ไม่พบผลการค้นหา
รมว.ยุติธรรม แจงกระทู้สดกลางสภาฯ ยอมรับนักโทษกว่า 3.6 แสนคนทั่วประเทศ แต่มีเรือนนอน 134 แห่ง ทำให้ขาดแคลนพื้นที่ ชี้ไทยนักโทษมากสุดอันดับ 6 ของโลกพ่วงแชมป์คนคุกของอาเซียน ย้ำแนวทางพัฒนาศักยภาพนักโทษให้มีคุณภาพ ลดอัตราการกลับคืนสู่เรือนจำ

ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณากระทู้ถามสดนั้น นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ตั้งกระทู้ถามสดถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ถึงแนวทางการแก้ปัญหาความแออัดของเรือนจำทุกแห่งในประเทศไทยว่า ความแออัดของเรือนจำนั้นพบว่า มีพื้นที่ครึ่งตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิเสรีภาพ คนเข้าในเรือนจำไม่ใช่การนำไปทรมานในคุก ควรเป็นพื้นที่ให้โอกาสให้คนกลับมาสู่สังคมได้อย่างปกติสุข

ทั้งนี้ เรือนจำส่วนใหญ่สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 บางพื้นที่ไม่พบการขยายพื้นที่ เรือนนอน ห้องอาหาร ห้องครัว ที่อาบน้ำ และพื้นที่เรียนฝึกฝนอาชีพ เรียกว่าแออัดมาก ทั้งที่ที่ดินของเรือนจำและพื้นที่สาธารณะมีอยู่จำนวนมาก กรณีที่เกิดขึ้นตนมองว่าเพราะขาดแนวทางการช่วยเหลือประชาชน ดังนั้น รมว.ยุติธรรมมีแนวทางแก้ไขความแออัดของพื้นที่เรือนจำทั่วประเทศอย่างไร

ขณะที่แนวทางการพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องโทษเพื่อให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพนั้น ต้องสร้างสวนสาธารณะ และมีห้องสมุด รวมถึงมีโรงเรียนฝึกวิชาชีพ เปิดโอกาสให้เรียนระดับปริญญาผ่านการเรียนทางไกลหรือทางไปรษณีย์ เพื่อลดอัตราการกลับสู่เรือนจำอีก เชื่อว่าคนที่จบจากวิทยาลัยเรือนจำแล้วจะไม่กลับเข้าไปอีก เพราะรู้การประกอบอาชีพที่สุจริต นั้น แนวทางการสร้างการพัฒนานักโทษเพื่อให้เป็นสุจริตชนนั้นจะทำได้อย่างไรบ้าง

โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริงที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะผู้ต้องขังทั่วประเทศ 3.6 แสนคน เรือนนอนทั้งหมด 134 แห่ง มีพื้นที่ประมาณ 2.7 แสนตารางเมตร เมื่อพิจารณาตามมาตรฐานโลกต้องใช้ 8.3 แสนตารางเมตร ถือว่าประเทศไทยขาดแคลนพื้นที่อย่างมาก ตนคำนวณแล้วมาตรฐานของไทยใหญ่กว่าโลงศพนิดเดียว จำเป็นต้องสร้างเรือนจำเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขทั่วโลกประเทศไทยมีนักโทษมากสุดเป็นอันดับ 6 ของโลก หรือลำดับ 3 ของเอเชีย หรืออันดับ 1 ของอาเซียน มีค่าเฉลี่ยที่ต้องดูแลเป็นงบประมาณปีละ 7,000 ล้านบาท

ขณะที่ผู้ต้องขังที่ออกจากเรือนจำ พ้นโทษแล้ว ปีแรกจะกลับเข้ามา ดังนั้น ต้องดูแนวทางการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร เพราะผู้ต้องขังออกมาแล้วกลับมาใหม่ สันนิษฐานได้ว่ามาจากครอบครัว ผู้คนไม่ยอมรับ หรือการศึกษาหรือการให้ความรู้ไม่ดีพอ ทำให้ต้องกลับไปทำผิด รวมถึงการมีอาชีพและงานทำ

อย่างไรก็ตาม หากใช้ผู้ต้องโทษเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น อิฐมวลเบานั้น อาจจะทำได้ และเป็นแรงงานที่มีคุณค่า ขณะที่แนวทางที่เสนอให้มีห้องสมุดหรือการศึกษาสำหรับนักโทษนั้น เรือนจำบางแห่งมีแล้ว แต่ยังไม่มากหรือใหญ่พอสำหรับการบริการหรือแก้ปัญหา ทั้งนี้ หากในระบบอุตสาหกรรมใช้แรงงานจำนวนมาก ก็จะสามารถช่วยได้