ไม่พบผลการค้นหา
"ธนาธร" ย้ำ แก้รัฐธรรมนูญคือการสู้กับระบอบรัฐประหาร ขณะที่"พิภพ ธงไชย" ยกนิ้วให้ "อนาคตใหม่" เป็นหัวหอกที่เอาการเอางาน พร้อมแนะยุทธศาสตร์ 2 ขา ด้าน "เจิมศักดิ์" ยัน ต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจประชาชน

พรรคอนาคตใหม่ โดยศูนย์ประสานงานตัวแทนพรรคจังหวัดอ่างทอง จัดเวทีวาระประชาชนคนอ่างทอง ที่ชั้น 2 ศาลาเฉลิมพระเกียรติ ศาลเจ้าอ่างทอง โดยมีการเสวนา "รัฐธรรมนูญไทยในอ่างทอง(คำ)" ว่าด้วย "ผลกระทบของรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อความเลื่อมล้ำปัญหาปากท้องประชาชน" กับ "ปัญหาและทางออกของการเมืองท้องถิ่น กรณี ระบบอุปถัมภ์, หัวลงคะแนน, ระบบซื้อเสียงและบ้านใหญ่หรือตระกูลผู้มีบารมีในพื้นที่"

ดำเนินรายการโดย นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิเคราะห์การเมืองรายการโทรทัศน์และคอลัมนิสต์ชื่อดัง ส่วนวิทยากรประกอบด้วย นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย , นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, รองศาสตราจารย์ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการเสวนาประมาณ 300 คนและเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่กว่า 20 นาย ดูแลความสงบเรียบร้อย 

รธน4.jpg

รองศาสตราจารย์ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีต ส.ส.ร.ปี 2540 ระบุว่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน แต่ฉบับปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นซึ่งทุกคนต่างรับรู้ได้ โดยเฉพาะประเด็น ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งมา แล้วให้กลับมาเลือกหัวหน้า คสช.มาเป็นนายกรัฐมนตรี สะท้อนชัดเจนว่า เป็นการ "ลดอำนาจประชาชน-เพิ่มอำนาจรัฐ" 

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ เสนอว่า ส.ว.ควรมีอำนาจเพียงแค่กลั่นกรองกฎหมายและควบคุมองค์กรอิสระ ไม่ควรมีอำนาจมากถึงขั้นเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะควรจะเป็นอำนาจของ ส.ส.เท่านั้น ที่สำคัญ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งตามสาขาอาชีพ ไม่ควรแบ่งเขตที่มีลักษณะเดียวกันกับ ส.ส. และต้องแก้ไขระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่มีปัญหาอย่างมาก รวมถึงต้องยกเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของ คสช.ในรัฐธรรมนูญด้วย ขณะที่องค์กรอิสระก็ต้องถกเถียงกันในสังคมว่าจะต้องมีอยู่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่อิสระจริง แต่ถูกครอบงำและใช้เป็นเครื่องมือโดยผู้มีอำนาจ

รธน99.jpg

สำหรับระบบเลือกตั้งแบบแบ่งสรรปันส่วน รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ไม่ต้องการให้ยกเลิก เพราะระบบนี้ยังมีข้อดีอยู่ แต่ชี้ให้เห็นปัญหาสำคัญคือ การกำหนดจำนวน ส.ส.ที่ 500 คนที่ไม่สอดคล้อง ซึ่งควรตั้งเป็นเกณฑ์เบื้องต้นไว้เท่านั้น อาจจะมี 490 กว่าคน หรือ 500 คนเศษได้ และอีกประเด็น คือ เมื่อ ส.ส.ย้ายพรรค ต้องไม่ให้เอาคะแนนเลือกตั้งไปด้วย โดยกรณีพรรคอนาคตใหม่ในปัจจุบัน ต้องได้ ส.ส.เพิ่มอีก 4 คน ขณะที่พรรคในสังกัดใหม่ที่รับ ส.ส.ผู้ที่ถูกขับออกจากพรรคอนาคตใหม่ไป ถือว่า มี ส.ส.เกินจำนวนที่พึงมี ซึ่งต้องตัด ส.ส.บัญชีรายชื่อเดิมออกไป รวมถึง กรณีนายไพบูลย์นิติตะวันที่ยุบตัวเองแล้วย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐด้วย ซึ่งปัญหาทุกอย่างเกิดจากระบบเลือกตั้งทั้งสิ้น

ขณะที่ นายพิภพ ธงไชย ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เริ่มด้วยการกล่าวชื่นชมพรรคอนาคตใหม่ที่เป็นหัวหอกและเอาการเอางานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆพูดถึงในประเด็นนี้ แบบ"กระปริบกระปรอย" และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง และคัดค้านมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทยถูกยุบแล้ว จึงไม่ควรเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด เพราะพรรคการเมือง ไม่ใช่ของหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรค แต่เป็นสถาบันการเมืองของมวลชน มีสมาชิกจำนวนมาก 

นายพิภพ เสนอว่า การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างพรรคการเมืองและประชาชนควรแยกส่วนกันระดับหนึ่ง โดยพรรคการเมืองใช้กลไก ส.ส. ผลักดันในสภาสภาผู้แทนราษฎร ขณะเดียวกันภาคประชาชนที่ปัจจุบันยังไม่มีหัวขบวนจึงต้องหาให้ได้ เพื่อเคลื่อนไหว "ล้อ" หรือคู่ขนานไปกับ ส.ส.ในสภา และเชื่อว่า แม้ ส.ว.จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ท้ายที่สุดก็จะไม่สามารถขัดขวางได้

รธน.jpg

นายพิภพ ระบุด้วยว่า ผู้มีอำนาจที่ยึดกุมการเมืองไทยปัจจุบัน อยู่ภายใต้ความวิตก โดยยกตัวอย่างการ กลัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมามีอำนาจ เหมือนกับคนเยอรมันกลัวระบบนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะกลับมา ขณะที่อดีตฯนายกทักษิณ กลับมาหรืออยูงในสังคมอยู่แล้ว ผ่านนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคและกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งถูกใจประชาชนจำนวนมาก แต่ประชาชนอย่าวิตกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยาก เพราะฉบับที่แก้ยากที่สุดในสมัยยุคจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็สามารถแก้ไขหรือยกร่างใหม่ได้ ซึ่งในฐานะนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน ยืนยันว่า หากกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่เหมาะสมให้ประชาชนขับเคลื่อนได้อย่างมีพลัง ก็จะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้แน่นอน 

ส่วนนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ออกแบบมาโดยมี 3 เป้าประสงค์ คือ 1.) ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ชนะการเลือกตั้ง 2.)​ หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลก็ทำให้ให้บริหารไม่ได้ 3. จัดการกับกลุ่มการเมืองที่มาร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ผู้มีอำนาจอยากเป็นนายกรัฐมนตรีเอง จึงเพิ่มบทบาทให้ ส.ว. ที่ตัวเองแต่งตั้งมา มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

รธน3.jpg

นายวัฒนา ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่มีทางได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ซึ่งจะกระทบกับความเชื่อมั่นและการบริหารประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ส่วนแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดความขัดแย้งนั้น ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ ส.ส.ร. และสิ่งที่จำเป็นต้องแก้ไขนอกจาก ส.ว.คือ องค์กรอิสระ 

ด้าน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ทั้งที่มา, เนื้อหาและกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ล้วนยึดโยงกับการรัฐประหารปี 2557 ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการต่อสู้ทางการเมืองและสู้กับการสืบทอดอำนาจ คสช.โดยตัวของมันเองด้วย โดยหลักการสำคัญคือการอำนาจของประชาชนกลับคืนมา และรัฐธรรมนูญ ต้องมาจากเจตจำนงและให้อำนาจของประชาชน โดยเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ส่วนเนื้อหามีข้อเสนอที่หลากหลาย และจําเป็นต้องแลกเปลี่ยนถกเถียงในอนาคต 

นายธนาธร ระบุด้วยว่า ข้อสรุปของคณะกรรมาธิการศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร อาจจะให้แก้รายมาตราที่เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆเท่านั้น เเล้วนำมาอ้างกับประชาชนว่ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งเชื่อว่าผู้มีอำนาจจะไม่ยอมให้แก้ไขประเด็นและยุทธศาสตร์ชาติง่ายๆ ดังนั้น ประชาชนอย่ายอมให้ถูก "ไฮแจ็ค" วาระของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

นายธนาธร ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญ คือการสร้างข้อตกลงที่ทุกฝ่าย ทุกองคาพยพในสังคมยอมรับร่วมกัน ซึ่งในทางการเมืองที่มีการแพ้ชนะ หากมีการแก้ไขดุลอำนาจให้ทุกฝ่ายยอมรับแล้ว ทุกคนก็จะเล่นอยู่ในกติกาเดียวกัน ขณะที่ กุญแจที่จะไขล็อคการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่ผู้มีอำนาจ ดังนั้น ประชาชนต้องตื่นตัวทางการเมือง แสดงพลัง ให้ผู้มีอำนาจได้รับรู้และยอมไขล็อคกุญแจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

นายธนาธร ระบุในตอนท้ายว่า คนไทยยุคปัจจุบันมีภารกิจ 3 อย่างที่จะต้องทำไว้ให้ลูกหลานในอนาคต คือ 1.สร้างประชาธิปไตย 2.สถาปนาอำนาจรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ 3.กระจายอำนาจยุติรัฐรวมศูนย์ ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน เพราะลำพังพรรคอนาคตใหม่ ไม่มีพลังเพียงพอที่จะผลักดันได้ พร้อมขอให้ทุกคนร่วมกันรณรงค์และอธิบายประเด็นต่าวๆต่อคนใกล้ตัวหรือในโซเชียลมิเดีย โดยไม่ผลักไสหรือด่าทอผู้เห็นต่าง เพราะนั่นเป็นวิธีการของเผด็จการ ไม่ใช่วิธีของประชาชนที่ต้องการสังคมที่ดีกว่าเดิม