ไม่พบผลการค้นหา
'เดอะ ไลอ้อน คิง' เวอร์ชั่นละครบรอดเวย์ ถือเป็นหนึ่งใน 3 โชว์ที่จัดแสดงมาอย่างยาวนานที่สุดในโลก โดยปี 2019 ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 22 แล้ว แต่ปีนี้มีความสำคัญตรงที่ 'เดอะ ไลอ้อน คิง' ถูกนำมาจัดแสดงที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกด้วย

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง The Lion King ถูกนำมาฉายใหม่ในรูปแบบเสมือนจริง เพราะนำตัวละครที่เคยเป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นมาเสนอใหม่ในรูปแบบคอมพิวเตอร์กราฟิก ซึ่งทำให้ตัวละครแทบจะไม่ต่างจากสัตว์จริงๆ และในเดือนกันยายนนี้ยังมี 'เดอะ ไลอ้อน คิง' อีกเวอร์ชันหนึ่งเข้ามาแสดงในประเทศไทย ก็คือ 'เดอะ ไลอ้อน คิงมิวสิคัล' ซึ่งเป็นเวอร์ชันละครบรอดเวย์ 

'โอมาร์ โรดริเกซ' ผู้กำกับการแสดงของ 'ดิสนีย์ เดอะ ไลอ้อน คิง' เปิดเผยกับสื่อมวลชนไทยว่า ละครเรื่องนี้อาจจะฉายภาพของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่ใจความสำคัญของเรื่องมีความเป็นสากล และเชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยงกับผู้ชมทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย เพราะเป็นการพูดถึงเรื่องราวของ 'มนุษยชาติ'

ผู้กำกับโรดริเกซระบุด้วยว่า เราทุกคนคือตัวละครในไลอ้อน คิง เพราะหลายคนต่างก็ต้องการเสาะหา 'ที่ใดที่หนึ่ง' บนโลกใบนี้ ที่เป็น 'ที่ของเรา' จริงๆ 

0800952-โอมาร์ โรดริเกซ ผู้กำกับละครเพลงไลออนคิง ครั้งแรกในไทย.JPG
  • โอมาร์ โรดริเกซ

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือการสะท้อนภาพของชีวิตภายใต้แรงกดดันของตัวละคร และภาวะที่เราจะต้องเป็นใครสักคนที่สำคัญให้ได้ แต่ผู้กำกับโรดริเกซก็บอกว่า ตัวละครใน เดอะ ไลอ้อน คิง ก็เหมือนกับคนดูอย่างเราๆ ที่ยังมีเพื่อนฝูงและครอบครัว รวมถึงมีแรงบันดาลใจในการฝ่าฝันชีวิตของตัวเอง 

นอกจากนี้ โรดริเกซยังได้อ้างถึง 'จูลี เทมอร์' ผู้กำกับชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นต้นทางผู้ผลักดัน 'เดอะ ไลอ้อน คิง' ไปสู่เวทีบรอดเวย์นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา โดยระบุว่าเรื่องราวในเวอร์ชันนี้ถูกถ่ายทอดออกมาแตกต่างจากเวอร์ชันการ์ตูนและภาพยนตร์ เพราะมีการดึงเอาจุดแข็งของละครบรอดเวย์มาเน้นให้คนดูเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งก็คือการเชื่อมโยงระหว่างตัวละคร เพลงประกอบ รวมถึงชุดและอุปกรณ์ประกอบฉาก ซึ่งถูกออกแบบมาอย่างละเอียด ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายแทนภาพต่างๆ ในหนัง

Lionesses - THE LION KING - Photo by Joan Marcus.jpg0800952-รัชดาลัยเธียเตอร์-Lion King-ไลออนคิง-ราฟิกิ-ยีราฟ.JPG

ผู้เข้าชมละคร 'ดิสนีย์ เดอะ ไลอ้อน คิง' จะได้เห็นการดัดแปลงหุ่นเชิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมท้องถิ่นในอินโดนีเซียมาเป็นตัวละครที่น่าสนใจ ผสมผสานกับการออกแบบท่าเต้นอ้างอิงการเคลื่อนไหวของสัตว์จริงๆ ให้เข้ากับนักแสดงได้อย่างลงตัว ซึ่งในเรื่องก็จะมีทั้งเสือชีตาห์ ยีราฟ ช้าง นก เมียร์แคท และหมูป่า รวมอยู่ด้วย 

ส่วนการออกแบบหน้ากากหรือเครื่องประดับศีรษะเพื่อจำแนกบทบาทของตัวละครก็สำคัญไม่แพ้กัน เช่น เครื่องสวมศีรษะของ 'มุฟาซา' ราชสีห์ผู้ปกครองดินแดนแห่งสรรพสัตว์ในเดอะ ไลอ้อน คิง ถูกออกแบบให้เป็นวงกลมสมมาตร สะท้อนความมีเมตตาและภาวะสมดุลของผู้นำในอุดมคติ ต่างจากหน้ากากของ 'สการ์' ซึ่งเป็นฝั่งตัวละครฝ่ายชั่วร้าย จะมีความไม่สมมาตร สะท้อนความบิดเบี้ยวของตัวละคร

0800952-รัชดาลัยเธียเตอร์-Lion King-ไลออนคิง-คอนดักเตอร์.JPG

ขณะที่ตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งอย่าง 'ราฟิกี' ซึ่งทำหน้าที่ผู้นำจิตวิญญาณของเหล่าสรรพสัตว์ในเรื่อง ได้ถูกเปลี่ยนจากลิงแมนดริลตัวผู้ มาเป็นลิงบาบูนตัวเมีย เพราะจูลี เทมอร์ รู้สึกว่าตัวละครในเรื่องนี้มีผู้หญิงน้อยเกินไป

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนลักษณะสำคัญของตัวละครก็ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนอย่างไร้ความหมาย เพราะเทมอร์ได้ไปสำรวจข้อมูลในแอฟริกาจริงๆ และพบว่า 'ซังโกมา' หรือพ่อมดหมอผีประจำเผ่าต่างๆ ที่เป็นผู้หญิงก็มีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน

ส่วนนักแสดงและนักเต้นที่เข้าร่วมใน 'ดิสนีย์ เดอะ ไลอ้อน คิง' ได้รับคัดเลือกมาจากประเทศต่างๆ โดยนักแสดงนำที่รับบทเป็นซิมบ้า คือ 'จอร์แดน ชอว์' จากอังกฤษ และ 'อแมนดา คูนีนี' จากแอฟริกาใต้ รับบทเป็น 'นาล่า' ซึ่งก่อนจะขึ้นแสดงพวกเขาก็ต้องฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องจริงจังหลายวัน

rafiki2_1.jpg
  • ราฟิกี ตัวละครที่ถูกเปลี่ยนจากลิงแมนดริลเป็นลิงบาบูน

ทั้งนี้ 'ดิสนีย์ เดอะ ไลอ้อน คิง' เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างบริษัท บีอีซี-เทโร ซีเนริโอ ประสานงานกับผู้จัดจากต่างประเทศ Michael Cassel Group และ Disney Theatrical Productions นำละครเรื่องนี้มาจัดแสดงให้กับผู้ชมชาวไทย

กำหนดจัดแสดง 'ดิสนีย์ เดอะ ไลอ้อน คิง' ครั้งแรกที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย เธียเตอร์ เริ่มไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา แต่ 'ถกลเกียรติ วีรวรรณ' ในฐานะผู้บริหารของซีเนริโอ บอกว่ายังมีอีกหลายรอบที่จะจัดแสดงในวันต่างๆ ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ Thai Ticket Major

ขณะที่ 'ไมเคิล แคสเซิล' ผู้บริหารของไมเคิล แคสเซิล กรุ๊ป และ 'ไมค์ ชัปเปอร์เคลาส์' ผู้กำกับด้านดนตรี ก็บอกด้วยว่า ทุกครั้งที่ไลอ้อน คิง ถูกนำไปจัดแสดงในประเทศต่างๆ จะมีการปรับบทหรือเพิ่มบทในบางฉากที่สื่อถึงวัฒนธรรมหรือเรื่องราวในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อหาในละครเพิ่มขึ้น ซึ่งกรณีของไทยก็ได้มีการเพิ่มเติมหรือปรับฉากบางฉากเช่นกัน

Circle of Life - THE LION KING - Photo by Matthew Murphy.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: