ไม่พบผลการค้นหา
กรรมการคัดเลือกผลงาน 'ข้อเสนอรัฐธรรมนูญในฝัน' ชื่นชมผลงานเยาวชน พบเด็กมัธยม มองรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องไกลตัว สร้างผลงานน่ายกย่อง

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw จัดงานรัฐธรรมนูญในฝัน ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมแสดงนิทรรศการและประกาศผลผู้เข้ารอบชิงและผู้ชนะเลิศการประกวดผลงาน "ข้อเสนอรัฐธรรมนูญในฝัน" ทั้งในรูปแบบคลิปวีดีโอและบทความ

โดยมีกิจกรรม FREEDOM TALK: "รัฐธรรมนูญของฉันฝันของเรา " จากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกรรมการตัดสินผลงานการประกวด

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ในฐานะกรรมการตัดสินผลงานประเภทบทความ กล่าวว่า ประทับใจเป็นพิเศษกับเรียงความที่เสนอประเด็นให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องและสำคัญกับชีวิตผู้เขียนอย่างไร อย่างการพูดถึงสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการพูดเรื่องเพศสภาพ ซึ่งไม่ใช่การเขียนเชิงวิชาการที่อ้างอิงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเฉยๆ แต่เชื่อมโยงให้เห็นภาพว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนทั่วไป

สำหรับผลงานระดับมัธยม สะท้อนให้เห็นว่ามีการทำการบ้านหรือหาข้อมูลมาก่อน ทำให้ผลงานมีระบบความคิดและมีโฟกัสที่ชัดเจน ตั้งคำถามกับหลายเรื่อง ทั้งความเสมอภาค, สิทธิมนุษยชน ตลอดจนการแก้ปัญหาและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาด้วย ซึ่งถือว่า มีฝีมือในการเขียนและนำเสนอเกินความคาดหมาย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า แต่ละชิ้นงานมีจุดเด่นต่างกันออกไปทั้งแง่เนื้อหา, วรรณศิลป์และการแหวกแนว แต่จุดร่วมสำคัญคือทุกคนตระหนักถึงสิทธิ โดยมองว่าเด็กมัธยมทำได้ดีมาก แตกต่างจากบุคคลทั่วไปหรือระดับอุดมศึกษา ที่จะมีเนื้อหาเข้มข้น

ขณะที่ นักเรียนมัธยมมีความใฝ่ความฝันมากกว่า ทำให้เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จับต้องได้ จากการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า "ทำไมเด็กไม่มีสิทธิ์เหมือนผู้ใหญ่" หรือตั้งคำถามว่า "ถ้ารัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์ทำไมจึงถูกฉีกได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า" ซึ่งเป็นคำถามง่ายที่สุดแต่กระแทกปัญหาที่มีอยู่ได้ชัดเจนกว่าคือผู้ใหญ่นำเสนอ ทั้งยังสะท้อนว่า เยาวชนมีความต้องการเป็นเจ้าของหรือมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่หายไปในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 

หลายชิ้นงาน มีการออกแบบองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชนและที่มาที่หลากหลาย ทำให้คิดว่าทำไมคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงคิดไม่ได้ ซึ่งสะท้อนว่า คนธรรมดาก็คิดได้ว่ามีวิธีการ สร้างองค์กรอิสระให้ดีกว่าที่เป็นอยู่หรือวิธีทำให้องค์กรอิสระเป็นกลางและยึดโยงกับประชาชนอย่างไร 

นางธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง documentary club ซึ่งเป็น 1 ในคณะกรรมการตัดสินผลงานประเภทคลิปวีดีโอ กล่าวยอมรับว่า หัวข้อรัฐธรรมนูญในฝัน เป็นโจทย์ที่ยากมาก สำหรับการทำภาพยนตร์หรือคลิปสั้น แต่เยาวชนที่ส่งผลงานเข้าประกวด ได้เริ่มการนำเสนอจุดนี้แล้ว ซึ่งหากต้องการทำต่อไปหรือสนใจเรื่องการทำสื่อ ก็สามารถเพิ่มเติมด้วยการดูงานหรือจัดการศึกษาได้ แต่ที่สำคัญตอนนี้มีวัตถุดิบในมือคือการสนใจการเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งไม่ใช่ว่า "คนทำหนัง" จะมีจุดเริ่มต้นในจุดนี้ได้ง่ายๆ ที่ก็เป็นเครื่องมืออีกตัวนึงในการเล่าเรื่อง 

นายวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์ กล่าวว่า มีผู้ส่งคลิปเข้าประกวดทั้งหมดเพียง 4 ชิ้นในระดับมัธยมและอุดมศึกษาอย่างละ 2 ชิ้นงาน และกรรมการใช้รางวัลชนะเลิศทั้งหมด ซึ่งส่วนตัวนับถือผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมาก เพราะโจทก์ยาก และในฐานะคนทำภาพยนตร์ ถ้าได้โจทย์นี้ตนจะไม่ทำเพราะสื่อออกมาได้ยากมาก โดยตนเข้าใจว่ากิจกรรมนี้ต้องการให้น้องๆ ได้แสดงออกและจะสื่อสารอะไรออกมาก็ได้ ซึ่งหากเป็นเพลงแร็พ ก็จะสื่อได้สนุกและมีจำนวนชิ้นงานเยอะกว่านี้ ขณะที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดไม่มีใครเรียนเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์หรือเกี่ยวกับการทำสื่อหรือภาพยนตร์เลย เเต่เป็นคนที่เรียนด้านรัฐศาสตร์ เพราะหากเรียนสาขานี้ก็จะไม่ทำคลิปส่งประกวด เพราะถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากมาก

ส่วนผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ นิ้วกลม นักเขียนชื่อดัง ไม่ได้มาร่วมงานด้วยแต่ได้ส่งคลิปวิดีโอ เสนอผลการตัดสินมาในงาน 

โดยนายสราวุธ ในฐานะกรรมการประเภทบทความ ระบุว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายหลักที่จะกำหนดสิ่งต่างๆ ในบ้านเมือง กระทบต่อคนวงกว้างจึงต้องให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดและออกแบบอย่างเสมอภาค โดยผลงานนักเรียนระดับมัธยม ทำให้เห็นว่ามีความสนใจเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างมากโดยเฉพาะที่ได้รับรางวัล ซึ่งเสนอให้มีสภาเยาวชนหรือสภาเด็กด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ขณะที่ระดับอุดมศึกษา เมื่อได้เห็นแล้วรู้สึกมีพลังและมีความหวังจากจินตนาการของเจ้าของผลงาน ที่สะท้อนสังคมในฝัน และแนวทางแก้ปัญหาด้วย ส่วนผลงานของบุคคลทั่วไปมีเนื้อหาเข้มข้นมีหลักการต่างๆ ที่ชัดเจน ซึ่งทำให้เห็นถึงความตื่นตัวของภาคประชาชนว่ามีความคิดและความฝันเกี่ยวกับสังคมไทยที่ต้องการจะแก้ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับเกณฑ์คะแนนส่วนตัวตัดสินจากเนื้อหา ว่ามีความครอบคลุมหรือประเด็นข้อสรุปที่ชัดเจนมากน้อยแค่ไหนเป็นอันดับแรก อย่างที่สองคือ เรื่องวิธีการเขียนที่ไหลลื่นหรือใช้ภาษาที่สวยงามมีพลังหรือเปล่า ส่วนที่สาม คือ ตัดสินจากใจตัวเองที่อ่านความเรียงเหล่านั้นแล้ว ทำให้ใจเต้นหรือเปล่า โดยเนื้อหาที่โดดเด่นแต่ละชิ้นงาน มีทั้งความเสมอภาค, สิทธิพลเมืองในหลายมิติ, การมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจน เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีพูดถึงเยอะในผลงาน รวมถึงการปกป้องรัฐธรรมนูญไม่มีใครมาฉีกได้ง่ายๆ ด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ ในฐานะกรรมการตัดสินประเภทคลิปวีดีโอ ระบุว่า ทุกคนมุ่งมั่นเล่าเรื่องราวที่ถูกปิดกั้นในสังคมและพยายามสื่อสารกับผู้ชมได้เป็นอย่างดี แม้มีจุดอ่อนบ้างในแง่ที่ยังไม่มีการอ้างอิงหรือระบุสถานะว่าใครเป็นผู้เล่าเรื่อง แต่ก็มีการเล่าเรื่องหลายแบบ ทั้งกับบุคคลที่หลากหลายและการอิงกับการชีวิตประจำวัน ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มที่เสนอผลงาน สะท้อนว่า คนอยากเล่าเรื่องให้คนอื่นฟังพยายามเชื่อมโยงรัฐธรรมนูญกับชีวิตประจำวันและไม่ได้ถูกครอบงำโดยวิธีคิดง่ายๆ

อย่างวาทกรรมที่ว่า "รัฐธรรมนูญเท่ากับความดีงาม" หรือเฉพาะ "ผู้ที่มีความฉลาดรอบรู้เท่านั้น ที่จะเขียนรัฐธรรมนูญได้" ที่สำคัญ คนทุกกลุ่มอยากจะมีส่วนร่วมในการกำหนดรัฐธรรมนูญ อันเป็นการสะท้อนถึงสิ่งที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิชญ์ ยืนยันว่า การเริ่มจากการฝันที่จะอยู่ร่วมกันก่อน แล้วรัฐธรรมนูญมารองรับเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ตั้งต้นจากการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อให้คนอยู่ร่วมกัน สังคมไทยจึงกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งเมื่อพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ เนื่ิองจากไม่ได้เกิดจากการมีความฝันที่จะอยู่ร่วมกันในการออกแบบรัฐธรรมนูญ แต่ผู้มีอำนาจออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาในอดีต จึงมองไม่เห็นอนาคต

ขณะที่ นายจอน อึ้งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า เป้าหมายโครงการนี้ไม่ใช่แค่การประกวดผลงาน แต่คือความต้องการได้ความคิดเห็นที่หลากหลายจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ว่าอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน โดยหวังว่า รัฐธรรมนูญของประชาชนจะเกิดขึ้นได้จริงและจะไม่มีการรัฐประหารที่นำสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บทความทั้งหมด 158 ชิ้น ส่วนใหญ่มาจากนักเรียนระดับมัธยมและนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย 

แม้เนื้อหาผลงานต่างๆ ที่ส่งประกวดจะมีความหลากหลาย แต่ไปในทิศทางเดียวกัน คือสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ทั้งข้อเสนอนายกรัฐมนตรีและ ส.ว.จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง, การลดอำนาจของ ส.ว., ความเป็นกลางขององค์กรอิสระ, การกำหนดโทษผู้กระทำรัฐประหารในอนาคต, การลดบทบาทของทหารในการเมือง, การกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง, การรับรองความเท่าเทียมของประชาชนและความเท่าเทียมทางเพศ

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องการยกเลิกระบบการเกณฑ์ทหารและยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งมีผู้นำเสนอจำนวนมาก ที่เสนอปัญหาว่าประเทศไทยยังไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และหลายคนเรียกร้องว่าจะต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากความกลัว ที่จะเป็นส่วนสำคัญให้ปัญหาต่างๆ ในประเทศจะได้รับการแก้ไข

สำหรับผลการตัดสิน ติดตามได้ทางเว็บไซต์ของ iLaw

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :