ไม่พบผลการค้นหา
"ประยุทธ์" ชม "มิ่งขวัญ" ทำบรรยากาศอภิปรายดี ขออย่ามองตนเองทำชาติเสียหาย "อุตตม" ย้ำหนี้ครัวเรือนไทย ส่วนใหญ่เป็นหนี้ดี มีหลักทรัพย์ประกัน ชี้แจงมาตรการ "ชิมช้อปใช้" คุ้มค่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจายวงกว้าง ยืนยันเดินหน้าชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลังจากนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปรายว่า บรรยากาศการอภิปรายเป็นไปด้วยดียิ่ง แต่สิ่งที่สำคัญคือกลไกต่างๆ และกฎหมายยังมีปัญหาอยู่พอสมควร ซึ่งวันนี้ต้องทำเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งตะวันออกและตะวันตก เพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ หากไม่เข้มแข็งแตกความสามัคคี ต่างประเทศก็พร้อมเดินทางอ้อมไปประเทศเพื่อนบ้านทันที ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยก็พยายามเชื่อมโยงการเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มการค้าการลงทุนชายแดนและการท่องเที่ยว และทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลาง ศูนย์รวมกระจายสินค้า ซึ่งขอบคุณคำแนะนำของผู้อภิปราย ยืนยันว่าการตัดสินใจของตนเอง จะอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องของกฎหมาย 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขออย่ามองว่าตนเองทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งจะมองว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชี้แจง ส่วนการก้าวสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิตอล ต้องยอมรับว่าทำในครั้งแรกๆ ยังเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องสอนให้มีความเข้าใจ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าสู่สังคมไร้เงินสด 


"อุตตม" ย้ำหนี้ครัวเรือนไทย ส่วนใหญ่เป็นหนี้ดี

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำว่า เป็นปัญหาสะสมเชิงโครงสร้างมายาวนาน และการแก้ไขเป็นสิ่งจำเป็นอย่างแน่นอน แต่ต้องใช้เวลา ยืนยันว่าประเทศไทยไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำอันดับ 1 โดยอ้างอิงจากรายงานธนาคารโลก ซึ่งการกล่าวหาว่าประเทศไทยเริ่มเป็นอันดับ 1 ของโลก มีการวัดข้อมูลโดยวิธีที่ยังไม่ทันสมัย ซึ่งการจัดลำดับความเหลื่อมล้ำของธนาคารโลกที่เผยแพร่ ประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 36 ไม่ได้ห่างไกลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ย้ำว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องมีการแก้ไขให้ทั่วถึง

สำหรับประเด็นหนี้ครัวเรือน นายอุตตมชี้แจงว่า หนี้ครัวเรือนไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากที่ผ่านมามากนัก และมีหลายประเภท โดยร้อยละ 47 เป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่นหนี้ที่อยู่อาศัยหรือรถยนต์ ซึ่งถือเป็นหนี้ที่มีคุณภาพ และร้อยละ 18 เป็นหนี้เพื่อประกอบอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจ และหนี้ด้านอื่นๆ ร้อยละ 35

นายอุตตม กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการชุดมาตราการเศรษฐกิจชุดแรก ตั้งแต่เดือนสิงหาคม มีการดูแลเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติข่าวภัยแล้งและน้ำท่วม ดูแลค่าครองชีพให้ผู้มีรายได้น้อย มีการออกมาตรการชิมช้อปใช้ โดยพยายามออกมาตรการให้เร็วที่สุดและมีผลในวงกว้าง และยังลดต้นทุนการผลิตการเก็บเกี่ยวให้เกษตรกร ดูแลเรื่องรายได้ ดูแลภาคท่องเที่ยวในระยะแรก โครงการชิมช้อปใช้เฟส 2 สินเชื่อพิเศษเพื่อเข้าถึงที่อยู่อาศัย ลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง การช่วยเหลือลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาช่วงปลายปี และปีนี้เดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ก็มีมาตรการบรรเทาภาระให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในการกู้เงินและปรับโครงสร้างหนี้ กับสินเชื่อหนี้ที่มีกับสถาบันการเงิน ซึ่งกระทรวงการคลังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคาร สภาหอการค้าอุตสาหกรรม ร่วมกันคิดมาตรกาให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้กู้ขนาดกลางและขนาดย่อมได้ โดยไม่ต้องดำเนินการทางกฎหมาย ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และใส่เงินได้ทันที รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการหาเครื่องจักรการผลิตใหม่ โดยธนาคารส่งเสริมการส่งออกและนำเข้าหรือเอ็กซิมแบงค์ จัดสินเชื่อให้ 5,000 ล้านบาทเพื่อสนับสนุน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการออกชุดมาตรการเพื่อแก้ปัญหา ไม่ได้แค่ใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งเท่านั้น

แจงมาตรการ "ชิมช้อปใช้" คุ้มค่า

ส่วนมาตรการชิมช้อปใช้ นายอุตตม ชี้แจงว่า เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นมาตรการเดียว เป็นมาตรการเพื่อใช้ต่อการอุปโภคบริโภคในวงกว้าง โดยงบประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เป็นเพียงการตั้งของบประมาณเท่านั้น แต่ใช้เพียง 13,400 ล้านบาท และสามารถสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 29,000 ล้านบาท กับประชาชน 22 ล้านคน 170,000 ร้านค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าขนาดเล็กในชุมชน กระจายครบ 77 จังหวัดในประเทศไทย โดยพบว่ามีการใช้จ่ายในเมืองรองมากกว่าเมืองหลัก และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการอุปโภคบริโภคในประเทศ ขยายตัวในไตรมาส 4 ของปี 2562 มีผลช่วยดูแลเศรษฐกิจในระยะที่ถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นมาตรการที่ส่งผลบวกและเกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจรายย่อย กระจายระดับฐานรากโดยตรง และมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศถึง 3.3 เท่า

ส่วนการใช้ QR code ในโครงการชิมช้อปใช้ นายอุตตม ชี้แจงว่า ไม่ได้เชื่อมต่อผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นร้านค้าขนาดเล็กที่ได้ประโยชน์ มากกว่า โดยผ่านระบบการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ National E-payment เพื่อลดต้นทุนในการโอนเงิน ซึ่งเป็นระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นมา สามารถให้การสนับสนุนเข้าถึงเป้าหมายโดยตรง แม่นยำ ประหยัดต้นทุน และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจากประสบการณ์พบว่าวิธีการใช้ไม่ยากจนเกินไป สามารถใช้ผ่านแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือได้

ส่วนบัตรสวัสดิการประชารัฐ นายอุตตมชี้แจงว่า มีเป้าหมายหลัก 2 ส่วน 1.เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพขั้นพื้นฐาน เช่น ค่าโดยสาร ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยและจำเป็นจริงๆ ซึ่งมีผลบวกต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และ 2.เพื่อเสริมสร้างความสามารถให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย สามารถพึ่งพาตนเอง มีอาชีพ เข้าถึงโอกาสได้

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า ได้พบกับผู้อำนวยการ IMF และได้รับคำแนะนำว่าให้กระตุ้นเศรษฐกิจทันที เพราะเป็นเรื่องจำเป็น และทบทวนแล้ว เชื่อว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถด้านการคลัง การเงิน ที่จะดำเนินมาตรการเหล่านี้ และขอให้เป็นมาตรการรูปแบบที่เหมาะสมตรงเป้า ซึ่งรัฐบาลตั้งใจจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ต่อเนื่องต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :