ไม่พบผลการค้นหา
'ซูซานา ชาปุโตวา' ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสโลวาเกีย แม้จะไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน แต่ได้รับการยกย่องในฐานะนักเคลื่อนไหวคนสำคัญที่ออกมาต่อต้านการทุจริตซึ่งพัวพันกับอดีตนายกฯ

ผลนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสโลวาเกียอย่างไม่เป็นทางการบ่งชี้ว่า 'ซูซานา ชาปุโตวา' ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม และนักเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริต วัย 45 ปี ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 58.01 จากร้อยละ 90 ของบัตรเลือกตั้งทั้งหมดที่นับแล้วเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ทิ้งห่างจาก 'มารอส เซฟโจวิช' คู่แข่งคนสำคัญจากพรรครัฐบาล SMER-SD ซึ่งได้คะแนนร้อยละ 41.98

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนรายงานว่า ชาปุโตวาไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน แต่เป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะทนายความนักต่อสู้ในคดีสิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จ หลังฟ้องร้องบริษัทใหญ่ของสโลวาเกียให้ล้มเลิกโครงการหลุมฝังขยะเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมในเมืองเปซินอกเมื่อปี 2559

ขณะที่ปี 2561 ชาปุโตวาเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มต่อต้านขบวนการทุจริตในประเทศ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ 'ยาน คูเซียก' นักข่าวสืบสวนสอบสวนซึ่งถูกฆาตกรรมพร้อมคู่หมั้นเมื่อเดือน ก.พ. จากการเปิดโปงข้อมูลว่านักการเมืองฝั่งรัฐบาลเกี่ยวพันกับขบวนการมาเฟียอิตาลี

การกดดันของกลุ่มต่อต้านการทุจริตและชาปุโตวา ทำให้นายกรัฐมนตรีโรเบิร์ต ฟิโก แห่งพรรค SMER-SD ต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อลดแรงกดดัน ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลและนักการเมือง 5 คน ถูกตั้งข้อหาพัวพันการทุจริตและคดีฆาตกรรมคูเซียกกับคู่หมั้นของเขา ซึ่งถือว่าเป็นการต่อสู้เรียกร้องที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง 

หลังจากนั้น ชาปุโตวาได้รับเลือกเป็นรองประธานพรรค Progressive Party ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก และไม่มีจำนวน ส.ส.เพียงพอที่จะลงสมัครเลือกตั้งทั่วประเทศ ทำให้ชาปุโตวาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองประธานพรรคเพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และกลายเป็นผู้ที่มีคะแนนนำอันดับ 1 จากการออกเสียงรอบแรกเมื่อวันที่ 16 มี.ค.2562 และเธอได้รับเสียงสนับสนุนที่สำคัญ คือ ครอบครัวของนักข่าวคูเซียกซึ่งประกาศให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการฆาตกรรมลงคะแนนให้กับชาปุโตวา 

  • ซูซานา ชาปุโตวา จุดเทียนรำลึกถึงนักข่าวผู้เสียชีวิตจากการตีแผ่คดีทุจริตเมื่อปี 2561 หลังได้รับการยืนยันอย่างไม่เป็นทางการว่าเธอเป็นผู้ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดี

ส่วนการออกเสียงรอบ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ 30 มี.ค. ไม่มีอะไรพลิกโผ เพราะแม้แต่เซฟโจวิช ซึ่งเป็นคู่แข่งของชาปุโตวา ก็ยังแถลงยอมรับกับผู้สื่อข่าวในประเทศว่า เขาจะส่งช่อดอกไม้ไปแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสโลวาเกียในเร็วๆ นี้ 

เดอะการ์เดียนระบุด้วยว่า คำขวัญในการต่อสู้ทางการเมืองของชาปุโตวา คือ "ยืนหยัดต่อสู้สิ่งชั่วร้าย" พร้อมย้ำว่า มนุษยธรรม ความสามัคคี และความจริง เป็นสิ่งจำเป็นต่อสังคมสโลวาเกีย โดยเธอตั้งเป้าว่า ขณะอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีจะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจและอัยการต้องยุ่งเกี่ยวหรือได้รับแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ทางการเมืองที่ฉ้อฉล และคาดหวังว่า การปฏิรูปจะช่วยลดการลอยนวลพ้นผิดของกลุ่มอาชญากรหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบได้

เว็บไซต์ซีบีเอสนิวส์รายงานเพิ่มเติมว่า ชาปุโตวาจะเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 5 ของสโลวาเกีย นับตั้งแต่ประเทศนี้แยกตัวออกจากเชกโกสโลวาเกียเมื่อปี 2536 เป็นต้นมา

ปัจจุบัน สโลวาเกียมีประชากรทั้งหมด 5.4 ล้านคน ส่วนผู้มีอำนาจบริหารจัดการประเทศ คือ นายกรัฐมนตรี ขณะที่ประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งพิธีการ แต่ก็มีอำนาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี รวมถึงแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีสิทธิวีโตกฎหมายให้เป็นโมฆะ เว้นแต่ว่ารัฐสภาจะลงมติเสียงข้างมากเพื่อโต้แย้งอำนาจ ปธน.

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ชาปุโตวาถูกโจมตีจากกลุ่มชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งมีแนวคิดอนุรักษนิยม และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เนื่องจากชาปุโตวาสนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมและเห็นด้วยเรื่องการรับรองสิทธิการแต่งงานของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การเปิดโปงข้อมูลการทุจริตของคนในรัฐบาล รวมถึงความเกี่ยวพันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองกับขบวนการมาเฟียต่างประเทศก็ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ และเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงการเมือง จึงต้องมีตัวแทนที่จะต่อสู้กับความทุจริตเหล่านี้ ถือเป็นเหตุผลใหญ่ที่ชาปุโตวาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสโลวาเกีย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: