ไม่พบผลการค้นหา
สหภาพเเรงงานคุรุสภา วอนผู้มีอำนาจทบทวนคำสั่งล้างบางพนักงานกว่าพันชีวิต ชี้อ้างขาดทุนฟังไม่ขึ้น แต่ปัญหาหลักคือการบริหารที่ล้มเหลว

ที่วัดสามัคคีธรรม ซอยลาดพร้าว 64 สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา นำโดยนายนิวัติชัย แจ้งไพร ประธานสหภาพฯ พร้อมด้วยนายอารีย์ สืบวงศ์ ที่ปรึกษาและอดีตประธานสหภาพฯ แถลงการณ์พร้อมประชุมเพื่อขอมติสมาชิกเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการในอนาคต และแถลงข่าว กรณีการเลิกจ้างพนักงานองค์การค้า สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค.

โดยที่ประชุมคณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค. มีมติให้เลิกจ้างพนักงานจำนวน 961 ราย จากทั้งหมด 1,035 ราย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2563 เป็นต้นไป

โดยระบุถึง คำสั่งผู้มีอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และข้ออ้างในการปลดพนักงานเรื่องการขาดทุนฟังไม่ขึ้น และแนวทางจากนี้ที่ยังรอการเลิกจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกษียณในเดือน ก.ย. 2563 นี้กับกรรมการลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานมีจำนวนเกือบ 100 คน ซึ่งถือเป็นการเลิกจ้างหมดทั้งองค์กร หรือยุบองค์การค้า หรือหากล้างกระดานพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วองค์การค้าทำภารกิจต่อไปโดยจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาใหม่นั้น สหภาพเห็นว่า ทั้ง 2 แนวทางเป็นแนวคิดที่ผิดทั้งหมดและเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด

สหภาพแรงงานคุรุสภา จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการบริหารองค์การค้าคุรุสภา ทบทวนมติดังกล่าว และขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยกเลิกคำสั่งที่ให้เลิกจ้างพนักงานไว้ก่อน โดยสหภาพแรงงาน ให้เหตุผล 6 ข้อคือ 

1.)​ การค้าขององค์การค้ามีภารกิจและรายได้หลักในการดำเนินธุรกิจคือการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแบบเรียนต้นฉบับของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ให้ถึงโรงเรียนทั่วประเทศก่อนเปิดภาคเรียนในทุกปีการศึกษา ดังนั้นองค์การค้าจึงมีรายได้ที่แน่นอน สามารถ บริหาร และไม่ควรขาดทุน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการไปจ้างงานเอกชนภายนอกพิมพ์เป็นการเปิดช่องว่างให้เกิดการทุจริตในการจ้างงาน ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนที่สหภาพแรงงานส่งไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.สอบสวนมาโดยตลอด บางคดีถูกชี้มูลความผิดแล้ว แต่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่มีการดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุดจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ขาดทุน แต่ไม่มีการหยิบยกมาพิจารณาแก้ไข 

2.)​ การมีหนี้สะสมจนถึงปัจจุบันจำนวนประมาณ 5,700 ล้านบาทนั้น เกิดจากผู้อำนวยการองค์การค้าแต่ละคนตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ที่นำเงินกู้มาจ่ายค่าจ้างเอกชนพิมพ์หนังสือแบบเรียน ซึ่งเป็นการใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ขาดวินัยทางการเงิน และต้องรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น

3.)​ การระบุว่าค่าใช้จ่ายสูงในการจ้างพนักงานนั้น ต้องดูสัดส่วนของงานและรายได้ และในอัตราส่วนโดยรวมของค่าจ้างพิมพ์รวมกับค่าจ้างพนักงานรวมเป็น 2 เด้งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและส่งผลให้ขาดทุน

4.) มีการจ้างพนักงานภายนอกจากบริษัทเอาท์ซอร์สมาเพิ่มอีกกว่า 300 คนทั้งรักษาความปลอดภัยและทำความสะอาด สวนทางกับความเป็นจริงและการจัดการปริมาณงานกับการบริหารอัตรากำลังไม่สมดุลกัน 

5.) หากเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ก็เท่ากับยุบองค์การค้า ความเสียหายจะไม่ใช่แค่สิทธิประโยชน์พนักงาน แต่อาจบานปลายถึงความสูญเสียทรัพย์สินที่ไม่ควรเสีย รวมถึงละเมิดสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กฎหมายกำหนด

6.)​ หนี้สินและความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารของผู้บริหารทั้งสิ้น การเลิกจ้างพนักงานจึงไม่เป็นธรรม ส่งผลการดำรงชีวิตและกระทบถึงครอบครัวผู้ถูกเลิกจ้าง

ในตอนท้ายย้ำว่าองค์การค้าของ สกสค.ไม่เคยได้รับงบประมาณ จากสำนักงาน สกสค.และรัฐบาลแม้แต่บาทเดียว ทั้งยังปฏิบัติภารกิจที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมายโดยเฉพาะการตรึงราคาหนังสือเรียนและตั้งแต่ปี 2542 องค์การค้าของสกสคต้องแข่งขันเสรีตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติด้วย

อย่างไรก็ตาม แกนนำสหภาพแรงงานองค์การค้าคุรุสภา ไม่ต้องการกดดันผู้มีอำนาจในการทบทวนและยุติคำสั่งปลดพนักงานดังกล่าว แต่อยากขอให้เร่งรัดดำเนินการโดยเร็วที่สุด การดำเนินการตามคำสั่งข้างต้นเป็นเหมือนการประหารชีวิตพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งหมด สำหรับแนวทางการดำเนินการทั้งค่าชดเชย ความเป็นธรรมในการจ้างและเรื่องอื่นๆ จะประชุมเพื่อขอมติสมาชิกสหภาพฯ เพื่อดำเนินการต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง