ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.ก้าวไกล ชำแหละงบประมาณความมั่งคงชายแดนใต้ อัดงบล้างสมองพุ่ง กองทัพรุกสิทธิส่วนบุคคล ใช้ประชาชน 2 ล้านคนเป็นหนูทดลองกฎหมายพิเศษ

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยระบุว่าหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้นั้น คือการเจรจาสันติภาพกับฝ่ายผู้เห็นต่าง ดังที่ Peace Survey เคยทำผลสำรวจไว้เมื่อต้นปี 2562 ว่าประชาชนในพื้นที่ 65% เห็นว่าการพูดคุยสันติภาพเป็นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหา

อีกทั้งเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามีหลายฝ่ายได้แสดงความต้องการให้เกิดเจรจาสันติภาพอย่างชัดเจน ดังนั้นในปีงบประมาณ 2564 นี้จึงควรเป็นปีที่การเจรจาสันติภาพต้องเป็นวาระที่สำคัญที่สุด ในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ แต่ทิศทางของสถานการณ์จะมุ่งไปสู่การเจรจาสันติภาพ และมีแผนยุทธศาสตร์ที่จะนำชายแดนภาคใต้กลับสู่สภาวะปรกติ แต่ปรากฏว่ารายละเอียดของงบประมาณกลับเปลี่ยนไปจากปีก่อนๆ น้อยมาก

นายรังสิมันต์ โรม ได้แบ่งประเภทของโครงการต่างๆ ในแผนบูรณาการนี้ตามวัตถุประสงค์ออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

  • โครงการด้านการเยียวยาและฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพ
  • โครงการด้านการพัฒนา
  • โครงการด้านความมั่นคง
  • โครงการด้านการปรับทัศนคติและโฆษณาชวนเชื่อ

เมื่อดูสัดส่วนของงบประมาณแล้ว งบโฆษณาชวนเชื่อก็ยังคงมีสัดส่วนสูงที่สุด ถึง 42.1% ตามมาด้วยงบความมั่นคง สัดส่วนสูงถึง 35.8% ในขณะที่งบกระบวนการสันติภาพที่ควรได้รับความสำคัญเป็นอย่างสูง กลับมีสัดส่วนเพียง 16.4% เท่านั้น สัดส่วนงบทุกประเภทแทบไม่ต่างจากปีที่แล้ว

โฆษณาชวนเชื่อ เพื่อล้างสมอง

โครงการด้านโฆษณาชวนเชื่อ “ส่งเสริมและเผยแพร่ความจริงที่ถูกต้อง” ที่เคยอภิปรายกันไปแล้วว่าแท้จริงมันคืองบล้างสมอง ส่งทหารเข้าโรงเรียนไปปลูกฝังค่านิยมแบบทหารๆ กับเด็กนักเรียน พยายามครอบงำประชาชนให้คิดแต่ในแบบที่กองทัพต้องการ เพราะเรากลับพบว่ามีโครงการ “เสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้” เข้ามาแทนที่ แบบที่รายละเอียดแทบจะถอดแบบกันมา

ส.ส.พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามว่า นี่คือความพยายามตบตาสภาใช่หรือไม่ ในเมื่อปีที่แล้วรัฐบาลเห็นว่าสภาไม่พอใจกับชื่อโครงการ เลยเปลี่ยนชื่อมันเสียก็สิ้นเรื่อง พฤติกรรมแบบนี้คือการเห็นสภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงตรายางเหมือนสมัย สนช. คิดว่าแค่ตกแต่งเอกสารให้สวยๆ ก็เอามาให้เห็นชอบได้สบายๆ ใช่หรือไม่

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพงานข่าวกรองและฐานข้อมูลความมั่นคง ปีนี้ตั้งงบถึง 926 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 17 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบ “ข่าวกรองเชิงรุก” ของ กอ.รมน. ถึง 369 ล้านบาท โครงการนี้คือการสร้างสายข่าว ซึ่งก็เคยอภิปรายไปแล้วว่ามันคือการสร้างความแตกแยกหวาดระแวงในพื้นที่ เปิดช่องให้เกิดการใส่ร้ายป้ายสีและคอร์รัปชัน นอกจากนี้ กอ.รมน. ยังมีงบสนับสนุนและใช้งานเครือข่ายมวลชนเพื่องานความมั่นคงในชายแดนภาคใต้ ซึ่งอยู่นอกแผนบูรณาการฯ อีก 665 ล้านบาท เท่ากับว่า กอ.รมน. มีงบเพื่อใช้ประโยชน์ในงานสายข่าวชายแดนภาคใต้ถึง 1,034 ล้านบาท

กอ.รมน. รุกปฏิบัติการ IO สร้างความแตกแยก

เว็บไซต์ pulony.blogspot.com ที่สนับสนุนโดย กอ.รมน. ในการทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือ IO ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อันเป็นการสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน ยุยงให้เกิดความไม่สงบต่อไป เมื่อเช้านี้ตนได้ลองเปิดเว็บนี้ดูอีกครั้ง มันยังอยู่ครับ และยังอัปเดตบทความสร้างความแตกแยกอยู่จนทุกวันนี้ โจมตีองค์กรสิทธิมนุษยชน โจมตีประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างไม่มีหยุดหย่อน นี่คือส่วนหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพข่าวกรองด้วยหรือเปล่า เว็บแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสันติภาพอย่างไร และถ้าได้งบปี 2564 ไป เว็บนี้ก็จะยังอยู่ทำ IO แบบนี้ต่อไปอีกใช่หรือไม่

2-7-2563 16-09-34.jpg

การติดตั้งกล้องวงจรปิด เป็นโครงการผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2565 มีวงเงินรวมถึง 611 ล้านบาท คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ เคยลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้เพื่อตรวจสอบการใช้มาตรการของรัฐ เราพบว่าทิศทางงานข่าวกรองของฝ่ายความมั่นคงเริ่มหันไปหาการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นเราจะพบเห็นการติดกล้องวงจรปิดเพื่อจับภาพบุคคล ระบบการจดจำเอกลักษณ์ทางร่างกาย นำมาบังคับใช้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเลือกปฏิบัติและปราศจากความยินยอม

พุ่งเป้าเก็บ DNA เยาวชนมุสลิม

โรม พรรคก้วไกล อภิปราย_๒๐๐๗๐๒.jpg

ยกตัวอย่างเรื่องการเก็บ DNA ของบุคคล รู้หรือไม่ว่าทุกวันนี้ตำรวจและทหารได้ดำเนินการเก็บ DNA ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก ทั้งการเก็บแบบพุ่งเป้าไปที่ชาวมุสลิมที่มีคนในครอบครัวถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อความไม่สงบ และการเก็บแบบเหมารวมกลุ่มบุคคลในชุมชนหรือองค์กรต่างๆ รวมถึงอาจถูกเก็บได้หลายครั้ง

จากข้อมูลที่ได้รับทราบมา ในปี 2562 มีผู้ที่ถูกเก็บ DNA ทั้งชาวบ้านทั่วไป เด็กนักเรียน ครู ผู้สูงอายุ รวมเป็นจำนวนกว่า 600 คนเป็นอย่างน้อย หรือแม้กระทั่งทหารเกณฑ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่เกณฑ์เข้ามากว่า 19,000 คนก็ถูก “ขอให้ยินยอม” ให้เก็บ DNA เช่นกันนี่เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างชัดแจ้ง และเป็นการปฏิบัติต่อพลเมืองราวกับเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะก่ออาชญากรรม ผมอยากถามใจของเพื่อน ส.ส. ทุกท่าน ณ ที่นี้ว่าถ้าวันนี้ตำรวจสภามาบังคับเก็บ DNA จากพวกท่าน พวกท่านจะยังคิดว่าตัวเองถูกมองเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่หรือไม่

เรื่องการลงทะเบียนซิมโทรศัพท์มือถือ “2 แชะอัตลักษณ์” นี่คือนวัตกรรมที่เริ่มต้นมาจากการเก็บข้อมูลบุคคลในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ติดตามตัว โดยบังคับให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะซื้อซิมใหม่หรือมีใช้ซิมเดิม ต้องมาลงทะเบียนผ่านระบบนี้ โดยจะต้องถูกเก็บข้อมูลรูปถ่ายและบัตรประจำตัวประชาชน และในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ระบบนี้ก็ค่อยๆ คืบคลานจากชายแดนภาคใต้มาสู่ประชาชนทั่วประเทศ ทุกวันนี้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนถ้าซื้อซิมใหม่ก็จะต้องถูกเก็บข้อมูลเช่นกัน

แต่สำหรับผู้ใช้ซิมเดิมอาจยังไม่ต้องถูกบังคับให้ลงทะเบียนใหม่ เหมือนในชายแดนภาคใต้ ถามว่าเพราะอะไร เรื่องนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติและ กสทช. เคยมาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ว่าที่ยังไม่บังคับเพราะยังกลัวจะถูกมองว่าละเมิดสิทธิ ซึ่งก็น่าประหลาดใจไม่น้อยว่า แล้วที่บังคับกับคนชายแดนภาคใต้ ท่านไม่กลัวถูกมองว่าละเมิดสิทธิด้วยอย่างไร และที่ชี้แจงเช่นนี้หมายความว่าท่านกำลังรอจังหวะที่จะนำมาบังคับใช้กับคนทั่วประเทศอยู่ใช่หรือไม่

กองทัพใช้ 2 ล้านคนเป็นหนูทดลอง

การกำหนดงบประมาณเช่นนี้ รวมทั้งการคงกฎหมายอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือกฎอัยการศึกในชายแดนภาคใต้ เป็นแนวนโยบายที่เกิดจากความไม่ไว้ใจประชาชน ไม่เชื่อในกระบวนการพูดคุย คิดแต่ว่าต้องใช้กฎหมาย อาวุธ และโฆษณาชวนเชื่อเข้าครอบงำ ถ้าต้องการสันติสุขกลับคืนสู่ชายแดนภาคใต้จริงๆ รัฐบาลจะไม่จัดทำงบแบบนี้สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ คือการใช้พื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นห้องทดลองเพื่อทดสอบนวัตกรรมต่างๆ ในการควบคุมเก็บข้อมูล และล้างสมองประชาชน

โดยมีคนในพื้นที่กว่า 2 ล้านคนเป็นหนูทดลองกลุ่มแรกสุด ทดลองใช้สายข่าวแบ่งแยกประชาชนเพื่อให้ปกครองได้ง่ายขึ้น ทดลองใช้โฆษณาชวนเชื่อ ล้างสมองประชาชนให้เป็นเครื่องมือปราบปรามประชาชนด้วยกันเอง ทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ติดตามบุคคลไม่ให้เล็ดรอดสายตาของรัฐไปได้ ทดลองหยอดงบเจรจาสันติภาพแบบครึ่งๆกลางๆ เพื่อต่อความหวังลมๆ แล้งๆ ให้ประชาชนยอมทนรัฐบาลต่อไป วันนี้รัฐบาลอาจยังไม่พร้อม จึงทดลองเฉพาะกับชายแดนภาคใต้ไปก่อน วันหน้าสบโอกาสเมื่อใดก็ค่อยเอามาใช้ทั้งประเทศ

ราดน้ำมันเข้ากองไฟ เผาเงินภาษีคนไทย

หากสภาจะยังสนับสนุนงบประมาณแบบที่เป็นอยู่นี้ ก็ไม่ต่างกับการราดน้ำมันเข้าไปในกองไฟ ที่เผาเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศ และผลาญชีวิตและอนาคตของพี่น้องชายแดนภาคใต้ให้กลายเป็นเถ้าธุลี หากรัฐบาลยังคงจัดสรรงบบนฐานของความไม่ไว้ใจประชาชนตั้งแต่ต้น แล้วจะยังเหลืออะไรให้ประชาชนไว้วางใจรัฐได้ และเมื่อประชาชนไม่ไว้วางใจรัฐแล้ว กระบวนการไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนถาวรคงไม่มีวันเกิดขึ้นได้

หากรัฐบาลมีความจริงใจต่อประชาชน ก็จงล้มเลิกโครงการโฆษณาชวนเชื่อเสีย ปรับลดงบความมั่นคงลงให้มากยิ่งกว่านี้ หยุดงานข่าวกรองที่รุกล้ำข้อมูลส่วนบุคคลแบบล้นเกิน หยุดสร้างสายข่าว ทูตแห่งความแตกแยก แล้วเอางบเหล่านั้นมาเพิ่มพูนให้กับกระบวนการสันติภาพ การเยียวยาประชาชนที่ถูกกระทำโดยรัฐ การสร้างพื้นที่ที่ผู้คนอยู่ร่วมกันโดยยังคงอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ พิสูจน์ความจริงใจให้เห็นผ่านการจัดสรรงบประมาณที่ถูกต้อง

สำหรับในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในวาระนี้ ตนขอยืนยันว่าตนไม่อาจยอมรับการเอาภาษีประชาชนมาเปิดห้องทดลองมนุษย์เช่นนี้ให้ยังดำเนินการต่อไปได้ และขอเรียกร้องให้เพื่อน ส.ส. ทุกท่านร่วมกันใช้ 1 เสียงในมือของท่านปิดห้องทดลองอันชั่วร้ายนี้เสีย อย่าปล่อยให้เพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมชาติของพวกเราต้องกลายเป็นเพียงหนูลองยา และอย่าปล่อยให้ลูกหลานของพวกเราต้องเป็นเหยื่อรายต่อไป

"ชัยชาญ" ยืนยันกระบวนการพูดคุย สร้างจิตสำนึกเยาวชนไม่ใช่การล้างสมอง

ชัยชาญ กลาโหม อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา  -63_200227_0010.jpg

ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงกรณีการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการใช้แผนบูรณาการขับเคลื่อนจังหวัดชายแดนใต้ ว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการดำเนินกาและน้อมนำยุทธศาสต ร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" รวมไปถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาขับเคลื่อนเพื่อให้ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ ประกอบด้วยด้านความมั่นคง ดำเนินการโดย กอ.รมน. และด้านการพัฒนารับผิดชอบโดย ศอ.บต.

โดยหากย้อนไปดูการดำเนินการในปี 2561 มีการดำเนินการที่เป็นรูปประธรรมสามารถลดความรุนแรงด้านในรอบ 8 เดือนลดลง 67.37 % ด้านการพัฒนาทำให้คนในพื้นที่มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.5 % ซึ่งพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต้นยอมรับว่ามีรายได้ประชากรที่น้อยและรายได้ครัวเรือนลดน้อยลงกว่า 42 % โดยในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ได้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนฟื้นฟูปี 2564 และมอบนโยบายให้หน่วยงานในพื้นที่วางแผนฟื้นฟูต่อไปยังปีงบประมาณ 2565 ด้วย

ส่วนในเรื่องของงบประมาณได้มีการวางกรอบวงเงินไว้ที่ 9,731 ล้านบาท แบ่งเป็นงบด้านการพัฒนา 5,261 ล้านบาท และงบด้านมั่นคง 4,470 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเน้นการพัฒนาในพื้นที่ เน้นการเพิ่มรายได้ครัวเรือนให้คนในพื้นที่ โดยด้านความมั่นคงตั้งเป้าให้กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ลดเหตุการณ์รุนแรนแรงลง 50 % มุ่งแก้ไขภัยแทรกซ้อน โดยเฉพาะปัญหาด้านยาเสพติด ประสิทธิภาพด้านข่าวกรอง การแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธีและการเจรจาพูดคุยสันติสุข

นอกจากนี้ด้านการพัฒนา ศอ.บต.ยังตั้งเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ภายใต้พหุวัฒนธรรมยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดตั้งเป้าในปี 2564 ให้เกิดมูลค่าค่าการลงทุนรายได้การท่องเที่ยวและรายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น 5 % รวมไปถึงมุ่งเน้นให้พื้นที่มีความปลอดภัยเสริมสร้างพื้นที่ ให้เกิดความเข้มแข็งรวมไปถึงเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

ส่วนกรณีการตั้งข้อสังเกตถึงโครงการพูดคุยสันติสุข ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในพื้นที่ในการเจรจาพูดคุย ได้มีการเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม ได้มีส่วนสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการพูดคุย รวมไปถึงมีการลดงบประมาณลงเพื่อปรับรูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสม แต่ยังคงกำหนดเป้าหมายให้มีตัวชี้วัดคงเดิม โดยใช้การสร้างแนวคิดให้เยาวชนที่ไม่ใช่การล้างสมอง แต่เป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันให้ความรู้ความเข้าใจ

ผ่านครูและผู้ปกครองโดยบุคลากรจากมหาวิทยาลัย รวมไปถึงผู้นำศาสนาเข้าไปอบรมให้มีพื้นฐานความคิด ไปในทางที่บวกไม่ใช้ความรุนแรงในการตัดสิน ส่วนการลงทะเบียนซิมการ์ดนั้นจะพบได้ว่าผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ในพื้นที่ จะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นชนวนสำคัญในการก่อเหตุ จึงจำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนผู้ใช้ซิม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปลอมแปลงผู้ใช้งาน ยืนยันว่าเป็นการปกป้องประชาชนให้เกิดความปลอดภัย และไม่ใช่การละเมิดสิทธิอย่างแน่นอน

ด้านการเก็บ DNAเป็นการมุ่งเน้นคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ โดยเป็นการขอความร่วมมือในการเก็บพยานหลักฐาน ที่ไม่ใช่การบังคับ ด้านการข่าวเองเป็นเรื่องที่สำคัญไม่ใช่การสร้างความหวาดระแวงให้กับคนในพื้นที่ แต่เป็นการกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุและความสูญเสีย รวมถึงสามารถควบคุมสถานการณ์ ในส่วนของกล้องวงจรปิดถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการเกิดเหตุ รวมไปถึงติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ

โดยในช่วงท้ายพลเอกชัยชาญ ยังระบุอีกว่าเว็บไซต์ที่มีการกล่าวอ้างดังกล่าวไม่ใช่ของ กอ.รมน. หรือรัฐบาล และไม่ได้มีการให้ร้ายกับกลุ่มบุคคลใด แต่ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ โดยเฉพาะทำให้เกิดความเสียหายโจมตีการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงมีความหมิ่นเหม่จาบจ้วงสถาบัน จึงต้องมีการดำเนินการ ติดตามตรวจสอบข่าวลวง พร้อมกับเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ