ไม่พบผลการค้นหา
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวกับผู้นำสหภาพแอฟริกาว่า ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาคือผู้บริสุทธิ์ ที่กำลังตกเป็นเหยื่อของสงครามในยูเครน และรัสเซียจะช่วยเหลือประเทศแอฟริกาเหล่านี้จากความทุกข์ยากดังกล่าว

หลังจากการพูดคุยในโซชีของรัสเซียของปูติน กับ แม็กกี ซัลล์ ประธานาธิบดีเซเนกัล ปูตินได้มอบคำสัญญาว่าตนจะผ่อนคลายการส่งออกธัญพืชและปุ๋ย อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีรัสเซียไม่ได้มอบรายละเอียดเพิ่มเติมใดๆ นอกจากนี้ ปูตินยังได้ปฏิเสธว่ารัสเซียไม่ได้มีการขัดขวางการส่งออกเมล็ดพืชของยูเครนจากบริเวณท่าเรือแต่อย่างใด

การบริโภคธัญพืชกว่า 40% ของแอฟริกาทั้งทวีป อาศัยการพึ่งพาการนำเข้าจากรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ดี ท่าเรือสำคัญของยูเครนบริเวณทะเลดำ กลับถูกปิดกั้นมาตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรัสเซียยกทัพเข้ารุกรานยูเครน ในวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยยูเครนได้กล่าวหาว่า รัสเซียพยายามขัดขวางตนในการส่งออกสินค้าผ่านทางท่าเรือ เนื่องจากยูเครนได้ติดตั้งทุ่นระเบิดเพื่อขัดขวางการยกพลขึ้นบกของรัสเซีย

“ความล้มเหลวในการเปิดท่าเรือเหล่านั้นจะส่งผลให้เกิดภาวะทุพภิกขภัย” อามิน อาวัด ผู้ประสานงานด้านวิกฤตของสหประชาชาติกล่าวในเจนีวา ก่อนชี้ว่าการขาดธัญพืชที่ส่งออกมาจากยูเครนและรัสเซีย อาจส่งผลกระทบต่อประชากรโลกจำนวน 1.4 พันล้านคน รวมถึงเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ โดยปัจจุบันนี้ สงครามยูเครนได้ทวีความรุนแรงของภาวะอดอยากในแอฟริกามากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

ไม่ใช่เพียงแต่แอฟริกา แต่ราคาอาหารทั่วทั้งโลกต่างปรับตัวพุ่งสูงขึ้น นับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน สงครามจากการรุกรานของรัสเซียได้ทวีความรุนแรง และซ้ำเติมวิกฤตที่โลกกำลังพบเจอ จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย มาจนถึงสงครามในตอนนี้

ทั้งนี้ ชาดซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศของทวีปแอฟริกาประกาศภาวะฉุกเฉินทางอาหารแล้ว โดยประชาชนกว่าหนึ่งในสามของชาดต้องต้องความช่วยเหลือทางด้านอาหาร

ซัลล์ ประธานาธิบดีเซเนกัล ได้ระบุกับปูตินว่า เขาควร “พึงระวังว่าประเทศของพวกเรา ที่ถึงแม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากสถานที่เกิดเหตุ (ในการต่อสู้) คือเหยื่อของวิกฤตทางเศรษฐกิจ” ทั้งนี้ ซัลล์ได้ระบุว่า ตนได้กล่าวขอร้องมายังประธานาธิบดีรัสเซีย ในนามของประเทศต่างๆ ของเอเชีย ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา

ปูตินระบุว่า รัสเซียได้รับรองความปลอดภัยในการส่งออกสินค้า ซึ่งหมายรวมถึงธัญพืชของยูเครนผ่านทางท่าเรืออซอฟและทะเลดำ ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียแล้ว ทั้งนี้ ประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่า ทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเบลารุส  เพื่อให้เกิดการส่งออกธัญพืชผ่านทางนั้นแทน อย่างไรก็ดี เบลารุสเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับรัสเซีย และเป็นผู้เปิดพรมแดนให้กองทัพรัสเซียใช้เดินทัพผ่านเพื่อเข้ารุกรานยูเครนในช่วงแรกของสงคราม

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า รัสเซียจะใช้วิกฤตทางอาหารเป็นเครื่องมือในทางการเมือง เพื่อกดดันให้โลกตะวันตกที่ให้การสนับสนุนยูเครนในการปกป้องประเทศจากการรุกรานของตน และกระตุ้นให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่จากประเทศที่ขาดแคลนอาหาร ทั้งในตะวันออกกลางและแอฟริกาเข้ามายังยุโรป ทั้งนี้ ก่อนการหารือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 มิ.ย.) ปูตินระบุว่ารัสเซียจะอยู่ข้างแอฟริกก แต่ประธานาธิบดีรัสเซียไม่ได้กล่าวถึงวิกฤตอาหารในแอฟริกาแต่อย่างใด

เช่นเดียวกันกับประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ประธานาธิบดีเซเนกัลระบุว่า อาหารไม่ควรตกเป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรโดยประเทศใดๆ ทั้งนี้ ซัลล์เตรียมเดินทางเข้าพบคณะกรรมาธิการยุโรปของสหภาพยุโรปในช่วงต้นสัปดาห์ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ดี ปูตินกล่าวโจมตีการคว่ำบาตรของตะวันตกว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตอาหารโลก แต่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปฏิเสธว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกไม่เคยคว่ำบาตรอาหารแต่อย่างใด

“นี่คือการขึ้นราคาจากปูติน สงครามของปูตินทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น เพราะยูเครนและรัสเซียเป็นตะกร้าขนมปังรายใหญ่สองแห่งของโลก สำหรับข้าวสาลีและข้าวโพด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานสำหรับอาหารมากมายทั่วโลก” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าว


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-africa-61685383