ไม่พบผลการค้นหา
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่มช่วงวันที่ 7 – 12 ต.ค. จากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน ด้านกรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนฉบับ 5 เตือนเกือบทุกภาคของประเทศมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ฉบับที่ 9 หลังกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศพบหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน และคาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนใต้วันที่ 7 ต.ค. จากนั้นจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกมายังบริเวณอ่าวไทยตอนบนวันที่ 8 ต.ค. ทำให้ช่วงวันที่ 7-9 ต.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันตก และภาคใต้ 

เบื้องต้นได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (One Map) พบมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำช่วงวันที่ 7–12 ต.ค. คือ เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินถล่ม ในพื้นที่ภาคเหนือ บริเวณเชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ตาก, น่าน, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, เพชรบูรณ์, และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณชัยภูมิ, เลย, ขอนแก่น, และนครราชสีมา ภาคตะวันออก บริเวณปราจีนบุรี, นครนายก, สระแก้ว, ชลบุรี, และระยอง ภาคตะวันตก บริเวณราชบุรี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ บริเวณชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ตรัง, และสตูล โดยเฉพาะเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์, บริเวณลำตะคอง, ลำน้ำมูล, และลำปลายมาศ จังหวัดนครราชสีมา     

ทั้งนี้ กอนช.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง หรือพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซากและมีสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมการบริหารน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 90% หรือเกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำ รวมทั้ง เตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อเป็นแก้มลิงในการหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลากด้วย


ประกาศเตือน ฉ.5 อีสานล่าง-ตะวันออก-กลาง-ใต้ เจอฝนตกหนักแห่ง

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ เรื่อง 'พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 7 – 9 ตุลาคม 2563)' ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 7 ต.ค. 2563 เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (7 ต.ค.) พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองโฮจิมิน ประเทศเวียดนามทางตะวันออกประมาณ 470 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 11.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เกือบไม่เคลื่อนที่และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนใต้ในวันนี้ หลังจากนั้นจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยตอนบนในวันที่ 8 ต.ค. พายุนี้จะมีผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในช่วงวันที่ 7-9 ต.ค. 63

โดยมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรงดการเดินเรือในช่วงวันที่ 7-10 ต.ค. 63

คาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 7 ต.ค. 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, นครปฐม, และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, และตราด
  • ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี, และประจวบคีรีขันธ์

วันที่ 8 ต.ค. 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดมุกดาหาร, กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, อำนาจเจริญ, ยโสธร, และร้อยเอ็ด
  • ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี, ราชบุรี, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, นครปฐม, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, สระบุรี, พระนครศรีอยุธยา, รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, สระแก้ว, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, และตราด
  • ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, และสตูล

วันที่ 9 ต.ค. 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนัก

  • ภาคกลาง: จังหวัดราชบุรี, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, อุทัยธานี, และชัยนาท
  • ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, ระนอง, และพังงา