ไม่พบผลการค้นหา
เปิดผลงาน สนช. ยุค คสช. อยู่ยาวเกือบ 5 ปีฟาดเงินเดือนรวมแล้วกว่า 1.4 พันล้านบาท โดยอาศัยจังหวะโหมดเลือกตั้งเร่งทำคลอดกฎหมาย ใกล้ขยับทุบสถิติการออกกฎหมายของ สนช. ชุด ปี 49 ในช่วงเลือกตั้ง

“ตามกำหนดเดิมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะยุติการพิจารณากฎหมายในวันที่ 8 มี.ค. แต่ยังไม่สามารถลาออกได้ เนื่องจากมีภารกิจที่จำเป็นต้องอยู่ต่อไป และเป็นการรักษาสมดุลอำนาจอธิปไตย ซึ่งต้องมีทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาของประชาชนในฐานะตัวแทนด้วย"

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ยืนยันคำตอบชัดเจน ต่อ นายประยงค์ ดอกลำไย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ที่นำมวลชนมาปักหลัก พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องให้ สนช.ยุติการพิจารณากฎหมายและลาอออกจากตำแหน่งทันที

เพื่อรอให้ ส.ส. อันถือเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง เข้ามาสานต่อการพิจารณากฎหมายอย่างชอบธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้

ทว่าคำปฏิเสธของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยืนกรานชัดเจนว่า จะใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ เดินหน้าพิจารณากฎหมายต่อไปก่อนยุติบทบาท จนนำไปสู่ข้อห่วงกังวลจากภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ว่า

อาจซ้ำรอยประวัติศาสตร์ "ขันที สีเขียว" ฉายาสภาแต่งตั้ง อย่าง สนช. ชุดปี 2549 ที่โค้งสุดท้ายก่อนหมดอำนาจ เกิดการลักไก่ออกกฎหมายอย่างหนัก

ประยุทธ์ สภา นิติบัญญัติ 000_Hkg10090282.jpg

ย้อนกลับไปยังปลายปี 2550 ช่วงปลายรอยต่อของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 นำโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้นตอแห่งความขัดแย้งยาวนานนับทศวรรษ ที่ถูกขนานนามว่ารัฐประหาร "เสียของ" นั้น จะพบว่า

บทบาทของ สนช.ชุดปี 2549 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน สนช. ได้เดินหน้าผลิตกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโค้งสุดท้าย แม้จะมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป ออกมาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2550 ซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550

ก็ยังมีการบรรจุวาระการประชุมพิจารณากฎหมายกันอย่างหนักในตลอด 2 เดือนก่อนคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งส.ส.เข้ามาทำหน้าที่

โดยฐานข้อมูลของเว็บไซต์รัฐสภา ระบุว่า สภาขันที สีเขียว มีการกำหนดวาระการประชุมอีก 15 นัด หลังมีพ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ในระหว่างวันที่ 24 ต.ค. 2550 - วันที่ 21 ธ.ค. 2550 ราวกับเครื่องจักร ผลักดันกฎหมายจนถึงวินาทีสุดท้าย ก่อนมีการเลือกตั้งแค่ 2 วันเท่านั้น

เมื่อสืบค้นไปที่บันทึกการประชุมทั้ง 15 ครั้ง จะพบว่า อยู่ระหว่าง ครั้งที่ 60-74/2550 รวมมีการลงมติรับหลักการร่างกฎหมายจากรัฐบาลทั้งสิ้น 115 ฉบับ และลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 เห็นสมควรให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายทั้งสิ้น 103 ฉบับ

ที่ต้องจับตาคือช่วง 4 วันอันตราย ระหว่างการประชุมครั้งที่ 71-74/2550 สนช.ลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ราวกดปุ่มซ้ายหัน-ขวาหัน เห็นชอบสมควรให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายทั้งสิ้น 76 ฉบับ แบ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 71 จำนวน 11 ฉบับ ครั้งที่ 72 จำนวน 6 ฉบับ ครั้งที่ 73 จำนวน 32 ฉบับ และครั้งที่ 74 จำนวน 27 ฉบับ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช สภา รัฐสภา 0_Hkg10087413.jpg

หากลองเปรียบเทียบกับ สนช.ชุดปี 2557 จะพบว่า แค่ภาพรวมตลอด 5 ปี กับ 1 ปี ของสนช.ชุดปี 2549 ก็ถือว่า ทุบสถิติปริมาณกฎหมายอย่างไม่ต้องสงสัย

"สภาฝักถั่ว" ทำคลอดกฎหมายตามสั่งไปแล้วไม่น้อยกว่า สารบบร่างพระราชบัญญัติ ของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2561 ผ่านกฎหมายไปแล้ว 300 ฉบับ เฉลี่ยปีละ 75 ฉบับ

ชัดเจนขึ้นไปอีกเมื่อหยิบมาเทียบกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ระหว่างปี 2551-2557 จะพบว่า ตลอด 6 ปี มีการผ่านกฎหมายจำนวน 119 ฉบับ หรือ เฉลี่ยปีละ 19 ฉบับ

พอถึงช่วงครึ่งท้ายของปี 2561 อัตราเร่งการเด้งรับก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพียงแค่ 4 วัน ระหว่างวันที่ 25 - 28 ธ.ค. 2561 ลงมติรับรับการร่าง พ.ร.บ.ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ เข้าสู่การพิจารณาวาระแรกเข้าสู่กระบวนการ ถึง 45 ฉบับ

แล้วกลไกของเครื่องจักรผลิตกฎหมายก็ทำงาน ตามการรายงานของ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ilaw ตรวจพบว่า ระหว่างวันที่ 28 ม.ค. 2562 ถึงวันที่ 18 ก.พ. 2562 สนช.ผ่านกฎหมายมากถึง 66 ฉบับ ภายในระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์   

ขณะที่ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ยึดเกณฑ์การประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เหมือนยุค คมช.เมื่อปี 2550 ก็พบว่า

ในยุค คสช. ที่ประกาศ พ.ร.ฎ.ออกมาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2562 สนช.ชุดปี 2557 มีการบรรจุวาระการประชุม ตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 2562 นับถึงวันที่ 1 มี.ค. ไปแล้ว 15 ครั้ง ระหว่างครั้งที่ 5-20/2562 ลงมติวาระ 3 เห็นสมควรให้บังคับใช้เป็นกฎหมายทั้งสิ้น นับถึงวันที่ 1 มี.ค. รวมทั้งสิ้น 83 ฉบับ

สนช. ชุดปี 2557 กำลังทำหน้าที่ผลิตกฎหมายในช่วงโค้งสุท้ายของการเลือกตั้ง น้อยกว่า สนช. ชุดปี 2549 ณ ปัจจุบัน 20 ฉบับ

แต่ สนช.ชุดนี้ ยังมีเวลาเหลืออีก 1 สัปดาห์ในการกำหนดบรรจุวาระการประชุม จนถึงวันที่ 8 มี.ค. 2562 นี้ ซึ่งไม่รู้ว่านายพรเพชรจะกำหนดวันประชุมรอบสัปดาห์ทั้งสิ้นกี่วัน เพราะที่ผ่านมามากที่สุด เคยกำหนดวันประชุมมากที่สุดถึง 4 จาก 5 วันต่อสัปดาห์ ต่างจากระยะปกติที่จะกำหนดเพียง 2 จาก 5 วันเท่านั้น

ห้วงไม่ถึง 10 วันสุดท้ายนับจากนี้ จึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องช่วยกันจับตาว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย หรือทุบสถิติ สนช. ชุดปี 2549 หรือไม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สุดท้ายแล้ว ผู้ที่ต้องแบกรับอยู่ภายใต้กฎหมาย ที่คาดว่าจะทะลุเกิน 400 ฉบับ ในยุค คสช. คือทุกคนที่ต่างได้รับผลกระทบ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จากผู้แทนของ คสช. ซึ่งปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ซ้ำร้ายยังถือเป็นภารกิจอันหนักอึ้งของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องเข้าไปสังคายนากองกฎหมาย นับพันฉบับ อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ อุปสรรคของการพัฒนา อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

สนช พ.ร.บ.ไซเบอร์ สภา ลงมติ กฎหมาย


  • อัพเดทค่าเหนื่อย 4 ปี 7 เดือน 240 สนช. ฟันเหนาะๆ 1.4 พันล้านบาท

นอกจากนี้อีกหนึ่งสาเหตุข้อเรียกร้องจาก คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ให้สนช.ยุติการทำหน้าที่ ได้มุ่งเน้นไปเน้นที่งบประมาณรายจ่าย ที่มาจากภาษีประชาชน แต่ต้องถูกใช้กับสภาแต่งตั้งที่ไม่ได้จากประชาชน โดยนายประยงค์ แกนนำมองว่า หาก สนช.ยุติกฎหมายตั้งแต่ตอนนี้ จะช่วยทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้สูงถึง 140 ล้านบาท

‘วอยซ์ ออนไลน์’ ทำการดีดลูกคิดอัพเดท จากครั้งรวมบัญชีรายจ่ายของสภาลากตั้ง ตอนครบรอบ 4 ปี ตาม พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น ของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ. 2557 โดยเริ่มจากวันที่ 8 ส.ค. 2557 ในการเปิดประชุมครั้งแรก ถึง วันที่ 8 มี.ค. 2562 ที่กำหนดประชุมครั้งสุดท้าย รวม 4 ปี 7 เดือน ดังนี้

ประธาน สนช. เงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท รวม 125,590 บาทต่อเดือน รวม 4 ปี 7 มี เงินเดือน 6,907,450 บาท

รองประธาน สนช. เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท รวม 115,740 บาทต่อเดือน มี 2 คน ตกคนละ 6,365,700 บาท รวม 4 ปี 7 เดือน คิดเป็น 12,731,400 บาท

สมาชิก สนช. เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท เงินเพิ่ม 42,330 รวม 113,560 บาท ตลอด 4 ปี 7 เดือน มีการทยอยแต่งตั้งเพิ่ม ตลอดจนมีสมาชิกสนช.ลาออกหรือเสียชีวิต


รัฐสภา พรเพชร สุรชัย พีระศักดิ์ สนช สภานิติบัญญัติแห่งชาติ 00_Hkg10087411.jpg

เมื่อคิดโดยประมาณ จะมีสมาชิก สนช.ราว 210 คน ได้เงินเดือนตลอดระยะ 4 ปี 7 เดือน หรือเฉลี่ยได้ค่าจ้างคนละ 6,245,800 บาท รวมส่วนนี้ 1,311,618,000 บาท

ส่วนสนช. อีก 30 คน ที่ได้รับแต่งตั้งมาราวเดือน ต.ค. 2559 จะได้เงินเดือน 29 เดือน ตกคนละ 3,293,240 รวมส่วนนี้ 98,797,200 บาท

สรุป ค่าเหนื่อยสภาแต่งตั้งยุค คสช. ตลอด 4 ปี 7 เดือน คิดเป็นอย่างน้อย 1,430,054,050 บาท ซึ่งยังไม่รวมสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่นค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทาง แถมฟรีอยู่ยาวแตะ 5 ปี โดยไม่ต้องถูกตรวจสอบและไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

53636606_2293449740896634_5686661318380093440_n.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง