ไม่พบผลการค้นหา
'วันนอร์' รอ 'ก้าวไกล' เสนอชื่อ 'ชัยธวัช' เป็นผู้นำฝ่ายค้าน โยน 'ปดิพัทธ์' ตัดสินใจร่วมกับพรรคจะขับออกหรือไม่ ด้านสภาฯ พร้อมปฏิบัติตามข้อกฎหมาย

วันที่ 25 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกระบวนการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร หลังจาก ชัยธวัช ตุลาธน ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่

โดย วันมูหะมัดนอร์ ระบุว่า พรรคก้าวไกลต้องแจ้งผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเมื่อ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว จะแจ้งมาที่รัฐสภาอีกครั้ง เพื่อดำเนินการโปรดเกล้าแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านฯ ต่อไป และจะเป็นช่วงใดนั้นขึ้นอยู่กับการรวบรวมเอกสารหลักฐานของพรรคก้าวไกลเพื่อยื่นต่อ กกต. และรัฐสภาจะดำเนินการต่อจากนั้นโดยเร็วที่สุด

ส่วนปัญหาติดขัดที่ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ของ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ซึ่งเป็นสส.พรรคก้าวไกลเหมือนกัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไม่ใช่ความติดขัดของสภา อยู่ที่พรรคก้าวไกลและ ปดิพัทธ์ เอง ที่จะต้องดำเนินการ เพื่อให้ทางสภาฯ นำความกราบบังคมทูล และโปรดเกล้าผู้นำฝ่ายค้านต่อไป เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ และคิดว่าทางพรรคก้าวไกลและ ปดิพัทธ์ คงจะทำเรื่องต่างๆ ให้มีความเรียบร้อย

กรณีหากพรรคก้าวไกลขับ ปดิพัทธ์ ให้ไปอยู่พรรคการเมืองอื่น เพื่อรักษาเก้าอี้ทั้ง 2 ตำแหน่งนั้น จะถูกโจมตีว่าเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองหรือไม่ วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ก็เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและข้อบังคับของสภาฯ และสภาฯ ก็ต้องปฏิบัติตาม

ส่วน สส. ฝ่ายรัฐบาลจะรับได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาล แต่สำหรับสภาเองสามารถพูดได้ว่า เมื่อ ปดิพัทธ์ ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดี ร่วมมือกับฝ่ายสภาฯ ได้ แต่ทั้งนี้ต่อไปก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพรรคก้าวไกลและ ปดิพัทธ์

ขณะที่ประมวลกฎหมายจริยธรรม ซึ่งถูกมองว่าไม่มีความเป็นสากล โดยเฉพาะหลังจากกรณีตัดสิทธิ์ทางการเมืองของ พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาตตใหม่ และโฆษกคณะก้าวหน้า ตลอดชีวิต เนื่องจากฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง วันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากเห็นว่าประมวลกฎหมายจริยธรรมมีความบกพร่อง ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตราที่ว่าด้วยประมวลจริยธรรม ซึ่งไม่ได้บังคับใช้กับผู้หนึ่งผู้ใด

ทั้งนี้ เห็นด้วยหรือไม่หากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้การวินิจฉัยเรื่องจริยธรรมเป็นหน้าที่ของรัฐสภาเอง โดยไม่ต้องขึ้นตรงต่อศาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยืนยันว่า ไม่ว่ารัฐธรรมนูญระบุไว้อย่างไร สภาก็ต้องปฏิบัติตามนั้น 

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลยังไม่ได้ประสานมายังรัฐสภาเรื่องการตั้งคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากรัฐบาลเห็นชอบการทำประชามติ ไปถึงขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องแจ้งมายังรัฐสภาอีกครั้ง

เมื่อถามถึงข้อกฎหมายที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นเข้ามาให้สภาฯ สามารถเริ่มต้นพิจารณาได้เมื่อใด วันมูหะมัดนอร์ เปิดเผยว่า ระเบียบวาระการประชุมในสัปดาห์นี้จะเป็นไปตามที่เห็นชอบไว้แล้ว ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือน ต.ค. จะเพิ่มวันประชุมสภาฯ จากวันพุธ และวันพฤหัสบดี เป็นวันพุธถึงวันศุกร์ เพื่อเพิ่มเวลาพิจารณาข้อกฎหมาย ซึ่งกำลังรออยู่หลายฉบับ