ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจความคิดเห็นบุคลากรในอาเซียน พบคนส่วนใหญ่จาก 7 ใน 10 ประเทศ หนุน 'จีน' มากกว่า 'สหรัฐฯ' แต่ถ้ามีเหตุขัดแย้งเกิดขึ้น ร้อยละ 54 เลือกอยู่ข้างสหรัฐฯ ส่วนนักวิจัยเตือน "อย่าเลือกข้าง" เพราะอาเซียนจะสูญเสียอำนาจต่อรองทันที

นิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว เผยแพร่บทความ 7 of 10 ASEAN members favor China over US: survey อ้างอิงผลสำรวจความคิดเห็นบุคลากรในประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 1,308 คน จัดทำโดยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ISEAS-Yusof Ishak ระหว่าง 12 พ.ย. - 1 ธ.ค.2019 โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรในภาคเอกชน ธุรกิจ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ซึ่งร้อยละ 73 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นสมรภูมิชิงอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา 

ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จาก 7 ใน 10 ของประเทศสมาชิกอาเซียน ระบุด้วยว่า 'สนับสนุน' จีนมากกว่าสหรัฐฯ โดยประเทศที่มีเสียงสนับสนุนจีนมากที่สุดในอาเซียน คือ ลาว คิดเป็นร้อยละ 74 ของผู้แบบสอบถามทั้งหมด ตามด้วย บรูไน ร้อยละ 69 เมียนมา ร้อยละ 62 มาเลเซีย ร้อยละ 62 กัมพูชา ร้อยละ 58 อินโดนีเซีย และไทย ร้อยละ 52 เท่ากัน

ส่วนอีก 3 ประเทศที่เหลือ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่า สนับสนุน 'สหรัฐฯ' มากกว่าจีน ได้แก่ เวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 86 ตามด้วย ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 83 และสิงคโปร์ ร้อยละ 61 ซึ่งรายงานของนิกเคอิฯ ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้คนเวียดนามและฟิลิปปินส์หนุนสหรัฐฯ มากกว่าจีน น่าจะมาจากกรณีพิพาทแย่งชิงกรรมสิทธิ์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสองแห่ง 

แบบสำรวจฯ ได้แสดงตัวอย่างความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เกิดขึ้น เพื่อหาคำตอบว่าผู้ตอบแบบสอบถามจะสนับสนุนประเทศไหนถ้าถูกบังคับให้ต้องเลือกข้าง ผลปรากฏว่าร้อยละ 54 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเลือกอยู่ข้างสหรัฐฯ และร้อยละ 46 ของเลือกอยู่ข้างจีน 

AFP-ธงประเทศอาเซียน-ASEAN Flags.jpg

ขณะที่ 'ฮวาง ถิ ฮา' นักวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะจัดทำแบบสำรวจ บอกกับนิกเคอิฯ ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนควรจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ต้องเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพราะถ้าอาเซียนเลือกข้าง จะทำให้อำนาจในการเจรจาต่อรองต่างๆ ลดน้อยลง อาเซียนควรจะเลือกเดิน 'ทางสายกลาง' แบบที่เคยเป็นมา จึงจะช่วยให้ชาติอาเซียนธำรงรักษาอธิปไตยของตัวเองไว้ได้ และจะส่งผลดีต่อประเทศอาเซียนมากกว่า

นิกเคอิฯ ระบุด้วยว่า ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีสถานะที่สำคัญต่อหลายประเทศในอาเซียนมาโดยตลอด แต่ในระยะหลัง ชาติอาเซียนยอมรับว่าจีนเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคมากขึ้น โดยร้อยละ 79 ระบุว่าจีนเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐิกจในประเทศของผู้ตอบแบบสอบถามมากที่สุด สูงกว่าการสำรวจปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 73 แต่ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 72 เห็นด้วยว่า การแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรื่อง 'น่ากังวล'

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานข่าว China's growing influence rattles S.E. Asia as U.S. retreats, survey shows อ้างอิงแบบสำรวจความคิดเห็นของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak โดยระบุว่า โครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียนลดลง 1 ใน 3 หลังจากเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา มาเป็นรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในปัจจุบัน 

'ตั้งซิ่วหมั่น' ผู้อำนวยการสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak เปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า อิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ความไม่คงเส้นคงวาในการใช้อำนาจของจีนทำให้ประเทศต่างๆ วิตกกังวลมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการแผ่ขยายอำนาจเชิงรุกในแถบทะเลจีนใต้ รวมถึงการแปลงเศรษฐกิจการค้าเป็นอาวุธในการเจรจาต่อรองกับประเทศอื่นๆ อาจส่งผลกระทบต่อความสงบในภูมิภาค 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: