ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ด รฟม. เคาะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย เดินทางเชื่อมต่อสายสีม่วง-น้ำเงิน จัดโปรโมชั่นตั๋วเดินทาง 30 วัน 50 เที่ยว ราคา 2,350 บาท เริ่ม 25 ธ.ค.นี้ ยาว 3 เดือน ย้ำหากผู้โดยสารเพิ่มมีโอกาสขยายต่อ

การประชุมคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด รฟม. ครั้งที่ 2/2562 วันนี้ (19พ.ย. 2562) มีมติอนุมัติแนวทางการปรับลดอัตราค่าโดยสาร 2 สาย คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2562 

โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เฉพาะช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Off Peak) ในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) ช่วงเวลา 09.00-17.00 น. และวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ทั้งวัน ให้มีการจัดโปรโมชั่นอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 20 บาท จากปัจจุบันจัดเก็บ 14-42 บาท โดยใช้ได้ทั้งบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้ซื้อเหรียญโดยสาร (Token)

ทั้งนี้ คิดอัตราค่าโดยสาร คือ

  • การเดินทางเข้าสถานีแรกคิดค่าแรกเข้า 14 บาท
  • เดินทาง 1 สถานี คิดค่าโดยสาร 17 บาท
  • เดินทาง 2 สถานีขึ้นไป 20 บาทตลอดสาย

ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อนุมัติให้จัดโปรโมชั่นเดินทางแบบ 30 วัน ซึ่งสามารถใช้เชื่อมต่อการเดินทางร่วมกับสายสีม่วง ทำให้ค่าโดยสารที่เกิดจากการเชื่อมต่อตลอดสายมีราคาถูกสุดอยู่ที่ 47 บาทต่อเที่ยว จากปัจจุบันการเดินทางเชื่อมต่อ 2 สายมีอัตราค่าโดยสารร่วมสูงสุด 70 บาท

โดยใช้ได้เฉพาะบัตรโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป บัตรโดยสารธุรกิจ และบัตรร่วมธุรกิจ ในอัตรา

  • จำนวน 15 เที่ยว ราคา 780 บาท
  • จำนวน 25 เที่ยว ราคา 1,250 บาท
  • จำนวน 40 เที่ยว ราคา 1,920 บาท
  • จำนวน 50 เที่ยว ราคา 2,350 บาท

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานบอร์ด รฟม. กล่าวว่า การลดค่าโดยสารดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ประชาคนหันมาเดินทางโดยรถไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงการแก้ไขปัญหาจราจร และมลพิษ เบื้องต้นคาดว่าแนวทางลดค่าโดยสารดังกล่าวจะจูงใจให้ประชาชนเดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีม่วงเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ในช่วงเวลา Off Peak จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7,000 คนต่อวัน และจะจูงใจให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าเชื่อมต่อ 2 สายเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 จากปัจจุบันมีการเดินทางเชื่อมต่อประมาณ 40,000 คนต่อวัน โดยจะมีการจัดโปรโมชั่น 3 เดือนก่อน แล้วประเมินผลว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ ซึ่งหากประชาชนมาเดินทางได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็จะเสนอให้มีการขยายเวลาต่ออีก

ทั้งนี้ ยืนยันว่า การลดอัตราค่าโดยสารดังกล่าว รฟม. ไม่ต้องมีการจ่ายชดเชยให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง เนื่องจากเป็นความยินดีร่วมมือจากบริษัทเอกชน

นอกจากนี้ ยังยืนยันว่า ในส่วนของการลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงลง จะไม่ส่งผลให้รฟม.ขาดทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเมินว่าผู้โดยสารจะมาใช้บริการเพิ่มขึ้น และจะสามารถจัดเก็บค่าโดยสารชดเชยในส่วนที่ลดไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :