส้นทางที่ไม่เหมือนกันในการพาคนออกมา

หนึ่งในสมาชิกของทีมซึ่งไม่เปิดเผยตัวตน เล่ากับสื่อสหรัฐว่า ในวันที่เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายที่สนามบิน ชาวอัฟกันกลุ่มเป้าหมายที่มีนัดพบกับผู้ประสานงาน ขาดการติดต่อโดยไม่ทราบสาเหตุ ในขั้นต้นพวกเขาคิดว่าอาจถูกจับได้ หรือกลุ่มตาลีบันทำลายเสาสัญญาณโทรศัพท์ แต่ภายหลังทราบว่าทหารสหรัฐฯใช้การรบกวนสัญญาณมือถือเพื่อป้องกันการจุดระเบิดขึ้นอีก หลังจากนั้นไม่นานระบบสื่อสารก็กลับมาใช้งานได้อีก ชาวอัฟกันกลุ่นนั้นก็สามารถเดินทางมาถึงยังสนามบินในช่วงเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการกู้ชีพสัปปะรดนี้ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า รัฐบาลวอชิงตันไม่ตอนกระทำการดังกล่าว พวกเขาจึงต้องรวมการเฉพาะกิจเพื่อช่วยชาวอัฟกันด้วยกันเอง คู่ขนานไปกับปฏิบัติการอพยพอย่างเป็นทางการ

เจสัน เรดแมน อดีตสมาชิกซีลทีม 6 ซึ่งเคยได้รับบาดเจ็บจากการรับในอัฟกานิสถาน และอาสามาเป็น "คนต้อนแกะ" เล่าว่า ในฐานชาวอเมริกันเขารู้สึกผิดหวังกับคณะบริหารไบเดน "สิ่งนี้คือสิ่งที่รัฐบาลของเราไม่ยอมทำ พวกเราทำในสิ่งที่ควรทำ ในฐานะชาวอเมริกัน"

ตาลีบัน อัฟกานิสถาน คาบูล ผู้ลี้ภัย

เมื่อกลุ่มเป้าหมายชาวอัฟกันมาถึงยังสนามบิน พวกเขาจะต้องแอบผ่านด่านตรวจของตาลีบันที่ทางเข้าสนามบินด้วยการคลานผ่านท่อระบายน้ำเข้ามาภายในเขตสนามบิน ก่อนจะพบกับกลุ่มทหารสหรัฐฯที่รออยู่ซึ่งจะสวมแว่นกันแดดสีแดงเป็นสัญลักษณ์ พวกเขาต้องแสดงภาพสัปปะรดจากโทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันตัวตน เพื่อให้ทหารคนนั้นนำพวกเขาเข้าไปยังท่าอากาศยาน

ร้อยเอก แซค ลอยส์ กล่าวว่า ทีมฯประสบความสำเร็จอย่างมากและถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่สามารถนำชาวอัฟกันมาส่งยังสนามบินได้ถึงหลักร้อยคน ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับที่พวกเขาเพิ่งรวมตัวกันเพียงไม่กี่วัน สมาชิกหลายคนแม้ทำงานประสานกันแต่ส่วนใหญ่พวกเขาจะไม่เคยเจอตัวกันเลย

พันเอก จิม แกรนต์ อดีตทหารกรีนเบเรต์ ซึ่งได้รับการขนานนานว่า Lawrence of Afghanistan จากการที่เขาแฝงตัวปฏิบัติการในอัฟกานิสถานมานาน เผยว่า "ผู้โดยสาร" ชาวอัฟกันเหล่านี้ คือตัวแทนของสงครามสองทศวรรตของสหรัฐในอัฟกานิสถาน

"ผมเคยเข้าร่วมกับภารกิจที่ยิ่งใหญ่หลายภารกิจที่หน่วยรบพิเศษเคยร่วมปฏิบัติการ แต่ไม่มีภารกิจครั้งใหญ่ยิ่งใหญ่เท่าครั้งนี้ ความกล้าหาญและความมุ่งมั่นของชายและหญิงที่เสมือนเป็นพี่น้องในชุมชนสัปปะรด ยิ่งใหญ่กว่าความมุ่งมั่นของสหรัฐในสนามรบเสียอีก" พันเอกแกรนต์ กล่าว "ผมแค่ต้องการนำคนของผมออกมา" 

แดน โอ เชีย อดีตหน่วยซีลสหรัฐซึ่งเคยเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านต่อต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน ซึ่งประสบความสำเร็จในการช่วยเจ้าหน้าที่อัฟกันรายหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กลายเป็นพลเมืองสหรัฐฯ โดยเจ้าหน้าที่อัฟกันรายนี้ทำหน้าที่เป็นสายลับรายงานข่าวให้กับทหารสหรัฐ แต่เมื่อตาลีบันยึดเมืองสำเร็จ สายลับอัฟกันเป็นห่วงครอบครัวของเขา หน่วยสัปปะรดจึงทำหน้าที่พาพ่อและน้องชายของสายลับผู้นี้ เดินทางเป็นเวลาหลายชั่วโมง ทั้งต้องหลบเลี่ยงจุดตรวจของตาลีบัน ก่อนจะมาถึงยังสนามบินได้อย่างปลอดภัย

อดีตหน่วยซีลสหรัฐฯกล่าวว่า "เขา (สายลับอัฟกัน) ไม่ต้องการทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง แม้เขาจะต้องเสี่ยงตาย แต่เขาจะไม่ทิ้งครอบครัว การทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ใช่ปรัญชาของหน่วยซีล ชาวอัฟกันหลายคนยังมีวิสัยทัศน์ด้านคุณค่าของประชาธิปไตยมากกว่าคนอเมริกันหลายคนเสียอีก"

เรียบเรียงจากรายงานพิเศษของ ABC NEWS