ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนไปที่จุดตั้งต้น ภาพสยองบน ‘ซองบุหรี่’ ของไทย มีพัฒนาการมาตั้งแต่ปี 2517 โดยออกกฎให้มีข้อความ ‘การสูบบุหรี่ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ’ ด้านข้างซอง จนกระทั่งปี 2548 บังคับใช้ ‘ภาพ’ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ส่วนงานวิจัยถึงผลลัพธ์ของการเตือนอย่างรุนแรงนี้ในระดับโลกก็แบ่งออกเป็น 2 ทาง ทั้งที่บอกว่าได้ผล และไม่ได้ผล

จากกรณีที่ ‘คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’  ได้จัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือน สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. …. โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 (1) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551  

โดยสาระ คือ บังคับให้ติดรูปภาพและข้อความคำเตือนที่มีลักษณะเป็นภาพถ่ายแสดงความรุนแรงลงบนพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 หรือร้อยละ 50 ของพื้นผิวบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นเดียวกับกรณีบรรจุภัณฑ์ยาสูบ 

ขณะนี้ กรมควบคุมโรคได้เปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นต่อร่างประกาศฯดังกล่าวทางเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 12-29 ก.พ. 2567 ผลสำรวจปัจจุบัน มี 1,040 รายที่เข้ามาแสดงความเห็น 87% ไม่เห็นด้วย

ทันทีที่ข่าวนี้ออกสู่สาธารณะ ประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมากต่างก็เซ็งแซ่ว่า ร่างประกาศนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลกระทบร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 420,000 ล้านบาท และทำให้พื้นที่สร้างเอกลักษณ์ของสินค้าหายไป 

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อ 29 ก.พ.67 ว่า มาตรา 26 (1) แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังไม่ได้ออกกฎหมายลูกในเรื่องของการฉลาก คำเตือน และบรรจุภัณฑ์​ ซึ่งจริงๆ ต้องทำให้เสร็จเมื่อพฤศจิกายน 2566 แต่ขอเลื่อนมา 1 ปี ทำให้ต้องเร่งทำให้เสร็จภายในพฤศจิกายนปีนี้ การออกกฎหมายลูกต่างๆ จะมีคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนด้านต่างๆ

“ร่างนี้เคยนำเสนอมาตั้งแต่สมัยปี 2553 ครั้งหนึ่ง แล้วก็ถูกปัดตกไป เนื่องจากไม่เห็นด้วย มองว่าสุดโต่งไป และภาพไม่เป็นมาตรฐานของทั่วโลก ทีนี้ในการประชุมของคณะอนุกรรมการร่างกฎหมาย ทุกคนก็มีความหวังดี เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นสินค้าทั่วๆ ไป จะทำอย่างไรที่จะเตือนประชาชนให้ทานน้อยลง นักวิชาการบางท่านก็เสนอว่า เอาแบบซองบุหรี่ไหม แล้วก็พบว่าสมัยก่อนเคยมีการเสนอจะทำภาพบนฉลากแบบนี้อยู่ กรรมการหลายคนก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็เลยให้เกิดการทำประชาพิจารณ์​ให้ประชาชนได้รับทราบและดูว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ เพื่อพิจารณาและร่างใหม่อีกทีหนึ่ง” นพ.ธงชัยกล่าว

ในหลายประเทศทั่วโลกก็มีความพยายามที่จะติด ‘คำเตือน’ ด้านสุขภาพไว้บนบรรจุภันฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เช่นกัน โดยมีแนวคิดและรูปแบบฉลากคำเตือนที่แตกต่างกัน เช่น ในสหรัฐอเมริกา กำหนดให้ผู้ผลิตติดคำเตือน 2 ประโยค คือ 1.ความเสี่ยงขณะดื่มในการตั้งครรภ์ 2.ลดความสามารถในการขับขี่ พร้อมระบุข้อความกว้างๆ ว่า อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ขณะที่บางประเทศในยุโรปพยายามมีคำเตือนในรูปแบบสัญลักษณ์ หรือข้อความสั้นๆ ซึ่งส่วนมากจะเน้นไปที่ความเสี่ยงในผู้ตั้งครรภ์

จากการสำรวจพบว่า ยังไม่มีประเทศใดใช้ภาพรุนแรงหรือกำหนดให้ต้องติดรูปภาพและข้อความ ร้อยละ 30 หรือร้อยละ 50 ของพื้นผิวบรรจุภัณฑ์แต่อย่างใด 

ย้อนรอยภาพสยอง ‘ซองบุหรี่’  Thailand only 

‘ควันบุหรี่ฆ่าเด็กได้’ 

‘สูบบุหรี่ทำให้เซ็กซ์เสื่อม’ 

‘สูบแล้วเป็นมะเร็งช่องปาก’

‘ควับบุหรี่ทำให้หัวใจวายตาย’

สารพัดคำเตือนสำหรับผู้สูบบุหรี่และผู้ได้รับควัน ประกอบกับภาพปอดดำเมี่ยม ฟันสีเหลืองผุพัง ภาพชายนอนพะงาบบนเตียงพร้อมสายระโยงระยาง ล้วนเป็นภาพที่สิงห์อมควันทั้งหลายคุ้นชิน ทั้งหมดนี้ทำขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากบุหรี่ ตามมาด้วยคำถามว่า มันได้ผลจริงหรือไม่ ?

คำเตือนบนซองบุหรี่มีพัฒนาการมาตั้งแต่ปี 2517 เริ่มต้นจากการพิมพ์คำเตือนครั้งแรก โดยใช้เพียงข้อควมว่า ‘การสูบบุหรี่ อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ’ ด้านข้างซอง โดยไม่ได้กำหนดขนาด สี ของอักษร ต่อมาก็มีการปรับข้อความและกำหนดขนาดตัวอักษรให้ไม่เล็กกว่า 2x2 มม. จากนั้นก็เริ่มแก้ไขให้ฉลากคำเตือนมีขนาดไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของซองด้านหน้าและด้านหลัง จนถึงปัจจุบัน กำหนดให้ฉลากคำเตือนเป็นรูปภาพ 4 สีประกอบข้อความคำเตือนภัยบุหรี่ 6 แบบคละกันไป และเพิ่มพื้นที่ของภาพเป็นร้อยละ 85% ของซองบุหรี่ 

ไอเดีเบื้องต้นมุ่งหมายให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย แม้ไม่รู้หนังสือหรือมีการศึกษาน้อย เพื่อลดความดึงดูดหรือความโก้เก๋ของซองบุหรี่ ใช้ความน่ากลัวในการนำเสนอให้เห็นผลกระทบทางลบ วิธีนี้ถูกนำไปใช้ในหลายๆ ประเทศเช่นกัน 

ประเทศแคนาดา คือประเทศแรกของโลกที่พิมพ์ภาพสีพร้อมคำเตือนบนซองบุหรี่ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2543 หลังจากนั้นบราซิล สิงคโปร์ ก็ได้นำนโยบายคำเตือนแบบนี้ไปใช้

image11.png

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2548 ซึ่งเป็นปีที่มีการบังคับใช้ ‘ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่’ พบว่า อัตราการบริโภคยาสูบมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่ทว่าในปี 2554 กลับมีอัตราการสูบเพิ่มขึ้้น และกลับมาลดลงอีกครั้งในปี 2556 ก่อนที่ปี 2557 จะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย 

image15.png

มีงานวิจัยมากมายพยายามหาคำตอบว่า ภาพน่ากลัวขนาดใหญ่ที่แปะอยู่บนซองบุหรี่ ช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงความอันตราย และลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ได้หรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งที่บอกว่าได้ผลและไม่ได้ผล

งานวิจัยของศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบว่า ซองบุหรี่ที่ปราศจากสีสันจะช่วยลดความสนใจในการสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลกับกลุ่มวัยรุ่นมากกว่ากลุ่มอื่น สิ่งที่สำคัญคือ ประสิทธิผลของภาพคำเตือนด้านสุขภาพซึ่งพบว่าการเห็นภาพคำเตือนที่ชัดเจนมากขึ้น สร้างแรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่และพฤติกรรมการตอบสนองที่จะหลีกเลี่ยง

รายงานจาก Stephen Hamann ระบุว่า การออกแบบคำเตือนบนซองบุหรี่ที่ดี จะช่วยเพิ่มความตระหนักต่อผลกระทบด้านสุขภาพและความสามารถลดการสูบบุหรี่ได้ 

ในอีกด้านหนึ่งก็มีงานวิจัยมากมายที่พบว่า คำเตือนบนซองบุหรี่ไม่มีผลกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่เช่นกัน อาทิ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างทั้งผู้ที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าทั้งภาพและคำเตือนไม่มีผลต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เนื่องจากคิดว่าการสูบบุหรี่ไม่มีอันตรายถ้าไม่สูบมากเกินไป และคิดว่ากว่าจะเป็นอันตรายต้องใช้ระยะเวลานาน

หรืองานศึกษาอันลือลั่นของ มาร์ติน ลินด์สตรอม ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดชั้นนำระดับโลก ที่ได้ออกหนังสือชื่อว่า buy.ology ที่อ้างว่า ทุกๆ วันมีการจำหน่ายบุหรี่ประมาณ 1.5 ล้านมวน หรือ 10 ล้านมวนต่อนาที ทั่วโลกมีผู้สูบบุหรี่ประมาณ 1,400 ล้านคน ธนาคารโลกคาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2568 ตัวเลขนักสูบจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้านคน แม้แต่ละประเทศมีความพยายามจะลดตัวเลขลง โดยออกมาตรการต่างๆ เช่น ภาพเตือนบนซอง

หนังสือเล่มนี้ ได้เปิดเผยการทดลองของ เจมมา คาลเวิร์ต หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีภาพถ่ายทางระบบประสาทเชิงประยุกต์ มหาวิทยาลัยวอริคในประเทศอังกฤษ นำกลุ่มตัวอย่าง 32 รายเข้ากระบวนการสแกนสมอง โดยให้ดูภาพคำเตือนบนซองบุหรี่หลากหลายแบบอย่างต่อเนื่อง โดยให้กลุ่มตัวอย่างบอกระดับความต้องการสูบบุหรี่ระหว่างดูภาพด้วยการกดปุ่ม 

“ผลลัพธ์คือ คำเตือนทั้งด้านข้าง ด้านหน้า ด้านหลังซองบุหรี่ไม่มีผลต่อความอยากบุหรี่ของนักสูบเลย พูดง่ายๆ ก็คือบรรดารูปภาพน่าสยดสยอง กฎระเบียบของรัฐบาล ตลอดจนเม็ดเงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่ 123 ประเทศทุ่มให้กับการณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง” 

มากกว่านั้น ยังพบว่า ภาพคำเตือนโรคร้ายต่างๆ  ได้กระตุ้นพื้นที่ในสมองที่เรียกว่านิวเคลียส แอคคัมเบนส์ หรือ ‘ต่อมอยาก’ กลายเป็นการกระตุ้นให้นักสูบอยากสูบบุหรี่มากขึ้นอีก ผลการศึกษาครั้งนี้จึงสรุปได้ว่า คำเตือนบนซองบุหรี่กลับกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดชั้นยอดให้แก่อุตสาหกรรมยาสูบมาโดยตลอด

image14.png

หรือในงานวิจัยของ Nicotine & Tobacco Research ในปี 2017 ที่ทำการทดลองในเด็ก พบว่า ยิ่งบนซองบุหรี่มีภาพและคำเตือนโหดๆ แค่ไหน เด็กก็ยิ่งมีแนวโน้มสูบหบุรี่เร็วขึ้น โดยคำอธิบายคือ แง่หนึ่งเด็กวัยรุ่นมีความขบถอยู่ในตัว การห้ามจึงยิ่งเหมือนการกระตุ้นให้เด็กเหล่านี้ทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่อยากให้ทำ 

สำรวจทั่วโลก ‘คำเตือน’ บนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์


ออสเตรเลีย (2019) ‘คนท้องห้ามดื่มแอลกอฮอล์’

เมื่อเดือนตุลาคม 2561  ในการประชุมรัฐมนตรีออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เกี่ยวกับกฎระเบียบด้านอาหาร ได้มีการบรรลุข้อตกลงว่าด้วยการที่ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องติดฉลากผลิตภัณฑ์คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดื่มระหว่างตั้งครรภ์

โดยตั้งแต่ปี 2554 ฉลากคำเตือนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้โดยความสมัครใจเท่านั้น ทว่าหลังข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพราะในแต่ละปี ทารกในประเทศนิวซีแลนด์ประมาณ 1,800-3,000 คนเกิดมาพร้อมกับกลุ่มอาการผิดปกติจากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดาขณะตั้งครรภ์ (FASD) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจบกพร่อง ปัญหาด้านพฤติกรรม และความพิการทางสติปัญญา 

image4.png

เทอร์รี สเลวิน ประธานสมาคมสาธารณสุขแห่งออสเตรเลีย กล่าวถึงมาตรการนี้ว่า “สิ่งสำคัญคือต้องให้คำแนะนำที่ชัดเจนและถูกต้องแก่สตรีออสเตรเลียที่กำลังตั้งครรภ์เกี่ยวกับความเสี่ยงในการดื่มระหว่างตั้งครรภ์ โดยกลุ่มอาการผิดปกติของทารกจากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดาขณะตั้งครรภ์ (FASD) มีความสำคัญที่สุด”

image1.pngimage17.pngimage8.png

หลังประกาศใช้มาตรการ ธุรกิจจำนวนมากเลือกที่จะเพิ่มฉลากคำเตือนบนผลิตภัณฑ์ของตนล่วงหน้า ก่อนวันประกาศบังคับใช้ ดังนั้นผู้บริโภคจึงคุ้นเคยกับการเห็นฉลากดังกล่าวบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว

แม้หลักฐานเชิงวิชาการในปัจจุบันจะยังไม่สามารถบอกได้ว่า การดื่มสุราปริมาณเท่าไรจึงจัดว่า ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมทั้งปลอดภัยสำหรับทารก แต่การศึกษาต่างๆ ยืนยันว่า การสัมผัสกับแอลกอฮอล์ขณะอยู่ในครรภ์มารดา ทําลายสมองของทารกอย่างถาวร ทําให้สมองพัฒนาการผิดปกติ ส่งผลให้เกิดความพิการหรือความบกพร่องในการทําหน้าที่ต่างๆ และเกิดปัญหาพฤติกรรมตามมา อีกทั้งการที่ทารกได้รับน้ำนมจากมารดาที่ดื่มสุราจะทำให้ทารกมีโอกาสได้รับแอลกอฮออล์เข้าไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการด้าน Gross moter ดังนั้น การงดดื่มสุราในหญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังให้นมบุตร จึงเป็นแนวทางปฏิบัติที่ปลอดภัยที่สุด 

แคนาดา (2017)  ‘แอลกอฮอล์สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็ง’

ในปี 2560 นักวิจัยจากสถาบันวิจัยการใช้สารเสพติดแห่งแคนาดา แห่งมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย (CISUR) และสาธารณสุขออนแทรีโอ ทำการศึกษาโดยการนำฉลากที่ระบุว่า ‘แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของมะเร็ง’ และข้อมูลเกี่ยวกับระดับการบริโภคแอลกอฮอล์ที่ปลอดภัย ไปติดบนบรรจุภัณฑ์แอลกอฮอล์ในร้านเหล้าแห่งหนึ่งของเมืองไวต์ฮอร์ส 

การศึกษาพบว่า ลูกค้าที่เห็นฉลาก มีแนวโน้มที่จะจดจำข้อมูลบนฉลาก มากกว่าลูกค้าในร้านเหล้าที่ไม่ได้ติดฉลาก และยังพบว่ายอดขายผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากลดลง 6.6% ในขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากเพิ่มขึ้น 6.9%

"เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขามีความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงมะเร็งจากแอลกอฮอล์ มีความสามารถในการประเมินปริมาณการดื่มได้อย่างถูกต้องและข้อมูลแนวทางการดื่มที่มีความเสี่ยงต่ำ " Kate Vallance หนึ่งในนักวิจัยกล่าว 

ทว่าเพียงไม่กี่สัปดาห์ การศึกษานี้ก็ต้องหยุดชะงัด เมื่อหน่วยงานรัฐได้ดึงฉลากคำเตือนเกี่ยวกับมะเร็งออกจากชั้นวางของในร้าน อ้างถึงการคัดค้านจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของแคนาดาตลอดจนบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท้องถิ่น 

image12.pngimage13.png

การทดลองนี้ถือเป็นครั้งแรกของชาวแคนาดา และในแง่หนึ่งก็ถือเป็นครั้งแรกของโลก ในการติดฉลากขนาดใหญ่ที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทุกชนิด เ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง รวมถึงคำแนะนำระดับการบริโภค

ข้อสรุปหนึ่งของงานศึกษานี้ ชี้ว่า การมีป้ายคำเตือนติดอยู่บนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านขายเหล้าที่ใหญ่ที่สุดของเมืองนั้น กระตุ้นให้ผู้คนจำนวนมากในภูมิภาคที่มีการบริโภคแอลกอฮอล์สูงสุดของแคนาดา ‘ลดการดื่มลงได้’

การวิจัยดังกล่าวนำไปสู่การที่วุฒิสมาชิก แพทริค บราโซ เสนอการแก้ไขพระราชบัญญัติอาหารและยาเพื่อกำหนดสิ่งที่เขาเรียกว่า "การติดฉลากที่ซื่อสัตย์" อีกด้วย 

นอกจากนี้ ยังเคยมีงานศึกษาของ เอริน โฮบิน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากหน่วยงานสาธารณสุขออนแทรีโอ ได้ทำการทดลองติดฉลากเตือนมะเร็งบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านเหล้าแห่งหนึ่งเป็นเวลา 1 เดือนในปี 2560 โดยโฮบินกล่าวว่า 

“สิ่งที่เราเรียนรู้คือ คำเตือนเรื่องมะเร็งดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค พวกเขาอ่านคำเตือนเรื่องมะเร็งอย่างใกล้ชิด พวกเขาคิดถึงข้อความนั้น พูดคุยกับเพื่อนบ้านและเพื่อนๆ เกี่ยวกับข้อความนั้น มีการวิเคราะห์ถึงข้ออความอย่างลึกซึ้งจริงๆ และผู้คนไม่เพียงพูดถึงคำเตือนเท่านั้น แต่พวกเขาดื่มน้อยลงด้วย” 

อย่างไรก็ดี ในประเทศแคดานา กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงความเสี่ยงใดๆ อย่างชัดเจน ฉลากคำเตือนด้านสุขภาพจึงควรอยู่บนบรรจุภัณฑ์อยู่แล้ว ทว่าปัจจุบัน อุตสาหกรรมฯ ก็ยังไม่มีคำเตือนด้านสุขภาพบนฉลากบรรจุภัณฑ์ที่ครอบคลุมเพียงพอ

จากข้อมูลพบว่า ชาวแคนาดาจำนวนมากไม่ทราบว่าตนเองดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่ไม่ปลอดภัย และประมาณ 75% ของชาวแคนาดาที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ กว่า 40% ไม่ทราบว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง 

ปัจจุบันจึงมีความพยายามผลักดันให้รัฐบาลกลางบังคับใช้ฉลากบังคับ รวมถึงคำเตือนพร้อมข้อความด้านสุขภาพและความปลอดภัยกับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทั้งหมดที่จำหน่ายในแคนาดา  ฉลากเหล่านี้ควรประกอบด้วยข้อมูลมาตรฐานของเครื่องดื่ม ฉลากโภชนาการ ความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งและโรคเรื้อรังอื่นๆ และคำแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพ

จากการสำรวจโดย CCS ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 พบว่า ชาวแคนาดา 8 ใน 10 คน สนับสนุนการใช้ฉลากคำเตือนหรือข้อความด้านสุขภาพบนภาชนะบรรจุแอลกอฮอล์ 

ไอร์แลนด์  (2026) ‘แอลกอฮอล์มีคุณสมบัติในการก่อมะเร็ง’

ชาวไอริชถือว่าเป็นกลุ่มผู้ ‘ดื่มหนัก’ ที่สุดในยุโรป ข้อมูลปี 2562 พบว่า เฉลี่ยแล้วดื่มแอลกอฮอล์ถึง 12.7 ลิตร เปรียบกับชาวอิตาลีที่ดื่มเพียง 8 ลิตรต่อปีเท่านั้น 

image6.png

พฤษภาคม 2566  The Guardian รายงานว่า สตีเฟน ดอนเนลลี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไอร์แลนด์ ลงนามกฎหมายบังคับใช้การติดฉลากสุขภาพบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อแจ้งเตือนผู้คนเกี่ยวกับปริมาณแคลอรี่ ปริมาณแอลกอฮอล์ ความเสี่ยงของโรคมะเร็ง โรคตับ และอันตรายจากการดื่มขณะตั้งครรภ์

กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2569 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ มีเวลาในการปฏิบัติตามนโยบายนี้ 

นั่นหมายความว่า ไอร์แลนด์จะกลายเป็นประเทศในยุโรป ที่มีการติดฉลากสุขภาพที่ ‘ครอบคลุมบนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทั้งหมด’ และเป็นประเทศที่สอง (รองจากเกาหลีใต้) ของโลก ที่แนะนำคำเตือนเกี่ยวกับ ‘มะเร็งในผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์’ 

ฉลากคำเตือนดังกล่าว กำหนดว่า ต้องมีข้อความเตือนเกี่ยวกับโรคมะเร็ง คำเตือนเรื่องการตั้งครรภ์ คำเตือนว่าการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดโรคตับ ข้อมูลปริมาณแอลกอฮอล์และจำนวนแคลอรี่ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ รวมถึงรายละเอียดเว็บไซต์เกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้อง 

กฎหมายนี้ยังระบุรายละเอียดอีกว่า จะต้องพิมพ์ด้วยตัวหนา ฟอนต์ Times New Roman บนพื้นหลังสีขาว พิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่สีแดง ข้อความจะต้องมีสัดส่วนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้บนพื้นผิวที่สงวนไว้สำหรับคำเตือน โดยให้พิมพ์ด้วยแบบอักษรปกติ ถ่วงน้ำหนัก และจัดตำแหน่งไว้ที่กึ่งกลางของพื้นผิวที่สงวนไว้สำหรับคำเตือนดังกล่าว และไปในทิศทางเดียวกันกับข้อความส่วนใหญ่อื่นๆ ข้อมูลบนบรรจุภันฑ์  

นโยบายนี้ จะบังคับให้ห้ผู้ผลิตแสดงข้อมูลและคำเตือนบนบรรจุภัณฑ์ และแจ้งให้ผู้บริโภคไปที่เว็บไซต์ Ireland’s Health Service  เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งข้อมูลเหล่านี้จะถูกเผยแพร่ในผับและสถานที่อื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตด้วย 

image2.png

การตัดสินใจบังคับใช้กฎหมายนี้ มาจากข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ในไอร์แลนด์ ร่วมกับการที่ผู้บริโภคชาวไอริชมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับต่ำ 

โดยไอร์แลนด์ได้ทำการสำรวจกับประชากร 7,000 คน พบว่า 7% เชื่อว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อยขณะตั้งครรภ์นั้นปลอดภัย และเกือบ 80% ไม่ทราบถึงความเสี่ยงของโรคต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม และยังพบว่าผู้ที่มีอายุ 15-24 ปีตระหนักถึงความเสี่ยงเกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ 

สหรัฐฯ (1989)  ‘ความเสี่ยงของการดื่มและการขับรถ ตั้งครรภ์ และสุขภาพทั่วไปอื่นๆ’

สหรัฐอเมริกา กำหนดให้ติดฉลากบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดที่จำหน่ายในประเทศ และมีแอลกอฮอล์ไม่น้อยกว่า 0.5%

ตามพ.ร.บ.การติดฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 1988 กำหนดให้มีข้อความว่า 

คำเตือนของรัฐบาล:  (1) ตามที่ศัลยแพทย์ทั่วไปกล่าวไว้ ผู้หญิงไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อความพิการแต่กำเนิด  (2) การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ความสามารถในการขับขี่รถยนต์หรือการใช้เครื่องจักรลดลง และอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ 

image3.png

นอกจากนี้ ยังกำหนดรายละเอียดว่า 

(1) ข้อความคำเตือนด้านสุขภาพอาจปรากฏบนป้ายด้านหน้า ป้ายด้านหลัง หรือป้ายด้านข้าง

(2) คำว่า ‘คำเตือนของรัฐบาล’ จะต้องปรากฏเป็นตัวพิมพ์ใหญ่และตัวหนา ข้อความที่เหลืออาจไม่ปรากฏเป็นตัวหนา จะต้องปรากฏเป็นย่อหน้าต่อเนื่องกัน

(3) ขนาดของคำเตือน (ตัวอักษร)

  • ขั้นต่ำ 3 มม. สำหรับภาชนะที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 ลิตร (101 ออนซ์)
  • ขั้นต่ำ 2 มม. สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 237 มล. (8 ออนซ์) และไม่เกิน 3 ลิตร (101 ออนซ์)
  • ขั้นต่ำ 1 มม. สำหรับบรรจุภัณฑ์ขนาด 237 มล. (8 ออนซ์) หรือน้อยกว่า

(4) จะต้องปรากฏในรูปแบบการพิมพ์ที่อ่านง่ายและปรากฏบนพื้นหลังที่ตัดกัน

image7.jpg

image5.pngimage16.png


อ้างอิง