ไม่พบผลการค้นหา
ถือเป็นปีที่ ทบ. มีเรื่องราวเกิดขึ้นไม่หยุด ที่ทำให้เกิดกระแสกดดันมายัง ทบ. นับตั้งแต่เหตุโศกนาฏกรรมที่ จ.นครราชสีมา หลัง ‘จ่าจักร’ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา สังกัดกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2  อดีตนักเรียนนายสิบ ทบ.

ซึ่งชนวนเหตุ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. (ตท.20-จปร.31) ระบุว่า “ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้บังคับบัญชาและเครือญาติ” จากเรื่องการซื้อขายที่ดิน เมื่อผิดสัญญากันก่อให้เกิดแรงจูงใจในการก่อเหตุ ก่อนจบประโยคทั้งน้ำตาว่า “แต่เมื่อผู้ก่อเหตุลั่นไก เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว” ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ถูกวิจารณ์หนักขึ้น

เหตุการณ์เริ่มจาก จ.ส.อ.จักรพันธ์ ใช้อาวุธปืนยิง พ.อ.อนันต์ฐโรจน์ กระแสร์ ผบ.กองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 (ตท.32 - จปร.43) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา และนางอนงค์ มิตรจันทร์ มีศักดิ์เป็นแม่ยายเสียชีวิต รวมทั้งนายพิทยา แก้วพรม ลูกน้องนางอนงค์ ได้รับบาดเจ็บ หลัง จ.ส.อ.จักรพันธ์ ได้ซื้อบ้านพักอาศัยซึ่งมีนางอนงค์ เป็นเจ้าของโครงการ และนายพิทยา เป็นนายหน้า แต่ไม่ยอมให้เงินทอนตามที่ตกลงกันไว้ จึงนัดพูดคุยตกลงปัญหา โดยมี พ.อ อนันต์ฐโรจน์ ผู้บังคับบัญชาเป็นคนกลาง นางอนงค์ อ้างได้ให้เงินทอนกับนายพิทยา ทั้งสองคนได้บ่ายเบี่ยงไปมาทำให้ จ.ส.อ.จักรพงษ์ ใช้อาวุธปืนยิงทั้ง 3 คน

เมื่อจบเหตุการณ์จึงเกิดคำถามขึ้นถึงระบบบังคับบัญชาภายในกองทัพระหว่าง ‘ผู้บังคับบัญชา-กำลังพล’ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นถูกมองว่าเป็น ‘ธุรกิจในค่ายทหาร’ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

จนนำมาสู่การที่ พล.อ.อภิรัชต์ เซ็นคำสั่งย้ายทหารยศนายพัน โดยเฉพาะในพื้นที่ ทภ.2 เซ่นเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช หลังได้รับเรื่องร้องเรียนการทุจริตมา อีกทั้งลงนามเซ็นต์คำสั่งย้ายระดับพันเอก โดย พล.อ.อภิรัชต์ ระบุว่า “เซ็นต่อหน้าศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใครทำอะไรไว้ต้องได้รับผล และศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีความศักดิ์สิทธิ์ โดยเป็นเรื่องเกี่ยวข้องในหลายส่วนที่กำลังพลร้องเรียนมา โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 หลังเกิดเหตุรุนแรง”

บรรยากาศหน้าห้าง TM21 โคราช_๒๐๐๒๐๙_0029.jpg

เมื่อถึงคราวโผโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล กลางปี เม.ย. 2563 ทำ พล.อ.อภิรัชต์ ได้ปรับย้าย พล.ต.สุรชิน กาญจนจิตติ (ตท.21-จปร.32) ผู้บัญชาการช่วยรบที่ 2 ทภ.2 เข้ากรุเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิ ทบ. เนื่องจากกำลังพลที่ก่อเหตุและญาติของคู่กรณีรับราชการในกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 ในขณะที่ พล.ท.ธัญญา เกียรติสาร แม่ทัพภาคที่ 2 (ตท.21-จปร.32) เกษียณฯ ก.ย. 2564 ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม ตามที่สื่อเคยถาม ผบ.ทบ. ไว้ว่าจะปรับย้าย พล.ท.ธัญญา หรือไม่

ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ระบุว่า “ต้องให้ความเป็นธรรมเป็นกรณีไป ไม่ใช่เลือดเข้าตาก็จะสั่งย้ายหมด เจ้าหน้าที่ทุกคนก็มีความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว”

ต่อมาคือเหตุการณ์ ‘จ่าจำปา’ จ.ส.อ.พีรศักดิ์ จำปา ทหารประจำหมวดกองร้อยลาดตระเวนระยะไกลที่ 5 กองพลทหารราบที่ 5 จ.นครศรีธรรมราช ถูกจำขัง 45 วัน ส่งไปฝึกที่ศูนย์ฝึกธำรงวินัย และสั่งงดบำเหน็จประจำปี 63 (ครึ่งปีหลัง) หลังมีการเผยแพร่คลิป ‘จ่าจำปา’ โต้เถียงกับผู้ว่าฯตรัง ระหว่างที่จ่าจำปายื่นเอกสารขอผ่านด่านโควิด ในการใช้เส้นทางไปดูแลแม่ที่ป่วยนอนอยู่ที่บ้าน ไม่ว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดจะเป็นอย่างไร

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือกระแสกดดันจากสังคมให้ทบทวนบทลงโทษ ‘จ่าจำปา’ และจุดสำคัญอยู่ที่การออกมาโพสต์โซเชียลฯของบรรดา นร.นายสิบ ที่มองว่าผู้บังคับบัญชาไม่ปกป้องและไม่ให้ความเป็นธรรมลูกน้อง ที่ขยายวงกว้างขึ้น อีกทั้งเพื่อนร่วมรุ่น นร.นายสิบ กับ ‘จ่าจำปา’ ก็ส่งความช่วยเหลือมาด้วย

ทำให้ ทภ.4 ต้องกู้สถานการณ์ โดย พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 (ตท.20 - จปร.31) เพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อภิรัชต์ มีคำสั่งลดโทษ จ.ส.อ.พีรศักดิ์ จากจำขัง 45 วัน เหลือจำขัง 7 วัน ช่วง 17-23 เม.ย. 2563 โดยได้พิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็นในการดูแลมารดาซึ่งป่วยหนักต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และ จ.ส.อ.พีรศักดิ์ ได้สำนึกผิดว่ากระทำผิดวินัยทหารจริง ประกอบกับที่ผ่านมาเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเทเสียสละ ส่งผลดีต่อทางราชการ และไม่เคยกระทำผิดวินัยร้ายแรงมาก่อน

ทั้งนี้ พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ผบ.พล.ร.5 (ตท.26-จปร.37) ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รับตัว จ.ส.อ.พีรศักดิ์ กลับไปดูแลมารดา พร้อมทั้งจัดทีมแพทย์ พัน.สร.5 นายทหาร นายสิบพยาบาล ดำเนินการตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย จึงทำให้กระแสกดดันต่างๆ ลดลง

หมู่อาร์มร้อง ป.ป.ช.

มาถึงกรณีล่าสุด ‘หมู่อาร์ม’ ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี อดีตเสมียนงบประมาณแผนกโครงการและงบประมาณกองแผน โครงการศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์ กรมสรรพาวุธ ทบ. ซึ่งหมูอาร์มเองไม่ใช่ นักเรียนนายสิบ แต่มาสมัครสอบเป็นทหารที่กรมสรรพาวุธ ทบ. ในแผนกเสมียนฯ เมื่อ 9 ปีก่อน ด้วยวุฒิ ม.3 ซึ่งเป็นทหารชั้นประทวนมาแต่ต้น

จนมาในปีนี้ ‘หมู่อาร์ม’ ออกมาร้องเรียนว่าถูกผู้บังคับบัญชา ข่มขู่ คุกคามเอาชีวิต หลังเปิดเผยปัญหาทุจริตเบี้ยเลี้ยงภายใน กรมสรรพาวุธ ทบ. หลังร้องเรียนตามขั้นตอนใน ทบ. ไม่ได้ผล จึงทำให้หมู่อาร์มเดินเข้าสู้เส้นทางการเมืองผ่านขั้วตรงข้ามกองทัพ เปิดหน้าชนกับกองทัพทันที และเข้าสู่กระบวนการของสภาผ่าน กมธ.กฎหมายฯ ที่ได้เชิญ พล.อ.อภิรัชต์ ไปชี้แจง แต่ได้ส่ง เจ้ากรมสรรพาวุธ ทบ. ไปชี้แจงแทน

เรื่องนี้ ทบ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาแถลงชี้แจงกลับ โดย พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. ระบุว่า ส.อ.ณรงค์ชัย ได้ใช้ช่องทางผ่านสายตรง ผบ.ทบ. ร้องขอความเป็นธรรม ในเรื่องการถูกลงโทษโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่ได้ใช้ระบบการร้องเรียนตามสายการบังคับบัญชา โดยมีลำดับเหตุการณ์ คือ ก.ย. 2562 เกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้บังคับบัญชา จากนั้น ต.ค.2562 หน่วยต้นสังกัดตั้งกรรมการสอบ ผลสอบระบุกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พิจารณาโทษจำขัง ระหว่าง 18 – 24 มี.ค. 2563

12 มี.ค. 2563 ส.อ.ณรงค์ชัย ร้องเรียนผ่านสายตรง ผบ.ทบ. เรื่องการถูกลงโทษโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้ระงับการสั่งขัง จากกรณีการผิดวินัยเมื่อ ก.ย. 2562

13 มี.ค. 2563 ส.อ.ณรงค์ชัย โทรมาสายตรง ผบ.ทบ. ขอยกเลิกการร้องเรียน เมื่อ 12 มี.ค. 2563 (เนื่องจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนมีการประสานงานให้เจ้าตัวเห็นถึงความจริงใจของ ทบ. ที่เรื่องร้องเรียนได้รับการช่วยเหลือ ทบ. ได้มีการตรวจสอบและให้หน่วยพิจารณาทบทวน ซึ่งต้นสังกัดยังคงผลการลงโทษตามเดิม เนื่องจากเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร )

18 มี.ค. 2563 หนีราชการ จากนั้น 19 มี.ค. 2563 ร้องเรียนผ่านสายตรง ผบ.ทบ. เรื่องการถูกลงโทษโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม และ14 เม.ย. 2563 ร้องเรียนผ่านสายตรง ผบ.ทบ. เรื่องการถูกลงโทษโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม และเข้าร้องต่อคณะกรรมธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตสภาผู้แทนฯ เมื่อ 27 เม.ย. 2563

ทั้งนี้ พ.อ.วินธัย ย้ำว่า ส.อ.ณรงค์ชัย ถูกดำเนินคดีเพราะขาดราชการ ไม่ใช่จากการร้องเรียน หลัง ส.อ.ณรงค์ชัย มีข้อพิพาทกับผู้บังคับบัญชาเรื่องความประพฤติและกระทำผิดวินัยโดยไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย ใช้กิริยาวาจาไม่สมควรต่อผู้บังคับบัญชา ตาม พ.ร.บ.วินัยทหาร ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน ก.ย.62 โดยทางหน่วยต้นสังกัดได้มีการดำเนินการตามระเบียบ ด้วยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและมีมติพิจารณาโทษกำหนดจำขัง 7 วัน ตั้งแต่ 18-24 มี.ค. 2563 แต่มีการหลบเลี่ยงนำไปสู่การ หนีราชการ ตั้งแต่18 มี.ค.63 –ปัจจุบัน

ทว่าสิ่งที่ ‘หมู่อาร์ม’ ออกมาแฉก็มีมูลเกิดขึ้นจริง

โดย พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานกรมพระธรรมนูญทหารบก กล่าวว่า เรื่องที่ส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเบิกเงินเบี้ยเลี้ยงเดินทาง การจัดอบรมยาเสพติดแต่ไม่ได้ดำเนินการจริงตามโครงการ ส่วนเม็ดเงินที่หายไปจะไปอยู่ที่ใครนั้น เป็นเรื่องรายละเอียดในสำนวนที่ส่งไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเกี่ยวพันกับนายทหารชั้นยศนายพล 3 คน และมีผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย โดยแบ่งเป็นการเบิกเบี้ยเลี้ยงเดินทาง 4 ครั้ง รวมวงเงินกว่า 1 แสนบาท และโครงการอบรมยาเสพติด 2 ครั้ง รวมกว่า 1 แสนบาท 

“ข้อมูลที่ ส.อ.ณรงค์ชัย นำมาร้องเป็นเอกสารที่นำมาจากหน่วย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้นำมาตรวจสอบและเข้าไปหาพยาน หลักฐาน สอบรายละเอียดเป๊ะทุกหน้า พร้อมทั้งเชิญ ส.อ.ณรงค์ชัย มาสอบสวนเพิ่มเติมด้วย สำหรับบทลงโทษหากผลการพิจารณาของ ป.ป.ช.พบว่าผิดจริงนั้นต้องอยู่ที่ ป.ป.ช.พิจารณา ซึ่งถ้าเป็นจริงก็เป็นคดีอาญา และ ก็จะมีความผิดทางวินัยด้วย” พล.ต.บุรินทร์ กล่าว

ซึ่ง ‘หมู่อาร์ม’ ก็เดินหน้าท้าชนกับ ทบ. โดยติดต่อไปยัง ‘โบว์’ณัฏฐา มหัทธนา

จากนั้น ‘วีระ สมความคิด’ ก็เสนอตัวมาช่วยเหลือ โดยมีพรรคก้าวไกลที่แอ็กทีฟในการติดตามเรื่อง ส.อ.ณรงค์ชัย ผ่าน กมธ.กฎหมายฯ ในกระบวนการทางสภา ซึ่ง ‘หมู่อาร์ม’ ก็มีแนวคิดปฏิรูป

จนเกิด #Saveหมู่อาร์ม ขึ้นมา และเขาเองก็เริ่มขึ้นเวทีงานเสวนา เช่น เวทีเส้นทางปฏิรูปกองทัพ โดยผู้ร่วมวงเสวนาก็ล้วนเป็น ‘ไม้เบื่อไม้เมา’ กับกองทัพทั้งสิ้น ซึ่ง ‘หมู่อาร์ม’ เองก็เคลื่อนไหวตัวเองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีข้อความที่โพสต์ เช่น “เอายศสิบเอกของคุณคืนไป แต่ผมขอความยุติธรรมและประชาธิปไตยคืนมา” เป็นต้น และยังมีคดีที่ต้องขึ้นศาลทหารอยู่

อภิรัชต์.jpg

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อภิรัชต์ ก็ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อลดช่องว่างระหว่าง นายร้อย จปร. ที่ล้วนเป็นผู้บังคับบัญชาใน ทบ. กับ นายสิบ ทบ. - นายทหารชั้นประทวน – ทหารเกณฑ์ ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา โดยเตรียมลงพื้นที่ช่วง มิ.ย.-ก.ค.นี้ เพื่อดูแลกำลังพลในระดับนายสิบและทหารเกณฑ์ รวมถึงเยี่ยม ร.ร.นายสิบเหล่า ทหารราบ และ ร.ร.นายสิบ ในส่วนของกรมยุทธศึกษา ทบ. ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ย้ำถึงการดูแลกำลังพลในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะชั้นประทวน ที่มีลักษณะงานเปรียบเสมือน (Back bone) กระดูกสันหลังของ ทบ.

สะท้อนว่า พล.อ.อภิรัชต์ ก็ทราบดีถึงปัญหาระดับโครงสร้างที่เกิดขึ้นในกองทัพ ทว่าระยะเวลาเพียง 3 เดือน ก่อนที่ พล.อ.อภิรัชต์ จะเกษียณฯ ก.ย. 2563 ไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาระดับโครงสร้างนี้ที่ฝังลึกลงไป แน่นอนว่าไม่ได้มีเพียง 3 กรณีที่ยกมา แต่ยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้น ที่อยู่ใต้พรมและอาจรอวันปะทุออกมาอีก

อย่าให้ใคร ต้องเป็นเหยื่ออีกเลย !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog