ไม่พบผลการค้นหา
ชาวโซเชียลต่างวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกันอย่างเป็นวงกว้าง หลังมีคำแนะนำให้ประชาชนเลี้ยงไก่บ้านละ 2 ตัว โดยอย่าเพิ่งรีบฆ่า แต่ให้เก็บจนรอกว่าจะให้ไข่มากินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

คำแนะนำในลักษณะเดียวกันแต่แตกต่างเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ ค.ศ.2016 หลัง บิล เกตส์ มหาเศรษฐีชาวสหรัฐฯ ได้ออกมาให้คำแนะนำว่า สำหรับสถานการณ์ยากจนอดอยากที่เกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะในแอฟริกา ถ้าหากเขามีรายได้ต่อวันอยู่ที่ 70 บาท สิ่งที่เขาจะทำคือ “การเลี้ยงไก่”

เกตส์ระบุว่า ข้อเสนอของเขาอาจฟังดูตลก แต่เขาเชื่อว่าหากผู้ที่อยู่ในสภาวะยากจนแล้วมีไก่ในการเลี้ยงดู ตลอดจนวางแผนการเพาะเลี้ยงไก่อย่างเป็นระบบ ไก่เหล่านี้จะสามารถช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังนี้

ไก่เลี้ยงง่ายและใช้ทุนต่ำ

เกตส์ระบุว่า ลูกไก่สามารถกินทุกส่งที่มันเจอตกอยู่บนพื้นได้ แต่มันจะดีกว่าถ้าหากมนุษย์ทำการให้อาหารมัน เพราะจะช่วยให้มันเติบโตได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ แม่ไก่ต้องการโรงเรือนที่มันจะสามารถกกไข่ได้ และที่สำคัญที่สุด ไก่จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรค โดยวัคซีนดังกล่าวมีราคาอยู่แค่เพียง 50 สตางค์

การลงทุนกับไก่เป็นการลงทุนที่ดี

พล.อ.ประยุทธ์ แนะนำให้แต่ละบ้านเลี้ยงไก่ 2 ตัว แต่เกตส์ระบุว่า เจ้าของฟาร์มไก่รายใหม่ควรเริ่มจากการเลี้ยงแม่ไก่ทั้งหมด 5 ตัว และควรมีไก่ตัวผู้ที่จะคอยผสมน้ำเชื้อให้ไข่สามารถฟักตัวได้สัก 1 ตัว โดยเมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน แม่ไก่จะสามารถผลิตลูกออกมาได้กว่า 40 ตัว หากยึดตามราคาตลาดในแอฟริกา ไก่แต่ละตัวสามารถขายได้ในราคาอย่างน้อย 170 บาท เจ้าของฟาร์มจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 33,000 บาทต่อปี ในขณะที่เส้นรายได้ความยากจนโลกอยู่ที่ 23,000 บาทต่อปี

ไก่ทำให้เด็กแข็งแรงได้

เกตส์เสนอว่า ในทุกๆ ปีมีเด็กที่เสียชีวิตจากภาวะอดอยากกว่า 3.1 ล้านคน การกินไข่ที่อุดมไปด้วยโปรตีนและสารอาหาร จะสามารถตอบรับกับปัญหาภาวะทุพโภชนาการได้ โดยต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ที่แนะนำให้เลี้ยงไก่เพื่อรอกินไข่อย่างเดียว เกตส์แนะนำว่าเจ้าของไก่ควรรอไข่ฟักออกเป็นตัว แล้วนำไก่นั้นไปขายเพื่อที่จะได้ราคามากกว่า ก่อนนำเงินจำนวนดังกล่าวมาซื้ออาหารที่มอบคุณค่าทางโภชนาที่ดีกว่ามารับประทาน สำหรับเกตส์ ไข่จากไก่ที่เลี้ยงโดยตรงจะนำมากินได้ต่อเมื่อมันมีจำนวนมาก หรือเจ้าของไก่เผลอทำไข่ตกแตก

ไก่จะช่วยส่งเสริมอำนาจให้แก่ผู้หญิง

เกตส์เสนอว่า ในหลายวัฒนธรรมที่ยังจำกัดพื้นที่ของผู้หญิงแต่ในครัวเรือน การเลี้ยงไก่ ไปจนถึงแพะหรือวัว จะสามารถทำให้ผู้หญิงสามารถสร้างรายได้เข้าครอบครัวของพวกเธอได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี เกตส์ไม่ได้พูดถึงการเลี้ยงไก่เพื่อการต่อสู้กับภาวะอดอยากแต่เพียงลอยๆ เพราะมูลนิธิของเกตส์ได้ทำงานร่วมกันกับนักมานุษยวิทยาชาวบูร์กินาฟาโซอย่าง บาทามากา โซเม เพื่อทำการศึกษาวิจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเลี้ยงไก่ โดยมูลนิธีเกตส์หวังว่าการเลี้ยงไก่จะช่วยให้คนยากจนในแถบซับซาฮาราของแอฟริกาจะสามารถเลี้ยงชีพและพ้นจากเส้นขีดความยากจนได้

ที่มา:

https://www.gatesnotes.com/development/why-i-would-raise-chickens