ไม่พบผลการค้นหา
'ดร.โกร่ง-วีรพงษ์' ชี้รัฐกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท น้อยไปกับความเสียหายปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทุบซ้ำด้วยโควิด-19 หนี้สาธารณะใกล้แตะร้อยละ 60 ของจีดีพี ทำได้ เพื่อรับมือวิกฤต ธปท.ดูแลสภาพคล่องเอสเอ็มอีเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การตั้งกองทุนซื้อหุ้นกู้เอกชน ผิดหลักการธนาคารกลาง

พลันที่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะที่ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ด้วยการออกกฎหมายชั้นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ผ่านกระทรวงการคลัง 1 ฉบับ ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2 ฉบับ เพื่อดูแลเยียวยาแรงงานนอกระบบประกันสังคม เกษตรกร สาธารณสุข ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และเสถียรภาพตลาดเงิน

'วอยซ์ทีวี' เปิดรายการพิเศษเชิญ 'ดร.วีรพงษ์ รามางกูร' อดีตรองนายกรัฐมนตรี วิเคราะห์เรื่อง 'มาตรการรัฐและแหล่งเงินทุน' กอบกู้ประเทศในยามวิกฤตนี้ 


คลังกู้น้อยไป เป็นระดับ 'M79' ไม่ใช่ 'บาซูก้า'

หลังจากรับฟังการแถลงของทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว 'ดร.วีรพงษ์' กล่าวว่า มาตรการที่ออกมา ตนเห็นด้วย 'เกือบจะ' ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ยอดเงินที่ใช้ แต่ก็นับว่า น้อยไป เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่ใช้ประมาณร้อยละ 10-11 ของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ติดต่อกัน 2-3 ปี ซึ่งสำหรับประเทศไทยถ้าใช้ร้อยละ 10 ของจีดีพี ก็จะประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท 

ส่วนที่รัฐบาลประกาศวันนี้ (7 เม.ย.2563) ว่า จะให้กระทรวงการคลังออกพ.ร.ก. กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ก็นับว่า ไม่เป็นอันตรายต่อวินัยการเงินการคลัง เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 41 ของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยยังสามารถเพิ่มหนี้สาธารณะได้อีกร้อยละ 20 ของจีดีพี เพื่อไม่ให้เกินเพดานหนี้สาธารณะที่ตั้งไว้ ว่าจะไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี สำหรับวินัยการคลัง

หรือถ้าจะขยายเพดานให้ยืดหยุ่น มีหนี้สาธารณะร้อยละ 70 ของจีดีพี ก็ยังไม่เสียหายต่อวินัยการคลัง เพราะวันนี้รัฐบาลก็บอกว่าการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มเป็นร้อยละ 57 ของจีดีพี ซึ่งก็ยังไม่ถึงร้อยละ 60 ดังนั้นในแง่นี้โดยรวมโอเค 


"ผมยังคิดว่า รัฐบาลใจไม่ถึง ถ้าเป็นผม ผมเอามากกว่านี้"


เนื่องจากว่าในมาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาทนั้น แบ่งเป็น คลังออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ส่วนอีก 9 แสนล้านบาท เป็นส่วนของแบงก์ชาติออกซอฟต์โลนดูแลเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท และตั้งกองทุนดูแลสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) 4 แสนล้านบาท  

ส่วนของธปท. 9 แสนล้านบาท ไม่ได้นับเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งในความเห็นของ 'ดร.วีรพงษ์' แล้ว มองว่า เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทที่คลังออก พ.ร.ก. กู้เงินนี้นิดเดียว เพราะรัฐบาลสามารถกู้ได้ถึง 1.6-1.9 ล้านล้านบาทต่อปี 


"ในแง่ปริมาณเงินยังไม่ถึงกับเป็นบาซูก้า แบบสิงคโปร์ เป็นแค่เอ็ม 79 ซึ่งคิดว่ายังน้อยไป เมื่อเทียบกับปัญหาและความร้ายแรงของปัญหา" ดร.วีรพงษ์ กล่าว


มาตรการดูแลเยียวยา ระยะที่ 3

คลังต้องใช้เงินให้เร็ว ให้มีความหมาย

ลำดับต่อมาคือ เมื่อมี 'แหล่งเงิน' แล้วก็ต้องดู 'วิธีใช้เงิน' 

ดร.วีรพงษ์ ระบุว่า วันนี้ยังไม่เห็นแผนการใช้เงินของรัฐบาล และต้องรอทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) 7 วันตามที่แจ้ง อย่างไรก็ตาม ต้องการเห็นความรวดเร็วของเม็ดเงินมากกว่า เช่น นำเม็ดเงินจากการกู้นี้ ไปใช้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ขึ้นเงินเดือนรัฐวิสาหกิจ ทำโครงการสาธารณสุข เช่น การทำโครงการขยายอัตรากำลัง เพิ่มหมอพยาบาล 4 หมื่นกว่าคน อันนี้ถือว่าดีแล้ว แต่ควรมีกระทรวงอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข

สิ่งสำคัญคือต้องลำดับความสำคัญ โครงการใดใช้เงินเร็ว ต้องทำเป็นอันดับแรก ส่วนที่ใช้เงินช้าๆ เอาไว้ทีหลัง ยกตัวอย่าง การให้เงินประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม เดือนละ 5,000 บาท นานขึ้นจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน อันนี้ ไม่ต้องไปตั้งหรือกำหนดว่า จะให้คนกี่คน จะให้ 3 ล้านคน หรือ 9 ล้านคน คนต้องการเท่าไรก็ควรให้ แต่อย่าซ้ำซ้อน และการให้เพียง 6 เดือน อาจไม่พอ ความจริงต้องให้ 1 ปี 

"อย่างที่บอก รัฐบาลสามารถออกมาตรการดูแลได้ถึง 1.6 ล้านล้านบาท จึงจะได้ร้อยละ 10 ของจีดีพี แต่ในมาตรการที่ออกมาวันนี้ พูดถึงเพียง 6 แสนล้านบาท สำหรับการจ่ายรายเดือนเยียวยาแรงงาน แล้วอีก 1 ล้านล้านบาท ถ้าออกมาก็จะทำอะไรได้อีกเยอะแยะ โดยไม่เสียหายต่อวินัยการคลังของประเทศ" 

สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการเยียวยา ไม่ใช่เรื่องการแจก เพราะวันนี้มีคนตกงาน มีคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ดังนั้นรัฐบาลต้องเยียวยาบรรเทาทุกข์ คนที่ตกงาน อย่างในประเทศที่เจริญแล้ว ยังมีเบี้ยสำหรับคนตกงาน จ่ายกัน 6 เดือน แต่ของประเทศไทยยังไม่มี เพราะที่ผ่านมา นึกว่าจะไม่มีปัญหานี้ อีกอย่างที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา จะไปเก็บเบี้ยอะไรก็ลำบาก 


"แต่วันนี้ต้องเข้าใจว่า ประเทศไทยมีฐานะการเงินการคลังมั่นคง และเมื่อเราตกทุกข์ได้ยากจากเศรษฐกิจตกต่ำและซ้ำด้วยโควิด-19 เงินที่เก็บไว้ ก็ควรจะมาใช้ตอนนี้ ถ้าไม่ใช้ตอนนี้จะใช้ตอนไหน"
ดร.โกร่ง

ธนาคารกลางไม่ควรเป็นผู้ซื้อตราสารหนี้เอกชน

ฝ่ายนโยบายการเงิน ใช้วิธีให้ธปท.ทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โอน) ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพื่อให้ธนาคารนำไปปล่อยกู้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี รวมถึงการให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐพักเงินต้นพักดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อีก 6 เดือน เรื่องนี้ใช้วงเงิน 5 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ครม.ก็ให้ออกพ.ร.ก. ให้ ธปท.จัดตั้งกองทุนดูแลสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท 

ในมุมมองของดร.วีรพงษ์ และในฐานะอดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า เห็นด้วยที่ ธปท. ต้องดูแลทั้งด้านผู้กู้ ผู้ผลิต เอสเอ็มอี ครัวเรือน ที่มีหนี้สิน เพื่อไม่ให้ปัญหาหนี้ ลามไปถึงสถาบันการเงิน เพราะเรามีนโยบายไม่ปล่อยให้สถาบันการเงินล้ม เนื่องจากมีประสบการณ์ในอดีตว่าจะสร้างความเสียหายยิ่งกว่าการป้องกันแต่แรก ส่วนการดูแลประชาชน ผ่านการออกซอฟต์โลน ก็โอเค  

แต่อันใหม่ที่ในมุมมองของ ดร.วีรพงษ์มองว่า ในฐานะธนาคารกลาง ธปท.ไม่ควรทำ คือ การที่ ธปท. จัดตั้งกองทุนเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชน (Corporated Bond) หรือ หุ้นกู้ของบริษัทเอกชน ซึ่งโดยหลักการแล้ว ธนาคารกลางไม่ควรทำ ซึ่งจะอ้างว่า สหรัฐอเมริกาก็ทำ ยุโรปก็ทำ ญี่ปุ่นก็ทำ ไม่ได้ 

"ประเทศเหล่านี้เขามั่นคงแล้ว มีระบบการเงินมั่นคง ระบบตรวจสอบมั่นคง ของเรายังไม่น่าจะถึงขั้นไปซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน เพราะระบบตรวจสอบของเรายังอ่อนแอและอาจมีการทุจริตได้"


นั่นเพราะ แต่ไหนแต่ไรมา การซื้อหุ้นกู้เอกชนจะมีธนาคารพาณิชย์ดำเนินการ ซึ่งประเทศไทยมีบริษัทเอกชน 2 ประเภท หนึ่ง คือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อีกหนึ่ง ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ทั้ง 2 ประเภทสามารถออกหุ้นกู้ได้ เพียงได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ปัญหาคือ ในกรณีหุ้นกู้ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะมี ก.ล.ต. ตรวจสอบ แต่กรณีบริษัทนอกตลาดฯ ถึงแม้ก.ล.ต.จะเป็นผู้อนุญาตให้ออกหุ้นกู้ แต่ก็ไม่ชัดว่า ใครคือคนตรวจสอบ และเข้มอย่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ อันนี้ก็ต้องฝากคิด 

หรือกรณี หากอยู่ดีๆ บริษัทแกล้งล้ม ไม่อยากใช้หนี้ ในเวลาที่หุ้นกู้หมดอายุแล้ว เอกชนที่ออกหุ้นกู้นั้นเขาอาจจะทิ้งหนีไปเลยก็ได้ แล้วถ้า ธปท. ไปซื้อมา จะมีหลักประกันอะไร ธปท. จะใช้เงื่อนไขใดในการพิจารณา แม้บ้านเราจะมีบริษัทจัดอันดับเรตติ้ง ที่ก็ใช้ได้ แต่อย่าลืมว่า เรตติ้ง หรือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มันไม่คงที วันนี้ประเมินว่า เป็นหุ้นกู้ประเภทลงทุนได้ หรือ investment grade ผ่านไปอีก 3 เดือน ก็อาจไม่เป็นแล้วก็ได้ แบบนี้ ธปท. จะมีเงื่อนไข หรือมีหลักประกันอะไร ที่จะไม่ทำให้เสียวินัยการเงิน 

"นี่เป็นครั้งแรกที่ ธปท. ทำโดยตรง ด้วยการซื้อหุ้นกู้เอกชน ซึ่งผมเห็นว่าไม่ควร" ดร.วีรพงษ์ กล่าว


เพราะที่ผ่านมา ก็มีธนาคารพาณิชย์ หรือ ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสินทำได้อยู่แล้ว เหตุใด ธปท. ต้องไปทำเอง ไม่มีความจำเป็นที่ ธปท. ต้องลงมาเองให้เสียหลักการธนาคารกลางที่เคยยึดถือ และอีกทั้ง สถานการณ์ในประเทศไทยเวลานี้ ยังไม่ถึงขั้นจะทำอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรือ ญี่ปุ่นทำ

"ธนาคารกลาง มีหน้าที่เป็นนายธนาคารของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลเก็บภาษี มีรายได้ ก็ห้ามไปฝากธนาคารพาณิชย์ แต่ต้องมาฝากที่ธนาคารชาติ เวลาจ่ายก็ต้องออกเช็คโดยธนาคารชาติ อีกทั้งธนาคารพาณิชย์นำเงินมาฝากธนาคารกลาง เวลาธนาคารกลางจะให้กู้ ก็ต้องให้กับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ไม่ใช่ให้นอกธนาคาร ไปปล่อยกู้บริษัทอะไรไม่รู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ซึ่งคุณอาจจะพังก็ได้" 

เพราะวงเงินระดับ 4 แสนล้านบาทนี้ ให้ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทยทำก็ได้ ธนาคารกลางต้องไม่ทำเอง ซื้อเอง สิ่งนี้ผิดหลักการ อีกทั้งในมุมมองของ ดร.วีรพงษ์ ยังมองว่า สิ่งที่ ธปท. ทำในเงินก้อนนี้ คือการทำในสิ่งที่ยังไม่ถึงเวลา ซึ่งยังมีทางอื่นให้ทำ ธปท.ไม่ควรทำเอง แต่ควรทำผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง 


นโยบายการเงินไกลตัวแต่จำเป็น
นโยบายการคลังประชาชนสัมผัสได้

การดำเนินการในครั้งนี้ของรัฐบาล เป็นการดำเนินการผ่านภาคการเงินและภาคการคลัง และในฐานะอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 'ดร.วีรพงษ์' อธิบายว่า นโยบายทางการเงินประชาชนทั่วไปอาจยังไม่ค่อยรู้สึก เพราะเรื่องการเงินการทองส่วนมากเกี่ยวกับบริษัท เกี่ยวกับผู้ลงทุน ผู้ออม

สำหรับประชาชนที่สัมผัสได้ คือนโยบายการคลัง ถ้าสมมติว่าเราจะใช้ ก็ทำได้เยอะแยะไปหมด เช่น ขึ้นเงินเดือนข้าราชการทั้งอยู่ในปัจจุบัน ทั้งบำนาญ ขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือว่าให้ลดค่าน้ำค่าไฟ ลดค่าเล่าเรียน หรือแจกเงินไปที่เกษตรกร ที่ทำอยู่แล้วก็เพิ่มขึ้น แต่อย่าประกันราคา หรือว่า 10 บาทรักษาทุกโรค อาจจะเพิ่มต่อหัวให้ครอบคลุมรายการที่ไม่ครอบคลุมให้มันมากขึ้น เพราะว่า 30 บาท ไม่ครอบคลุมทุกรายการที่ป่วย บางอันมีจำกัด กองทุนหมู่บ้านก็เพิ่มขึ้นได้อีก อันนี้โดยตรง แล้วก็ให้กองทุนหมู่บ้านลดดอกเบี้ยให้ลูกค้า เป็นต้น

ดร.โกร่ง


แนะลดค่าน้ำค่าไฟแบบขั้นบันได อย่าทำเป็นศูนย์

ส่วนนโยบายหรือมาตรการด้านเศรษฐกิจที่ประชาชนสัมผัสได้ เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ลดให้ได้ แต่ไม่ควรลดเป็นศูนย์เลย ควรลดให้เป็นขั้นบันได แล้วส่วนที่การไฟฟ้าฯ การประปาจะขาดทุน ก็ตั้งงบประมาณไปชดเชย อย่าทำให้รัฐวิสาหกิจพังเพราะนโยบาย

'ดร.วีรพงษ์' ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่ตนเห็น คือรัฐบาลมีมาตรการที่เพียงพอต่อปัญหาต่อโรคหรือปัญหาของเรา คืออย่างน้อยอยากเห็นรัฐบาลเฉพาะทางด้านการคลังให้มีโครงการที่มีความหมาย มีเม็ดเงินออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรายังมีช่องอยู่ แล้วก็ช่วยอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่า อะไรเป็นอะไร วินัยการคลังคืออะไร มีข้อจำกัดแค่ไหนอย่างไร ประชาชนจะได้ไม่กังวล 

ส่วนเงินของ ธปท. ไม่ได้อยู่ในหนี้สาธารณะ เป็นอีกส่วนหนึ่งการที่ ธปท. จะสร้างเงินขึ้นมาในระบบมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขณะนี้เรามีเงินเฟ้ออยู่เท่าไหร่ ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน ดุลบัญชีเดินสะพัดเราแข็งแรงหรือไม่ ซึ่งต้องบอกว่าขณะนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเวลานี้แข็งแรงมาก เงินเฟ้อก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการที่ ธปท. จะสร้างโครงการมาช่วยเหลือโดยเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบก็ยังไม่อันตราย เรื่องนี้เราโชคดีตรงนี้ แต่ที่ห่วงคือเรื่องทุจริตคอรัปชันมากกว่า

เป็นทั้งคำอธิบาย คำแนะนำ ความเห็น และความคาดหวังจากผู้อาวุโสในแวดวงเศรษฐกิจไทย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :