ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยชิ้นใหม่ชี้เชื้อโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในทุกส่วนของร่างกาย ขณะที่นักวิจัยพบ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยในนิวยอร์กมีอาการไตวายและเกือบ 15% ของผู้ติดเชื้อต้องล้างไต

วารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ชี้ให้เห็นว่า เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 นั้นไม่ได้ทำลายเพียงเฉพาะปอด แต่เชื้อไวรัสยังกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ในร่างได้อีกด้วย โดยเฉพาะไต

งานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นจากผลการชันสูตรร่างกายของผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส 27 ราย ซึ่งพบว่าเชื้อไวรัสนั้นได้กระจายไปยังปอด คอหอย หัวใจ ตับ สมองรวมถึงไตของผู้เสียชีวิต

นอกจากนี้ยังพบว่า การเสียชีวิตของผู้ป่วย 17 รายนั้นมีอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 2 โรค และเชื้อไวรัสนั้นก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับไตเป็นส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอาการไตวาย แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการของโรคไตมาก่อนก็ตาม

งานวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของทีมวิจัยจาก นอร์ทเวลล์ เฮลท์ หน่วยงานด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของนิวยอร์ก ที่ระบุว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 36.6 เปอร์เซ็นต์ มีอาการไตวายเฉียบพลัน และ 14.3 เปอร์เซ็นต์ต้องเข้ารับการฟอกไต 

ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวได้ข้อมูลมาจากผู้ป่วยจำนวน 5,449 คนที่เข้ารักษาอาการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลนิวยอร์ก

ในรายงานการศึกษาชิ้นนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นเข้ามารักษาด้วยอาการไตวายเฉียบพลันก่อนเป็นลำดับแรกถึง 37.3 เปอร์เซ็นต์ หรือมีอาการไตวายภายใน 24 ชม.หลังจากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ขณะที่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในภาวะวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจนั้นจะมีอาการไตวายเช่นกัน

เชื้อไวรัสก่อให้เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตัน-ระบบอวัยวะล้มเหลว

ดร.ณอน เวนเกรเตอร์ หัวหน้าทีมศัลยแพทย์หลอดเลือดแห่งศูนย์สุขภาพ Westchester กล่าวว่า โควิด-19 ได้แสดงอาการต่างๆ ออกมาในหลายอาการ โดยผู้ป่วยรายหนึ่งถูกวินิจฉัยว่าได้รับเชื้อโควิดแต่ไม่มีอาการใดๆ แพทย์จึงลงความเห็นว่าให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน แต่หลังจากนั้นชายคนดังกล่าวมีอาการขาชาจนอ่อนแรง ไม่สามารถเดินได้ เขาจึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

ทั้งนี้แพทย์ได้ตรวจสอบอาการแล้วพบว่า ชายคนดังกล่าวมีอาการเส้นเลือดอุดตันบริเวณอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้ขาทั้งสองข้างไม่มีเลือดไปเลี้ยงและก่อให้เกิดอาการชาและอ่อนแรง

ดร.เวนเกรเตอร์ กล่าวว่า อาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ถึง 20-50 เปอร์เซ็นต์จากลิ่มเลือดอุดตันในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

นอกจากนี้ในงานวิจัยยังค้นพบว่า เชื้อไวรัสยังส่งผลกระทบโดยตรงอวัยวะบางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับเส้นเลือดในร่างกายและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดแข็งตัวและนำไปสู่การทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะภายในจนเกิดอาการอวัยวะล้มเหลวได้ในที่สุด

ที่มา CNN / Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง