ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบยกเว้นภาษีนิติบุคคลแก่เอกชนลงทุนทำโครงการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจ 3 รอบบัญชี คาดสูญรายได้ภาษีหนุนสิ่งแวดล้อม 280 ล้านบาท พร้อมขยายเวลาเก็บภาษีนิติบุคคลเพียงร้อยละ 10 แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนนาน 10 รอบบัญชี

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (14 พ.ค.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ 

โดยกำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับภาคเอกชน สำหรับกำไรสุทธิในการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เฉพาะส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต ไม่ว่าจะทำในประเทศ หรือ นอกประเทศเป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน 

ทั้งนี้ ประเมินว่า รัฐจะสูญเสียรายได้รวมตลอดทั้งโครงการ 4 ปี (2562-2565) ประมาณ 280 ล้านบาท 

โดยเอกสารสรุปมติ ครม. ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย 

พร้อมกับกำหนดหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้ 

1. โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ได้สิทธิประโยชน์ ได้แก่ โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ซึ่งจำหน่ายคาร์บอนเครดิตประเภท Voluntary Emission Reductions (VERs) ที่ได้ขึ้นทะเบียนการดำเนินโครงการจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2563  

2. การเริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้สำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ซึ่งจำหน่ายคาร์บอนเครดิตประเภท Voluntary Emission Reductions (VERs) ให้เริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีแรกคือ รอบระยะเวลาบัญชีที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกได้ออกใบรับรองการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ  

3. ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแยกยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของกิจการและโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ โดยให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเดียวกันในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ 


ด่าน-ค้าชายแดน-สะพานข้ามโขง-มุกดาหาร-อีสานมุมใหม่

ขยายเวลาลดภาษีนิติบุคคลสำหรับกิจการใน 'เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน'

นอกจากนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันเดียวกัน ยังเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยขยายเวลาการจดแจ้งการขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการประกอบกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ให้กับเอกชนที่มีสถานประกอบการตั้งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561-30 ธ.ค. 2563 

โดยเอกสารมติ ครม. ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษข้างต้น คาดว่าจะมีภาษีสูญเสียประมาณ 4 ล้านบาท แต่จะช่วยส่งเสริมการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ช่วยให้มีการผลิตสินค้าและบริการในพื้นที่จังหวัดชายแดนเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านให้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 

สำหรับโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones) หรือ SEZs ครอบคลุมพื้นที่ชายแดน 10 แห่ง ใน 90 ตำบล ใน 23 อำเภอ 10 จังหวัด รวมพื้นที่ทั้งหมด 6,220.05 ตารางกิโลเมตร หรือ 3,887,507.21 ไร่ และแบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 ประกอบด้วย 

1.ตาก (14 ตำบลใน 3 อำเภอ) รวมพื้นที่ 1,419 ตารางกิโลเมตร หรือ 886,875 ไร่

2.สระแก้ว (4 ตำบลใน 2 อำเภอ) รวมพื้นที่ 332 ตารางกิโลเมตร หรือ 207,500 ไร่

3.ตราด (3 ตำบลใน 1 อำเภอ) รวมพื้นที่ 50.2 ตารางกิโลเมตร หรือ 31,375 ไร่

4.สงขลา (4 ตำบลใน 1 อำเภอ) รวมพื้นที่ 552.3 ตารางกิโลเมตร หรือ 345,187.5 ไร่

5.มุกดาหาร (11 ตำบลใน 3 อำเภอ) รวมพื้นที่ 578.5 ตารางกิโลเมตร หรือ 361,542.5 ไร่

ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 

6.หนองคาย (13 ตำบลใน 2 อำเภอ) รวมพื้นที่ 473.67 ตารางกิโลเมตร หรือ 296,042 ไร่

7.นราธิวาส (5 ตำบลใน 5 อำเภอ) รวมพื้นที่ 235.17 ตารางกิโลเมตร หรือ 146,981.25 ไร่

8.เชียงราย (21 ตำบลใน 3 อำเภอ) รวมพื้นที่ 1,523.63 ตารางกิโลเมตร หรือ 952,266.46 ไร่

9.นครพนม (13 ตำบลใน 2 อำเภอ) รวมพื้นที่ 794.79 ตารางกิโลเมตร หรือ 496,743.75 ไร่

10.กาญจนบุรี (2 ตำบลใน 1 อำเภอ) รวมพื้นที่ 260.79 ตารางกิโลเมตร หรือ 162,993.75 ไร่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :