ไม่พบผลการค้นหา
เว็บไซต์สารานุกรมเสรีอย่าง วิกิพีเดีย ถูกหน่วยงานของปากีสถานสั่งจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ ด้วยข้ออ้างว่าวิกิพีเดียดำเนินการให้มี “เนื้อหาดูหมิ่น” ศาสนาอิสลาม โดยการประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) หลังจากวิกิพีเดียถูกสั่งให้เวลาเส้นตาย 48 ชั่วโมง ในการลบเนื้อหาบางอย่างออก

หน่วยงานโทรคมนาคมของปากีสถาน (PTA) ระบุว่า วิกิพีเดียล้มเหลวในการปฏิบัติตามคำขาดที่ทางการปากีสถานยื่นเรื่องไปให้ ทั้งนี้ มูลนิธิวิกิมีเดีย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเว็บไซต์วิกิพีเดีย ได้ออกมาระบุว่า การสั่งห้ามการเข้าถึงเว็บไซต์ในครั้งนี้โดยปากีสถาน หมายความว่าชาวปากีสถานจะถูกปฏิเสธการเข้าถึง “คลังความรู้ฟรีที่ใหญ่ที่สุด”

การดูหมิ่นศาสนาอิสลามเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และก่อความไม่สงบในปากีสถานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น ทินเดอร์ เฟซบุ๊ก และยูทูป ต่างก็ถูกจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ในปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม

มาลาฮัต โอบาอิด โฆษกของ PTA กล่าวว่า วิกิพีเดียไม่สามารถตอบสนองต่อ “การติดต่อประสานงานซ้ำ” เกี่ยวกับการลบ “เนื้อหาที่ดูหมิ่นศาสนา” โดยโอบาอิดระบุว่า “พวกเขาลบเนื้อหาบางส่วนออก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด” และเขายังยืนยันอีกว่าเว็บไซต์จะยังคงถูกจำกัดการเข้าถึงจนกว่า “เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทั้งหมด” จะถูกลบออก อย่างไรก็ดี รายละเอียดของเนื้อหาที่เป็นปัญหายังไม่ได้รับการเปิดเผยว่าคือเนื้อหาอะไร

มูลนิธิวิกิมีเดียระบุว่า หากคำสั่งห้ามการเข้าถึงเว็บไซต์ยังคงดำเนินต่อไป คำสั่งดังกล่าวจะ “กีดกันทุกคนในการเข้าถึงความรู้ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของปากีสถาน” 

ทั้งนี้ อุสมา คิลจี นักรณรงค์ด้านเสรีภาพทางคำพูด แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลปากีสถาน โดยเขากล่าวว่าดูเหมือนจะมี “ความพยายามร่วมกันในการควบคุมเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น” โดยมี “จุดประสงค์หลักคือการปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วย” และ “หลายครั้งที่มีการดูหมิ่นศาสนา ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อจุดประสงค์นั้น”

ในปี 2553 ปากีสถานจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ยูทูป เนื่องจาก “มีเนื้อหาลามกอนาจารมากขึ้นเรื่อยๆ” ในขณะที่เฟซบุ๊กก็ถูกจำกัดการเข้าถึงในปีเดียวกัน หลังจากการรณรงค์บนอินเทอร์เน็ต ที่เชิญชวนให้ผู้คนวาดภาพศาสดามูฮัมหมัด ซึ่งมุสลิมจำนวนหนึ่งมองว่าขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม นอกจากนี้  แอปพลิเคชันหาคู่ที่รวมถึง ทินเดอร์ และ กรายเดอร์ ก็ถูกห้ามการเข้าถึงก่อนหน้านี้เช่นกัน เนื่องจากเผยแพร่ “เนื้อหาที่ผิดศีลธรรม”


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-64523501?fbclid=IwAR0aa80MqPRxN-2Q3z41O4TWodh_FkgboRWvOAXG9GWW23FitGHe9G6WvhU